กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ภญ.สุภาดา ฟองอาภา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ภญ.สุภาดา ฟองอาภา

ความแตกต่างของยาหยอดตาและป้ายตา

รวมข้อแตกต่างรวมถึงวิธีใช้อย่างครบถ้วนของยาหยอดตาและยาป้ายตา ข้อควรรู้ ข้อควรระวังของยาแต่ละชนิด
เผยแพร่ครั้งแรก 21 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 27 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
ความแตกต่างของยาหยอดตาและป้ายตา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาเกี่ยวกับตาที่ใช้ภายนอก ได้แก่ ยาลดการระคายเคืองและทำให้หลอดเลือดฝอยในตาหดตัว กลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน หรือ ยาแก้แพ้ กลุ่มมีฤทธิ์หดหลอดเลือด และน้ำตาเทียม
  • ยาล้างตาจะช่วยชะล้างตาให้สะอาด หรือหายจากการระคายเคืองเนื่องจากฝุ่นละอองปลิวเข้าตา แต่ไม่ได้ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคแล้ว ไม่ควรใช้ยาล้างตาเป็นประจำเพราะจะทำให้ตาแห้ง 
  • หลักการใช้ยาเกี่ยวกับตาที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ ระวังอย่าให้ปลายหลอดหยดสัมผัสดวงตา ปิดฝาจุกหลอดยาป้ายตาทันทีที่ใช้แล้ว หากใช้ยาเกี่ยวกับตาไม่หมดภายใน 1 เดือน ควรทิ้งไป
  • เมื่อเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็นขึ้นมาจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยาเกี่ยวกับตามาใช้เองโดยเด็ดขาด นอกจากหากมีโอกาสได้ตรวจสุขภาพตาบ้างก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา 

หลายคนสงสัยว่า ยาหยอดตาและยาป้ายตามีความแตกต่างกันอย่างไร สรรพคุณต่างกันหรือไม่ บทความนี้จะเปรียบเทียบความแตกต่างเบื้องต้นให้ได้รู้กัน 

ความแตกต่างเบื้องต้นของยาหยอดตาและยาป้ายตา

ความแตกต่างในตารางนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับให้ความรู้และความเข้าใจกับผู้ใช้เท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องเลือกชนิดตัวยาจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ยาประเภทหยอดตา

ยาประเภทป้ายตา

1.เมื่อหยอดแล้ว จะไม่รบกวนการมองเห็น

1.เมื่อใช้แล้วอาจรบกวนการมองเห็น

2.ใช้งานสะดวก

2.ใช้งานไม่สะดวก อาจมีความเหนียวเหนอะหนะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3.ตัวยาติดตาไม่ดีเท่าชนิดป้ายตา ควรใช้ในตอนกลางวัน

3.ตัวยาติดผิวตาได้ดีกว่ายาหยอดตา แนะนำให้ใช้ชนิดป้ายตาก่อนนอน หรือกรณีมีอาการมาก หรืออาจใช้ชนิดหยอดในเวลากลางวันปละใช้ชนิดป้ายก่อนนอน

4.กรณีที่การใช้ยาหยอดตา 2 ชนิดร่วมกัน ให้หยอดแต่ละชนิดห่างกันประมาณ 5-10 นาที

4.กรณีที่แพทย์แนะนำให้ใช้ทั้งชนิดหยอดและชนิดป้ายร่วมกัน ให้ใช้ชนิดหยอดก่อน หลังจากนั้น 5 นาที จึงค่อยใช้ชนิดป้าย

ประเภทของยาเกี่ยวกับตาที่ใช้ภายนอก

ยาเกี่ยวกับตาที่ใช้ภายนอกแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ยาลดการระคายเคืองและทำให้หลอดเลือดฝอยในตาหดตัว
  • กลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน หรือเรียกอีกอย่างว่า "ยาแก้แพ้"
  • กลุ่มบรรเทาอาการคัดแน่นจมูก
  • น้ำตาเทียม

ยาเกี่ยวกับตาที่ใช้ภายนอกนี้ มักมีส่วนประกอบของตัวยา 2 กลุ่ม คือ

  1. ยาแก้แพ้ที่นิยมนำมาผสมในยาเกี่ยวกับตา คือ แอนทาโซลีน กลไกการออกฤทธิ์ของยาได้แก่ การยับยั้งกระบวนการที่ทำให้เกิดการแพ้ มีผลทำให้อาการต่างๆ ที่เกิดจากการแพ้ เช่น คัน เคืองตา น้ำตาไหล มีอาการลดลงและหายไป

