รู้จักพลาสเตอร์ แผ่นปิดแผล ผ้าพันแผลแบบต่างๆ

มาดูความแตกต่างของแผ่นปิดแผลและผ้าพันแผลแบบต่างๆ ที่เรามักเรียกรวมๆ ว่า พลาสเตอร์ เพื่อจะได้เลือกใช้งานให้เหมาะกับบาดแผลที่คุณเป็น
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
รู้จักพลาสเตอร์ แผ่นปิดแผล ผ้าพันแผลแบบต่างๆ

หลายคนมักรู้จัก พลาสเตอร์ยา ในฐานะผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับปิดแผลเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น

แต่ความเป็นจริงแล้ว พลาสเตอร์ยา เป็นชื่อทางการค้าของแถบปิดแผลที่เข้ามาจำหน่ายที่ประเทศไทยเจ้าแรก ความจริงแผ่นปิดแผล (Dressing) กับผ้าพันแผล (Bandage) มีหลากหลายชนิด จะเลือกใช้ชนิดไหนนั้นขึ้นอยู่กับชนิด ลักษณะของบาดแผล และการใช้งาน

แผ่นปิดแผล คืออะไร มีรูปแบบอย่างไรบ้าง?

แผ่นปิดแผล (Dressing) คือ วัสดุที่สัมผัสกับบาดแผลโดยตรง สามารถกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น และช่วยป้องกันเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล

วัสดุที่นำมาปิดแผลแต่ละชนิดจะมีความสำคัญต่อกระบวนการหายของบาดแผล

ปัจจุบันมีวัสดุที่สามารถนำมาใช้เป็นแผ่นปิดแผลได้หลากหลายชนิด มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เหมาะสำหรับแผลแต่ละแบบ ได้แก่

1. ผ้าก๊อซ (Gauze)

ผ้าก๊อซเป็นวัสดุปิดแผลที่นิยมใช้กันโดยส่วนใหญ่ เพราะราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย

ผ้าก๊อซมี 2 ประเภท คือ ผ้าก๊อซจากเส้นใยธรรมชาติ และผ้าก๊อซจากเส้นใยสังเคราะห์

นอกจากจะใช้สำหรับปิดแผลแล้ว สามารถนำผ้าก๊อซมาชุบน้ำเกลือปิดบริเวณบาดแผล ปล่อยให้แห้ง แล้วดึงออก เพื่อให้เนื้อเยื่อที่ตายหลุดออกมา เป็นวิธีหนึ่งในการเตรียมบาดแผลให้เหมาะสมสำหรับกระบวนการหายของแผล

แต่ผ้าก๊อซไม่สามารถดูดซับน้ำเหลืองจากบาดแผลปริมาณมากได้ ไม่มีคุณสมบัติในการกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับแผล และผ้าก๊อซที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติจะทิ้งเศษผ้าก๊อซไว้ที่แผล เมื่อดึงออกจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่แผลได้

ผ้าก๊อซเหมาะกับแผลลักษณะไหน?

  • ใช้สำหรับแผลที่มีปริมาณน้ำเหลืองที่หลั่งจากแผลเล็กน้อย-ปานกลาง

ตัวอยางผลิตภัณฑ์ Curity, Mepilex, Mepitel

2. ฟิล์ม (Semi-permeable film)

วัสดุปิดแผลที่มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มใสทำจากโพลียูรีเทน (Polyurethane) มีคุณสมบัติยอมให้ไอน้ำและแก๊สผ่านได้ สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรค

วัสดุปิดแผลที่ทำจากฟิล์มสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นให้แผล ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ให้แผลหาย

ฟิล์มมีลักษณะโปร่งใส แพทย์จึงมองเห็นบาดแผลเพื่อติดตามการรักษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุปิดแผลให้แผลได้รับการบาดเจ็บซ้ำๆ

แต่ฟิล์มจะไม่สามารถดูดซับน้ำเหลืองปริมาณมากจากแผลได้ ทำให้เนื้อเยื่อรอบแผลเกิดการเปื่อยยุ่ย และทำให้แผลหายช้า

การใช้แผ่นปิดแผลแบบฟิล์มไม่เหมาะกับแผลที่มีการติดเชื้อ เพราะฟิล์มจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

ฟิล์มเหมาะกับแผลลักษณะไหน?

