กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

แนะนำยารักษาสิวอุดตัน ทั้งชนิดกินและทา

สิวอุดตันรักษาได้ ด้วยวิธีเลือกยารักษาสิวอุดตันที่เหมาะสม โดยมีทั้งชนิดทาและรับประทาน ระดับความแรงต่างกันให้เลือกใช้
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
แนะนำยารักษาสิวอุดตัน ทั้งชนิดกินและทา

สิวอุดตัน เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิวทั้งหมดบนใบหน้า ถึงแม้สิวอุดตันจะมองเห็นได้ไม่ชัด แต่เมื่อสัมผัสลงบนผิวหน้าหรือเปิดไฟส่องบริเวณใบหน้าให้ดี จะพบสิวอุดตันทั้งหัวปิดและหัวเปิด ก่อให้เกิดความรำคาญได้อย่างมาก ปัจจุบันมีเวชสำอางหรือครีมบำรุง ที่มีส่วนประกอบออกฤทธิ์ลดการเกิดสิวได้ แต่หากยังไม่ได้ผล วิธีหนึ่งที่จะรักษาสิวชนิดนี้คือใช้ยารักษาสิว ซึ่งมีทั้งแบบรับประทานและยารักษาสิวแบบทา ที่จะช่วยให้สิวอุดตันหลุดออกมาง่ายยิ่งขึ้่น ตามตัวอย่างดังนี้

ยารักษาสิวอุดตันแบบรับประทาน

ตัวอย่างยารักษาสิวอุดตันแบบรับประทาน พร้อมวิธีใช้และข้อควรระวัง ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษาสิว ลดรอยสิววันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 93%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ไอโซเตรทิโนอิน (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ ที่ช่วยรักษาสิวขนาดใหญ่และมักขึ้นที่เดิมซ้ำๆ โดยเข้าไปลดผลของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่กระตุ้นให้เกิดสิว ขนาดที่แนะนำให้รับประทานเริ่มต้นที่ 0.1-1.0 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน รวมตลอดจนจบการรักษาไม่ควรกินยารักษาสิวเกิน 120-150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารักษาสิวกลุ่มนี้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก
  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เป็นตัวยาฆ่าเชื้อ P. acne ที่เป็นต้นเหตุในการเกิดสิว ตัวยาที่ใช้ ได้แก่ กลุ่มเตตระไซคลิน (Tetracyclin) กลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) และกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Combination sulfonamide) โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณายารักษาสิวแบบนี้ให้เช่นกัน
  • ยาคุมกำเนิด (Oral contraceptive) ลดสิวอุดตันที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนที่ผิดปกติ หากยังไม่มั่นใจว่าเป็นสิวฮอร์โมน ยังไม่แนะนำให้รับประทาน เนื่องจากมีผลข้างเคียงอื่นๆ

ยารักษาสิวอุดตันแบบทา

ตัวอย่างยารักษาสิวอุดตันแบบทาและวิธีใช้เพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • เบนโซอิลเพอออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เป็นตัวยารักษาสิวที่ช่วยลดสิวอุดตันได้ดี แนะนำทาเริ่มต้นที่ 2.5 % เป็นประจำ ทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วล้างออก จะทำให้สิวอุดตันที่เป็นอยู่เดิมหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น และลดการเกิดสิวอุดตันใหม่ นอกจากนี้ยารักษาสิวแบบนี้ยังช่วยฆ่าเชื้อสิว P. acne ได้ดีอีกด้วย
  • อะซีเลอิกแอซิด (Azelaic acid) เป็นตัวยาที่ช่วยลดการอุดตันของผิวหนังได้ดีเช่นเดียวกัน แนะนำที่ความเข้มข้น 10-20 % ใช้ทาเป็นประจำเช้า-เย็น จะทำให้สิวอุดตันหลุดออกมาได้เอง และลดการเกิดสิวอุดตันใหม่ นอกจากนั้นยังช่วยลดอาการอักเสบและลดรอยสิว ตัวยามีความระคายเคืองน้อยกว่าเบนโซอิลเพอออกไซด์ และสามารถใช้ในคนท้องได้อย่างปลอดภัย
  • ซาลิซิลิคแอซิด (Salicylic acid) หรืออีกชื่อหนึ่งคือบีเอชเอ (BHA) เป็นตัวยาที่ช่วยลดสิวอุดตันอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีฤทธิ์ค่อนข้างอ่อนกว่าตัวยาอื่น
  • อนุพันธ์ของวิตามินเอ (Topical retinoid) เป็นตัวยาที่ใช้รักษาสิวมากว่า 30 ปี มีผลช่วยลดการทำงานของต่อมไขมัน ลดการเกิดสิวอุดตัน และยังช่วยละลายหัวสิวอุดตันได้ จึงถูกจัดให้เป็นตัวยาแรก (First line therapy) ในการรักษาสิว การนำตัวยาอื่นๆ ที่กล่าวไปข้างต้นมาใช้ร่วมกันกับยาชนิดนี้จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการรักษาสิวอุดตันเพิ่มมากขึ้น
  • พีเอชเอ (PHA) เป็นกรดอ่อนๆ ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวได้อย่างอ่อนโยนกว่ากลุ่ม AHA และ BHA มีส่วนช่วยลดสิวอุดตันได้ ผู้ใช้กรดชนิดนี้มีโอกาสระคายเคืองได้น้อยกว่าใช้กรดชนิดอื่นๆ

การรักษาสิวอุดตันนั้นสามารถรักษาประกอบกันได้ทั้งยารักษาสิวแบบรับประทานและยารักษาสิวแบบทาเฉพาะที่ ตัวยาแรกที่แนะนำให้ใช้คือกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอแบบทา เพราะช่วยลดสิวอุดตันเก่าที่เป็นอยู่แล้ว ป้องกันการเกิดสิวอุดตันใหม่ และช่วย ฆ่าเชื้อสิวได้ด้วย นอกจากนั้นยังแนะนำใช้ยาตัวอื่นได้แก่ Benzoyl peroxide และยาฆ่าเชื้อสิวเพื่อเสริมฤทธิ์การรักษาสิวให้ได้ดีขึ้น แต่สำหรับยารักษาสิวแบบรับประทาน จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงของสิวก่อนเริ่มยา เนื่องจาก มีผลข้างเคียงที่มากขึ้น และต้องเฝ้าระวังการแพ้ยาด้วย

หากต้องการรักษาสิวอุดตันเบื้องต้น สามารถหาซื้อยามาใช้ได้เองจากร้านขายยาทั่วไป แต่ควรศึกษาให้เข้าใจ ถึงวิธีการใช้ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วสิวอาจขึ้นมากกว่าเดิมก็เป็นได้


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Dr. Yoram Harth, MD, Comedones: what are they and how do I treat them? (https://www.mdacne.com/article/comedones-what-are-they-and-how-do-i-treat-them), 14 February 2019
Cynthia Cobb, APRN, What Is Comedonal Acne and How Is It Treated? (https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/comedonal-acne), 18 December 2017
Makoto Kawashima, Toshitaka Nagare, and Masaharu Doi Clinical efficacy and safety of benzoyl peroxide for acne vulgaris: Comparison between Japanese and Western patients. J Dermatol. 2017 Nov; 44(11): 1212–1218.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)