  2. ตัวยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดผสมในยาเกี่ยวกับตา ได้แก่ นาฟาโซลีน เฟนนิลเอฟรีน เตตร้าไฮโดรโซลีน กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ได้แก่ ทำให้หลอดเลือดฝอยในตาหดตัวลง ตาจึงหายแดง 

ยาเกี่ยวกับตาประเภทนี้บางชนิดจะมีส่วนประกอบของยาทั้ง 2 กลุ่มอยู่ร่วมกัน แต่บางชนิดก็จะมีเพียงกลุ่มเดียว เช่น อาจเป็นยาแก้แพ้แอนทาโซลีนตัวเดียว หรือมีเพียงยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดเพียงตัวเดียว

ข้อบ่งใช้ของยากลุ่มนี้ 

ใช้ในผู้ป่วยที่ตาแดงจากการระคายเคือง หรืออาการที่เกิดจากการแพ้ฝุ่น หรือสารต่างๆ ต้อลมและต้อเนื้อในระยะอักเสบ 

ตัวอย่างชื่อการค้าของยาเกี่ยวกับตากลุ่มนี้ ได้แก่

  • ฮีสทาออฟ (Hista-oph)
  • นาฟคอนเอ (Naphcon-A)
  • ออคคิวโลซาน (Occulosan)
  • ซิงค์ฟริน (Zincfrin)
  • ไวโซโทน (Visotone)
  • ไวซีน (Visine)
  • ออฟซิล เอ (Opsil A)

ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มนี้ 

ไม่ควรใช้นานเพราะอาจบังอาการของโรคร้ายแรงอื่นๆ และอาจทำให้มีอาการบวมของตา นอกจากนั้นควรใช้เมื่อทราบสาเหตุว่า ทำไมจึงมีอาการตาแดง

น้ำตาเทียมคืออะไร?

น้ำตาเทียมเป็นยาเกี่ยวกับตาที่นำมาใช้ในผู้ป่วยที่ตาแห้ง เคืองตาบ่อยๆ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยทอง หรือมีโรคตาต่างๆ ที่เกิดจากการมีน้ำตาน้อย ยาพวกนี้เป็นของเหลวระเหยช้า อยู่ในตานาน ทำหน้าที่หล่อลื่นลูกตาให้ชุ่มชื้น

น้ำตาเทียมเป็นยาหยอดตาที่ผลิตให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ

  • สารช่วยเพิ่มความหนืด เพื่อฉาบอยู่ที่กระจกตาให้นานขึ้น เพิ่มความสบายและความชุ่มชื้นให้กระจกตา บางบริษัทใส่สารนี้มากเกินไปจนน้ำตาเทียมมีความหนืดสูง เพื่อให้น้ำตาเทียมฉาบอยู่ที่กระจกตานานขึ้น แต่ก็ทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดระยะแรกเมื่อหยอดตาเสร็จใหม่ๆ
    ขณะที่บางบริษัทใส่สารนี้น้อยไปทำให้ระยะเวลาที่น้ำตาเทียมจะฉาบอยู่ที่กระจกตาสั้น จึงต้องหยอดบ่อยไม่สะดวกต่อการใช้

  • สารกันเสีย  จุดประสงค์ที่ใส่สารกันเสียในน้ำตาเทียมคือ เพื่อช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพได้นานและป้องกันการเติบโตของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะที่หยอด

  • สารช่วยปรับความเป็นกรด-ด่าง ช่วยปรับสมดุลของส่วนประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรด-ด่าง ให้พอเหมาะ ไม่แสบตาเวลาหยอด ช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพได้ดี

  • ส่วนประกอบอื่นๆ  เพื่อให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น Glycine, Magnesium chloride, Sodium chloride, Sodium borate, Calcium chloride 

ประเภทของน้ำตาเทียม

1.น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย

น้ำตาเทียมชนิดนี้จะมีขนาดบรรจุขวดละ 3-15 มิลลิลิตร เมื่อเปิดใช้แล้วสามารถอยู่ได้นาน 1 เดือน ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น