  • แผลที่เกิดจากการฉีกขาดหรือถลอก
  • แผลที่มีปริมาณน้ำเหลืองเล็กน้อย
  • แผลบริเวณข้อต่อหรือบริเวณที่มีการเสียดสี (เพราะฟิล์มมีความยืดหยุ่น ไม่หลุดง่าย)

ตัวอยางผลิตภัณฑ์ Tegaderm, Opsite, Mefilm

3. ไฮโดรเจล (Hydrogels)

วัสดุปิดแผลนี้ประกอบด้วยโพลิเมอร์เชิงซ้อน เช่น แป้ง เซลลูโลส โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 80% ทำให้วัสดุปิดแผลชนิดนี้จะปล่อยโมเลกุลของน้ำไปที่แผล เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่แผลที่แห้ง

กระบวนการนี้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อและชั้นผิวหนังกำพร้า และกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายออกจากแผลเพิ่มขึ้น

วัสดุปิดแผลที่ทำจากไฮโดรเจลมีความสามารถในการดูดซับน้ำเหลืองได้น้อย จำเป็นต้องใช้วัสดุปิดแผลอีกชั้น(Secoundary dressing) เพื่อป้องกันน้ำเหลืองรั่วซึม

หากนำมาใช้กับแผลที่มีน้ำเหลืองปริมาณมาก จะทำให้ผิวหนังรอบๆ ที่สัมผัสกับไฮโดรเจลเกิดการเปื่อยยุ่ย ส่งผลให้แผลหายช้าได้

ไฮโดรเจลเหมาะกับแผลลักษณะไหน?

  • แผลเนื้อตาย
  • แผลแห้ง ขาดความชุ่มชื้น

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Aquaform, Aquasorb, 3M Hydrogel, Tegagel

4. อัลจิเนต (Alginates)

วัสดุปิดแผลนี้ประกอบด้วยเกลือของโซเดียมและเกลือของโพแทสเซียม ที่ประกอบกันเป็นเส้นใยเชิงซ้อนคล้ายโครงสร้างของพืชสาหร่าย

ส่วนประกอบดังกล่าวจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมจากน้ำเหลืองของแผล เกิดเป็นสารที่มีลักษณะเหมือนเจล เจลที่เกิดขึ้นสามารถดูดซับน้ำเหลืองได้ถึง 20 เท่าของน้ำหนัก และอัลจิเนตยังสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นให้แผล เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา

แต่วัสดุปิดแผลที่ทำจากอัลจิเนตจำเป็นต้องใช้วัสดุปิดแผลอีกชั้นร่วมด้วย และไม่เหมาะกับแผลที่แห้ง เพราะอัลจิเนตจะดูดซับน้ำเหลืองจากแผลจนทำให้แผลแห้งเกินไปจนวัสดุติดกับแผล ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บเมื่อเปลี่ยนวัสดุปิดแผล

อัลจิเนตเหมาะกับแผลลักษณะไหน?

  • แผลที่มีปริมาณน้ำเหลืองที่หลั่งจากแผลปานกลาง ควรตัดวัสดุปิดแผลให้พอดีกับแผล เพื่อป้องกันการเปื่อยยุ่ยที่บริเวณขอบแผล

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Algisite, Askina, SeaSorb, Sorbsan

5. ไฮโดรคอลลอยด์ (Hydrocolloids)

ไฮโดรคอลลอยด์มี 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นในที่ทำจากเจลาตินหรือแพกตินที่มีคุณสมบัติชอบน้ำ และชั้นนอกที่เป็นฟิล์ม ทำหน้าที่ป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก

เมื่อชั้นในดูดซับน้ำเหลือง จะขยายตัวเป็นเจล ให้ความชุ่มชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมแก่แผล เมื่อวัสดุปิดแผลดูดซึมน้ำเหลืองจากแผลไป จะทำให้บริเวณฐานของแผลมีความเป็นกรดมากขึ้น จึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้

