ในการดำรงชีวิตประจำวัน เรามักใช้ชีวิตตามตารางเวลาและมีกิจวัตรที่เป็นแบบแผน ความเบื่อหน่ายจึงเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย แต่หากเกิดขึ้นเป็นประจำ ความเบื่อหน่ายจะเป็นสิ่งลดทอนแรงใจและพลังในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ความสุขในชีวิตลดลง ขาดประสิทธิผลในการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นการจัดการกับความเบื่อหน่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตที่เป็นปกติสุข
กระบวนการจัดการกับความเบื่อหน่าย
1. สำรวจตนเอง
โดยสำรวจหาสาเหตุของความเบื่อหน่ายว่าเกิดจากปัจจัยใด หากเป็นปัจจัยภายใน ควรสำรวจความต้องการ ทางเลือก และการตัดสินใจ ว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่เป็นสิ่งที่ตนเองต้องการหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมอีกหรือไม่ และสถานการณ์ในชีวิตจะเป็นอย่างไร
2. แสวงหาคุณค่าและใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย
“คุณค่า” ทำให้งานและชีวิตมีความหมาย ช่วยกำจัดความเบื่อหน่ายได้ เราสามารถมองเห็นคุณค่าได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น การมีเพื่อนที่อารมณ์ดี ตัวเองมีความสามารถเฉพาะตัว งานที่ทำส่งประโยชน์ต่อส่วนรวม ฯลฯ เมื่อคนเราพบคุณค่าในชีวิตก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย เป็นสิ่งกระตุ้นให้ระลึกถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทอีกด้วย
3. ปรับเปลี่ยนมุมมองหรือความคิดใหม่
พยายามมองหาสิ่งดีๆทั้งจากตัวเองและสิ่งรอบข้าง มองโลกในแง่ดีเสมอๆ รู้จักปรับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างสร้างสรรค์
4. พัฒนาตนเอง เพิ่มการเรียนรู้ในทุกๆ วัน
การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้สามารถทำได้หลายด้าน เช่น ฝึกการใช้ภาษาที่ สองหรือภาษาที่สาม ฝึกฝนทักษะต่างๆ รวมถึงการทำงานอดิเรกที่โปรดปราน
5. ให้เวลากับสิ่งที่ตนรัก ใช้ชีวิตให้สมดุล
ความรักเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลเกิดพลัง การให้และรับความรักสามารถสร้างอารมณ์ในแง่ดี กำจัดความเบื่อหน่ายออกไปได้ เราจึงควรให้เวลากับสิ่งที่ตนรัก เช่น ครอบครัว สัตว์เลี้ยง ธรรมชาติ งานอดิเรก ในทุกๆ วันอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดี มีความหมาย มีเพื่อนที่ดี สมารถทำกิจกรรมที่มีความสุข สนุกร่วมกัน ชีวิตจะมีความสมดุลขึ้นทำให้ไม่ยึดติดอยู่กับความเบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจ
6. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมช่วยลดความเบื่อหน่ายได้ โดยการตกแต่งสภาพแวดล้อมตามความชอบ เช่น จัดห้องใหม่ เปลี่ยนรูปภาพหรือของตกแต่งใหม่ๆ ฯลฯ หรือการย้ายสภาพแวดล้อม เช่น การเดินทางไปพักผ่อนต่างจังหวัด ท่องเที่ยวในที่ที่ตนพึงพอใจ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยจุดพลังชีวิตให้เรากลับมาต่อสู้กับกิจวัตรประจำวันได้ใหม่อีกครั้ง
7. การเลือกเส้นทางชีวิตใหม่
หากสำรวจตนเองแล้วพบว่าสิ่งที่ประสบอยู่ไม่ใช่เส้นทางชีวิตที่ตนต้องการ และมีความเชื่อมั่นว่าสามารถสร้างหรือเดินสู่เส้นทางใหม่ตามที่ตนต้องการได้ เราสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ที่ตรงกับความต้องการ ตรงกับศักยภาพมากกว่าเส้นทางเดิมได้ เพราะการใช้ชีวิตที่เต็มศักยภาพก่อให้เกิดความพึงพอใจและคุณค่าในชีวิตได้มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันเราต้องพร้อมยอมรับกับภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงนั้น