  • เทียร์แนชเชอร์เรล ทู (Tears Naturale ll®)
  • ไอซอฟโทเทียร์ (Isoptotear®)
  • โปรทาเจน (Protagent®)
  • ลิควิฟิล์มเทียร์ (Liquifilm Tears®)
  • ออฟซิลเทียร์ (Opsil Tears®)

2.น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย

น้ำตาเทียมชนิดนี้จะมี 2 แบบ คือ ระบุบนกล่องว่า “Preservative free” หรือไม่มีสารกันเสีย ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ 0.3-0.9 มิลลิลิตร ใน 1 กล่อง จะมี 20-60 หลอด แต่ละหลอดเมื่อเปิดใช้แล้วจะต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง

ตัวอย่างชื่อการของน้ำตาเทียมประเภทนี้ คือ

  • เทียร์แนชเชอร์เรล ฟรี (Tears Naturale free®)
  • ไบออนเทียร์ (Bion Tears®)
  • เซลลูเฟรช (Cellufresh®)

อีกแบบคือ ระบบนกล่องว่า “Disappearing preservative” จะผสมสารกันเสียในขวดยา แต่เมื่อเปิดขวดและน้ำยาถูกออกซิเจนในอากาศ ส่วนของสารกันเสียจะสลายไป จัดเป็นน้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสียเช่นกัน 

ตัวอย่างน้ำตาเทียมชนิดนี้ คือ แนทเทียร์ (Natear®)

ประโยชน์ของการใช้น้ำตาเทียมคือ เพื่อช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตาขาว ไม่มีอันตราย หรืออาการข้างเคียงต่อดวงตาแต่อย่างใด สามารถใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ 

สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ใช้บางรายอาจแพ้สารกันเสียในน้ำตาเทียมได้ กรณีนี้ให้ใช้ชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย

ยาที่ลดจำนวนเชื้อโรค

1.ยาเกี่ยวกับตาที่มีส่วนประกอบเป็นยาปฏิชีวนะ

ยาเกี่ยวกับตาประเภทนี้ใช้สำหรับโรคตาที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือมีแนวโน้มติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย กุ้งยิง ท่อน้ำตาอุดตัน การมีฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตาหลังจากเอาออกแล้ว กระจกตาเป็นแผล 

ยาปฏิชีวนะที่ใช้หยอด หรือป้ายตามีหลายชนิด บางชนิดประกอบด้วยยาปฏิชีวนะชนิดเดียว บางชนิดประกอบด้วยยาปฏิชีวนะตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป 

ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่นิยมนำมาผสมในยาตาทั่วๆไป ได้แก่

  • คลอแรมเฟนิคอล เป็นยาปฏิชีวนะที่สามารถซึมผ่านเข้าไปในตาได้ดี มีขอบเขตการฆ่าเชื้อกว้าง ครอบคลุมทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ นิยมใช้เป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกเพื่อป้องกัน หรือรักษาตาติดเชื่อแบคทีเรีย ยามีทั้งรูปแบบยาหยอดตาและขี้ผึ้งสำหรับป้ายตา ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น คลอร์ออฟ (Chloroph®) วานาเฟ่น ออฟทัลมิก (Vanafan ophthalmic®)
  • เจนตามัยชิน เป็นยาปฏิชีวนะสำคัญที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่รุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ข้อเสียคือ ดูดซึมผ่านผิวหนัง หรือผ่านเยื่อบุตาได้ไม่ดี ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น การ่ามัยชิน (Garamycin®) มีทั้งรูปแบบยาหยอดตาและขี้ผึ้งสำหรับป้ายตา โทเบร็ก (Tobrex®) มีทั้งรูปแบบยาหยอดตา (0.3% ในยาหยอดตา 5 มล) และขี้ผึ้งสำหรับป้ายตา (0.3% ใน3.5 มล) โพลีออฟ (Polyoph®)
  • โทบรามัยชิน มีฤทธิ์ (Broad spectrum) ฆ่าเชื้อได้วงกว้าง มีประสิทธิภาพทำลายแบคทีเรีย เช่นเดียวกับเจนตามัยชิน 
  • โพลิมิกซิน บี โพลิมิกซิน บี สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียประเภทแกรมลบได้กว้างขวาง ครอบคลุมใกล้เคียงกับเจนตามัยชิน นิยมนำมาผสมกับนีโอมัยชิน เพื่อให้สามารถทำลายแบคทีเรียได้ครอบคลุมมากขึ้น 
  • กลุ่มเตตร้าชัยคลิน ยากลุ่มเตตร้าชัยคลินที่นำมาทำเป็นยาตามีหลายตัว ได้แก่ เตตร้าชัยคลิน คลอร์เตตร้าชัยคลิน ออกซีเตตร้า-ชัยคลิน ยาทั้งกลุ่มออกฤทธิ์ทำลายแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ รวมทั้งแบคทีเรียชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต ตัวยาทำในรูปยาขี้ผึ้งป้ายตา 1% ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น ออริโอมัยซิน (Aureomycin®)
  • กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ยาปฏิชีวนะในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนที่นำมาทำเป็นยาตา ได้แก่ ลีโวฟล็อกซาซิน ชื่อการค้า ได้แก่ เครวิท (Cravit®) โลมีฟล็อกซาซิน ชื่อการค้า ได้แก่ โอคาซิน (Okacin®) ไซโปรฟล็อกซาซิน ชื่อการค้า ได้แก่ ออฟทัลโปร (Optal-pro®) โมซอฟล็อกซาซิน ชื่อการค้า ได้แก่ ไวกาม็อก (Vigamox®) กาทิฟล็อกซาซิน ชื่อการค้า ได้แก่ ไซม่าร์ (Zymar®)

ยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้สามารถทำลายแบคทีเรียครอบคลุมทั้งแกรมบวกและแกรมลบที่ต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิตเท่านั้น (แอโรป์แบคทีเรีย) ยามีประสิทธิภาพดีมากต่อเยื่อบุตาขาวอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย แผลที่กระจกตา หนังตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ และลูกตาอักเสบ

นอกจากยาปฏิชีวนะข้างต้นแล้วยังมียาปฏิชีวนะอื่นๆ ที่นิยมนำมาใช้ในยาหยอดและป้ายตา ได้แก่ ซัลฟาเซตาไมด์ กรดฟิวซิดิก และนีโอมัยซิน

2.ยาเกี่ยวกับตาที่มีส่วนประกอบเป็นยาต้านไวรัส

ยาเกี่ยวกับตากลุ่มนี้ใช้รักษาแผลที่กระจกตาซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม แต่ก็มีรายงานว่า ได้ผลบ้างในรายที่ติดเชื้องูสวัด 

โดยเฉพาะยาที่ประกอบด้วยตัวยาอะซัยโคลเวียร์ ยามีประสิทธิภาพดีมากต่อเชื้อไวรัสเริม ยาทำในรูปขี้ผึ้งป้ายตา 3% มีความเป็นพิษต่ำและละลายน้ำได้ดี จึงลดการสะสมในร่างกายและไม่เหนอะหนะ 

ตัวอย่างชื่อการค้า ได้แก่

  • เฮอร์พิดู (Herpedu®)
  • เฮอร์เพล็ก (Herplex®)

ไอดอกซูริดีนใช้รักษาเริมที่ตา ประสิทธิภาพจะดีถ้าใช้ภายใน 10 วัน ที่มีการติดเชื้อไม่ค่อยนิยมใช้เท่าอะซัยโคล-เวียร์

3.ยาเกี่ยวกับตาที่มีส่วนประกอบเป็นยาต้านเชื้อรา

นาทามัยซินสามารถทำลายเชื้อราแคนดิด้าและเชื้อราอื่นได้หลายชนิดตลอดจนเชื้อยีสต์ ยาสามารถดูดซึมผ่านกระจกตาได้ดี 

ตัวอย่างชื่อการค้า ได้แก่ นาทาซิน (Natacyn®)

ยาตาที่มีส่วนประกอบเป็นสเตียรอยด์

ยากลุ่มนี้ใช้ในกรณีที่เยื่อบุตาขาวอักเสบที่มีสาเหตุมาจากการแพ้และไม่ได้มีการติดเชื้อโรคใดๆ สเตียรอยด์ที่นิยมนำมาใช้ในยาเกี่ยวกับตา ได้แก่