ปัจจุบันได้มีการนำไฮโดรคอลลอยด์ไปพัฒนาจนเป็นไฮโดรไฟเบอร์ (Hydrofiber) เพื่อดูดซับปริมาณน้ำเหลืองได้มากขึ้น สามารถปิดแผลได้นานจนกว่าไฮโดรไฟเบอร์จะอิ่มตัว และมีการกระจายตัวของน้ำเหลืองน้อย ทำให้ลดการเกิดการเปื่อยยุ่ยที่บริเวณขอบแผล

ไฮโดรคอลลอยด์ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุปิดแผลอีกชั้นและสามารถปิดแผลได้นาน 2-4 วันโดยไม่ต้องเปลี่ยน แต่ข้อเสียของวัสดุชนิดนี้คือ อาจเกิดการสับสนกับภาวะแผลติดเชื้อได้ เพราะเจลที่ดูดซับน้ำเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น

ไฮโดรคอลลอยด์เหมาะกับแผลลักษณะไหน?

  • แผลที่มีปริมาณน้ำเหลืองที่หลั่งจากแผลปานกลาง-มาก
  • แผลที่มีการกดทับหรือเสียดสี

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Duoderm, DuoDERM, Aquacel, Versiva

6. โฟม (Foam)

แผ่นปิดแผลที่ใช้วัสดุโฟม ทำมาจากโพลียูรีเทน มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ปริมาณมาก ป้องกันการรั่วซึมจากบาดแผล และรักษาความชุ่มชื้นให้แก่แผล

โฟมมีความหนาและนุ่ม จึงช่วยลดแรงกดทับของแผลบริเวณก้นกบ ตาตุ่ม หรือส้นเท้า นอกจากนี้ยังสามารถใช้กับแผลโพรงลึกได้

แต่หากผู้ป่วยมีการขยับตัวมาก โฟมอาจเลื่อนหลุดออกมา อีกทั้งเนื่องจากโฟมมีลักษณะขุ่น ทำให้สังเกตลักษณะของแผลด้านในได้ยาก

โฟมเหมาะกับแผลลักษณะไหน?

  • แผลที่มีปริมาณน้ำเหลืองหลั่งจากแผลปานกลาง-มาก
  • แผลที่กำลังสร้างเนื้อเยื่อใหม่หรือแผลที่มีเนื้อตายเปื่อยยุ่ย
  • ไม่ควรใช้กับแผลที่แห้ง ขาดความชุ่มชื้น

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Adhesive, Allevyn, Lyofoam, Tielle

7. แผ่นปิดแผลที่มีสารต้านจุลชีพ (Antibacterial dressings)

ปัจจุบันวัสดุปิดแผลหลายชนิดมีการพัฒนาเพื่อสามารถใช้กับแผลที่มีการติดเชื้อได้ โดยเพิ่มสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อเข้าไปในวัสดุปิดแผล ได้แก่

  • น้ำผึ้ง มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและสนับสนุนให้ร่างกายเกิดกระบวนการที่ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

    น้ำตาลที่มีมากในน้ำผึ้งยังช่วยยับยั้งการเจริญแบคทีเรีย และเมื่อน้ำผึ้งถูกละลายด้วยน้ำเหลืองจากแผล จะทำให้เกิดสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งจะไปทำลายผนังเซลล์ โปรตีน และกรดนิวคลีอิกของเชื้อแบคทีเรีย

    นอกจากนั้นน้ำผึ้งยังช่วยลดการอักเสบของแผล ด้วยการดึงน้ำจากเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บออก ทำให้ลดการบวมของบาดแผล และกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองที่ดีขึ้น

    น้ำผึ้งที่นำมาใช้ในกระบวนการรักษาต้องปราศจากเชื้อโรค โดยนำไปผ่านรังสีแกมมาก่อน

  • ซิลเวอร์ ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และยีสต์ อะตอมของซิลเวอร์จะจับกับผนังเซลล์และเยื่อหุ้มเซลล์ เพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของเชื้อ จนทำลายเชื้อดังกล่าวในที่สุด

    โดยซิลเวอร์สามารถกำจัดเชื้อที่บริเวณบาดแผล และเชื้อที่อยู่ในวัสดุปิดแผลที่มากับน้ำเหลืองได้อีกด้วย ซิลเวอร์จะช่วยลดปริมาณเชื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

แผ่นปิดแผลที่มีสารต้านจุลชีพเหมาะกับแผลลักษณะไหน?