  • เด็กซ่าเมธาโซน
  • ฟลูออโรเมโธโลน
  • เพรดนิโซโลน
  • เบต้าเมธาโซน

ตัวอย่าง ชื่อการค้าของยาตากลุ่มนี้ ได้แก่

  • อิฟิโมลีน (Efemoline®)
  • ฟลูคอน (Flucon®)
  • เอฟเอมแอล (FML®)
  • โครตอน (Crouton®)
  • เด็กซิล (Dexsil®)
  • เพร็ดฟอร์ท (Pred-forte®)
  • ฟราเร็ก (Flarex®)
  • อินออฟ (Inf-oph®)
  • เพร็ดนิซิล (Prednisil®)

ข้อควรระวังในการใช้ยาตากลุ่มสเตียรอยด์

ยาเกี่ยวกับตากลุ่มนี้จะต้องใช้กับความผิดปกติของตาที่ไม่มีการติดเชื้อเท่านั้นและไม่ควรใช้นานติดต่อกันเกิน 7 วัน เนื่องจากจะทำให้ภูมิต้านทานของตาน้อยลง ทำให้กระจกตาติดเชื้อโรคได้ง่าย ถ้ามีการติดเชื้ออยู่แล้วอาการจะรุนแรงมากขึ้น

ยาตาที่มีส่วนประกอบระหว่างสเตียรอยด์กับยาปฏิชีวนะ

ถึงแม้ว่า ยาเกี่ยวกับตากลุ่มนี้จะมีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะก็ตาม แต่ข้อบ่งใช้ของยากลุ่มนี้คือ ให้ใช้หยอดตาในกรณีที่มีสาเหตุมาจากการแพ้เหมือนกับยาเกี่ยวกับตาที่มีส่วนประกอบเป็นพวกสเตียรอยด์ และไม่ควรใช้ในรายที่มีการติดเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา 

นอกจากนั้นยังอาจใช้ในกรณีที่มีอาการแพ้และมีแนวโน้มติดเชื้อร่วมด้วย หรือมีอาการอักเสบรุนแรง (แต่ไม่ใช่อักเสบติดเชื้อ)

ตัวอย่างชื่อทางการค้าของยากลุ่มนี้ ได้แก่

  • เด็กออฟ (Dex-oph®)
  • เด็กซาซิล (Dexasil®)
  • เด็กซามัยซิน (Dexamycin®)
  • โซฟราเด็ก (Sofradex®)
  • สเปอร์ซาเด็กโซลีน ((Spersadexoline®)

ยาเกี่ยวกับตาที่ทำให้รูม่านตาหดตัวและทำให้ความดันในลูกตาลดลง

ยากลุ่มนี้มีผลลดการสร้างของเหลวในลูกตาทำให้ความดันในลูกตาลดลง จึงนำมาใช้สำหรับโรคต้อหิน 

ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น

  • ทิโมลอล (Timolol®)
  • ไนโอลอล (Nyolol®)
  • คาร์ทิโอลอล (Carteolol®)
  • พิโลคาร์พีน (Piloocarpine®)

ยาขยายม่านตา

ยามีผลทำให้ม่านตาขยาย ยากลุ่มนี้ใช้ในการตรวจประสาทตา หรือเมื่อจะผ่าตัดตา หรือตรวจตา ตัวอย่างยา ได้แก่ อะโทรปีน ไอซอปโท (Isopto®)

ยาเกี่ยวกับตาที่เป็นยาชาเฉพาะที่

ใช้ลดความเจ็บปวดขณะผ่าตัดตา หรือตรวจตา เช่น เตตร้าเคน (Tetracaine)

ยาล้างตา

ยาล้างตาประกอบด้วยสารละลายบอริก หรือน้ำเกลือความเข้มข้นร้อยละ 0.9 ยาล้างตาจะช่วยชะล้างตาให้สะอาด หรือหายจากการระคายเคืองเนื่องจากฝุ่นละอองปลิวเข้าตา แต่ไม่ได้ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคแล้ว 

ไม่ควรใช้ยาล้างตาเป็นประจำเพราะจะทำให้ตาแห้ง ควรใช้ในกรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาแล้วน้ำตาไม่สามารถชะล้างออกไปได้

ยาลดการอักเสบชนิดไม่ใช่การอักเสบติดเชื้อโรค

ยาตากลุ่มนี้ ประกอบด้วยตัวยา Nsaids ใช้ลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่การอักเสบจากการติดเชื้อโรค

ตัวอย่างการค้า เช่น โวลต้า (Volta oph®) ซึ่งประกอบด้วยตัวยาไดโคลฟีแนค 

การใช้ยาล้างตาที่ถูกต้องคือ รินน้ำยาลงถ้วยที่สะอาดและมีขนาดพอเหมาะกับลูกตา ในปริมาณที่เพียงพอให้ตาจุ่มได้ แล้วกลอกลูกตาไปมา ควรเปลี่ยนน้ำยาเมื่อล้างตาแต่ละข้าง 

หลังจากใช้แล้วต้องทำความสะอาดถ้วยล้างตาให้สะอาด เพราะอาจมีการติดเชื้อได้ถ้าต้องใช้ครั้งต่อไป

ควรซักถามผู้ที่มาซื้อยาหยอดตาและป้ายตาทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า ใช้ถูกประสงค์และข้อบ่งใช้หรือไม่ ตลอดจนแนะนำหลักการใช้ยาตาที่ถูกต้อง

หลักการใช้ยาเกี่ยวกับตา

การใช้ยาเกี่ยวกับตาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการเลือกชนิดของยาให้ถูกกับโรคที่เป็นแล้ว ควรให้คำแนะนำหลักการใช้ยาตาให้ถูกต้องด้วย ดังนี้

1.ใช้ให้ถูกวิธี

ยาหยอดตาและยาป้ายตามีวิธีใช้ต่างกัน ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง หรือใช้ไม่เป็น ตัวยาอาจไม่เข้าตา หรือไม่สัมผัสกับส่วนที่ต้องการยา ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นวิธีการใช้ยาตาจึงมีความสำคัญเช่นกัน 

  • ล้างมือให้สะอาดทั้งสองข้าง
  • ให้ผู้ป่วยนอน หรือนั่งแหงนหน้า หรือเอนศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย
  • ลืมตาทั้งสองข้าง มองขึ้นข้างบน ใช้นิ้วมือดึงเปลือกตาล่าง เพื่อทำให้มีลักษณะเป็นกระพุ้ง
  • ดูดยาหยอดตาจากขวด หยดลงบริเวณหัวตาที่เป็นกระพุ้งตามจำนวนหยดที่ต้องการ แล้วหลับตา 1-2 นาที พร้อมกับใช้นิ้วมือกดบริเวณหัวตาและสองข้างของจมูกเบาๆ ยาจะได้ไม่ไหลลงคอ
  • สิ่งที่ควรระวังคือ อย่าให้ปลายหลอดหยดตาถูกตา เพราะอาจมีเชื้อโรค หรือสิ่งสกปรกติดกลับเข้าไปในขวดและเมื่อใช้แล้วต้องรีบปิดขวดทันที
  • กรณีที่มีน้ำยาซึมออกมาจากเบ้าตา อาจใช้สำลี หรือทิชชูซับน้ำยาเฉพาะบริเวณนอกเบ้าตา ไม่ควรซับน้ำยาที่เบ้าตาโดยตรง เพราะจะทำให้น้ำยาซึมออกมาหมด

วิธีใช้ยาป้ายตาที่ถูกต้องมีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดทั้งสองข้าง
  • เปิดฝาหลอดที่บรรจุยา กรณีที่เปิดใช้ครั้งแรก ควรบีบส่วนแรกของยาทิ้งเล็กน้อย
  • ดึงเปลือกตาล่างแล้วบีบยาลงในเปลือกตาล่างตรงบริเวณหัวตาออกไปทางหางตายาวประมาณ ½ เซนติเมตร ระวังอย่าให้ปลายหลอดสัมผัสกับตา
  • หลับตาแล้วใช้มือคลึงบริเวณหนังตาเบาๆ พร้อมกรอกลูกตาไปมาในขณะที่ยังหลับตาอยู่ เพื่อให้ตัวยากระจายและซึมเข้าสู่บริเวณที่ต้องการได้ดีขึ้น
  • ปิดฝาจุกหลอดยาป้ายตาทันทีที่ใช้แล้ว

2.ใช้ให้ถูกขนาด

ยาตาแต่ละชนิดมีขนาดการใช้แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับชนิดและความแรงของยา ดังนั้นจึงต้องใช้ยาตามขนาดที่แพทย์กำหนด ยาบางชนิดถ้าใช้มากเกินไปอาจมีอันตรายได้ ถ้าใช้น้อยเกินไปก็จะไม่ได้ผลในการรักษา