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แผ่นปิดแผลจากน้ำผึ้ง Activon, DUMEX, MANUKAMED

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แผ่นปิดแผลจากซิลเวอร์ Acticoat 7, Aquacel Ag, Actiosorb Silver 220

ผ้าพันแผลคืออะไร มีรูปแบบอย่างไรบ้าง?

ผ้าพันแผล (Bandage) คือ วัสดุที่พันหรือกดให้วัสดุปิดแผลยึดติดกับแผลไม่ให้มีการเคลื่อนที่ หรือผ้าพันแผลบางชนิดสามารถใช้ในการห้ามเลือดได้ ซึ่งผ้าพันแผลสามารถแบ่งได้อย่างง่ายๆ ดังนี้

1. ผ้าพันแผลชนิดม้วน (Roller Bandage)

เป็นผ้าพันแผลชนิดที่นิยมใช้มากที่สุด ทำมาจากยางยืดหรือผ้าฝ้าย ลักษณะเป็นแถบผ้ายาว มีน้ำหนักเบา ใช้พันเพื่อกดแผ่นปิดแผลให้ยึดติดอยู่กับแผล ไม่ให้เคลื่อนที่

เนื่องจากผ้าพันแผลชนิดนี้มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะสำหรับการพยุงข้อต่อต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ ลดอาการปวดบวม นอกจากนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถใช้คู่กับแผ่นปิดแผลเพื่อห้ามเลือดได้อีกด้วย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Kendall, 3M Health Care, Dynarex

2. ผ้าพันแผลชนิดสามเหลี่ยม (Triangular Bandage)

ทำจากผ้าฝ้ายหรือกระดาษที่สามารถใช้แล้วทิ้งได้ ผ้าพันแผลชนิดนี้ใช้สำหรับคล้องคอเพื่อยึดแขนหรือขาที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ให้มีการเคลื่อนที่ รวมถึงช่วยพยุงกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บได้ด้วย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Dynarex, CURAPLEX

3. ผ้าพันแผลชนิดทรงกระบอก (Tubular Bandage)

ทำจากวัสดุที่ทอแบบไร้รอยต่อ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่มีความยืดหยุ่น และมีขนาดที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ใช้

ผ้าพันแผลชนิดนี้ใช้พันรอบบริเวณข้อต่อที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนที่ โดยสวมผ้าพันแผลอย่างช้าๆ จนไปถึงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ควรใช้กับแผลที่มีการติดเชื้อ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Molnlycke, Tubigrip, Curad

พลาสเตอร์ แผ่นปิดแผลและผ้าพันแผลเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในดูแลบาดแผล ช่วยสนับสนุนให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูบาดแผลให้หายเร็วขึ้น

ดังนั้นการเลือกใช้ชนิดของแผ่นปิดแผลและผ้าพันแผลให้เหมาะสมกับลักษณะของบาดแผลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วและแผลไม่เกิดการติดเชื้อ


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Field FK, Kerstein MD. Overview of wound healing in a moist environment. Am J Surq. 1994; 167: 2s-6s.
Dhivya S, Padma VV, Santhini E. Wound dressings - a review. Biomedicine (Taipei). 2015 Dec;5(4):22. doi: 10.7603/s40681-015-0022-9. Epub 2015 Nov 28. PMID: 26615539; PMCID: PMC4662938.
Dabiri G, Damstetter E, Phillips T. Choosing a Wound Dressing Based on Common Wound Characteristics. Adv Wound Care (New Rochelle) 2016; 5: 32-41.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)