3.ใช้ให้ตรงเวลา

ยาตาก็เช่นเดียวกับยาที่ใช้รับประทานคือ มีช่วงเวลาของการออกฤทธิ์และหมดฤทธิ์ซึ่งแต่ละชนิดสั้น-ยาวไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรใช้ยาให้ตรงเวลาที่แพทย์สั่ง หรือที่กำหนดอยู่บนฉลากข้างขวดและควรใช้ยาให้ครบจำนวนครั้งในแต่ละวันเช่นกัน

4.ใช้ยาให้ถูกลำดับและถูกข้าง

บางกรณีอาจมีการใช้ยาตามากกว่า 1 ชนิด และรูปแบบต่างกัน เช่น ใช้ทั้งชนิดหยอดตาและป้ายตา ในกรณีเช่นนี้จะต้องใช้ชนิดหยอดก่อน รอสักครู่แล้วจึงใช้ชนิดป้ายตาตาม หรือถ้าเป็นรูปแบบเดียวกันก็ไม่ควรใช้พร้อมกัน ต้องทิ้งระยะเวลาให้ห่างกันสัก 5-10 นาที 

ทั้งนี้เพราะถ้าใช้พร้อมกันยาอาจไปทำลายฤทธิ์กันเอง ทำให้ไม่มีผลทางการรักษา

นอกจากนี้การใช้ยาตาจะต้องใช้ให้ถูกต้องว่า จะต้องใช้กับตาซ้าย หรือตาขวา หรือหยอดทั้งสองข้าง ยาบางอย่างถ้าหยอดตาข้างที่ไม่ได้เป็นอะไรอาจมีอันตราย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องหยดข้างที่ไม่ได้เป็นอะไร

5.ใช้ยาให้ถูกกับผู้ป่วยที่เป็นโรค

ยาตาเป็นยารักษาเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย ไม่ควรใช้ยาตาร่วมกันแม้ว่าจะเป็นโรคที่เหมือนกัน หรือมีอาการคล้ายกันก็ตาม เพราะโรคตาบางอย่างติดต่อกันง่ายมากโดยผ่านทางปลายหลอดหยดยา หรือปลายหลอดยาป้ายตา

6.การเก็บยาตาที่เปิดใช้แล้ว

การเปิดขวด หรือหลอดของยาตาไม่ว่าจะเป็นชนิดขวด หรือหลอดในแต่ละครั้ง อาจมีเชื้อจุลชีพจากอากาศเข้าไปทุกครั้ง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรเลือกยาที่มีขนาดบรรจุน้อยๆ เมื่อหายจากอาการที่เป็นก็ควรทิ้งไปเลย แต่ถ้าต้องการเก็บไว้ใช้ต่อก็ควรปิดฝาให้แน่น และเก็บไว้ในตู้เย็น

ควรทราบว่า ทั้งยาหยอดและยาป้ายตาเมื่อเปิดใช้แล้ว หากใช้ไม่หมดภายใน 1 เดือน ควรทิ้งไป 

นอกจากนี้ยาบางอย่างควรเก็บไว้ในที่เย็น หรือห้ามถูกแสง เช่น ยาตาที่มีส่วนผสมของคลอแรมเฟนิคอล นอกจากนี้ยังควรเก็บยาเกี่ยวกับตาให้ไกลมือเด็กเช่นเดียวกับยาชนิดอื่นๆ 

ตาเป็นอวัยวะเดียวในร่างกายที่ทำให้เราสามารถมองเห็นและรับรู้ลักษณะของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็นขึ้นมาจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยาเกี่ยวกับตามาใช้เองโดยเด็ดขาด

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, Eye Drops for Dry Eyes: Find the Right Type of Eye Drops for You (https://www.webmd.com/eye-health/right-eye-drops-dry-eyes#1), 3 Feburary 2020.
Medical News Today, Eye drops for dry eyes: Types, how to choose, and other remedies (https://www.medicalnewstoday.com/articles/315843), 3 Feburary 2020.
American Academy of Ophthalmology, Lubricating Eye Drops (https://www.aao.org/eye-health/treatments/lubricating-eye-drops), 5 Feburary 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป