กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

หน้ากากอนามัย ป้องกันโคโรนาไวรัสได้จริงหรือ?

การสวมหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังกลายเป็นสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงระดับโลกได้หรือไม่
เผยแพร่ครั้งแรก 3 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 มี.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
หน้ากากอนามัย ป้องกันโคโรนาไวรัสได้จริงหรือ?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือปัจจุบันเรียกว่า โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อราวปลายธันวาคม 2019 
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโรค COVID-19 เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (PHEIC)
  • การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อได้ แต่หากใช้ผิดวิธีก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้เช่นกัน 
  • หน้ากากอนามัยทุกชิ้นได้รับการออกแบบให้ใช้เพียงคร้งเดียวแล้วทิ้ง ดังนั้นการนำกลับมาใช้ใหม่ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งก่อนใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโรค หากมีอาการเสี่ยงควรกักตัวแยกและรีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข  (ดูแพ็กเกจตรวจโควิด-19ได้ที่นี่)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019 หรือ 2019-nCoV) ที่ก่อโรคปอดอักเสบ หรือไวรัสอู่ฮั่น 

การแพร่ระบาดนี้มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง เพราะเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็พบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC)

ในประเทศไทยเองก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงนี้ จึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อ

การสวมหน้ากากอนามัย ช่วยป้องกันโคโรนาไวรัสได้จริงหรือไม่ ควรสวมอย่างไรจึงป้องกันได้ดีที่สุด HD มีคำตอบ

อ่านเพิ่มเติม: รู้จักไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

การสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันโคโรนาไวรัสได้จริงหรือ?

การสวมหน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งวิธีสำคัญที่แพทย์แนะนำว่าสามารถลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อได้ 

สำหรับชนิดของหน้ากากอนามัยที่แพทย์แนะนำให้ใช้ป้องกันโคโรนาไวรัสคือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical face mask) หรือหน้ากากอนามัยธรรมดา ที่มีจำหน่ายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยา

เหตุที่แนะนำเนื่องจากหน้ากากอนามัยชนิดนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะ ตัวหน้ากากผลิตจากผ้า หรือพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อร่างกาย 

ภายในหน้ากากมีชั้นกรองอย่างน้อย 3 ชั้น ดังนี้

  • ชั้นในสุด (ส่วนใหญ่มีสีขาว) มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม ออกแบบให้ช่วยดูดซับของเหลว สารคัดหลั่งที่มาจากผู้ใช้งาน ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจายสู่ผู้อื่น
  • ชั้นกลาง เป็นตัวกรองเชื้อโรค
  • ชั้นนอกสุด (ส่วนใหญ่มีสีเขียว หรือฟ้า) ออกแบบให้สามารถป้องกันของเหลว หรือสารคัดหลั่งจากภายนอก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่เกิดจากการไอ หรือจามของผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้การสวมใส่หน้ากากอนามัยยังช่วยลดโอกาสที่มือของเราจะสัมผัสกับจมูก หรือปากได้อีกด้วย

ปัจจัยใดที่ทำให้หน้ากากอนามัยป้องกันโคโรนาไวรัสไม่ได้?

แม้ว่า ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมา จะสรุปได้ว่า หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% เป็นเพียงการลดโอกาสเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • บางครั้งหน้ากากอนามัยอาจไม่พอดีกับโครงหน้า หรือบางคนอาจใส่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดช่องว่างที่ละอองจากสารคัดหลั่งจะหลุดลอดเข้าไปได้
  • คนส่วนใหญ่ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีช่วงที่ถอดหน้ากากออก เช่น การรับประทานอาหาร ซึ่งหากก่อนหน้านั้นมือของคุณไปสัมผัสกับเชื้อไวรัส แล้วมาสัมผัส หรือเกาบริเวณปาก จมูก หรือตา ก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้
  • การนำหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำ (จริงๆ แล้วหน้ากากอนามัยได้รับการออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียว) ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคติดอยู่บนหน้ากากอนามัย หากมือไปสัมผัสแล้วนำมาใช้ซ้ำ เชื้อโรคก็เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปได้ว่า ด้วยคุณสมบัติของหน้ากากอนามัยนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่ถูกต้องทำให้หน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัส หรือแม้แต่เชื้อชนิดอื่นๆ ได้เต็มประสิทธิภาพ

หน้ากากอนามัยธรรมดา Vs หน้ากากอนามัย N95 ชนิดไหนป้องกันได้ดีกว่ากัน?

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า หากต้องการป้องกันโคโรนาไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรสวมหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันเชื้อโรค เชื้อไวรัส รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วย

แต่จริงๆ แล้ว กรมอนามัยและกรมควบคุมโรคแนะนำว่า การเลือกใช้หน้ากากอนามัย ควรเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการป้องกัน ดังนี้

  • หากต้องการป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัส การสวมหน้ากากอนามัยธรรมดาอย่างถูกวิธี ก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ตามที่อธิบายไปข้างต้น
  • หากต้องการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ต้องใช้หน้ากากอนามัย N95 เพราะหากสวมหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาจะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้เพียงบางส่วน หรือราว 30% เท่านั้น

ข้อควรรู้ที่สำคัญคือ หน้ากากอนามัย N95 ผ่านการทอด้วยเส้นใยที่หนาแน่นมาก เพื่อให้สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งป้องกันเชื้อโรคและเชื้อไวรัสต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หน้ากากอนามัย N95 จึงเหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเชื้อโรคมาก  หรือต้องสัมผัสกับผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อบ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน้ากากอนามัย N 95 จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง แต่หากต้องสวมใส่เป็นเวลานาน จะรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก ทำให้บางคนต้องใช้มือสัมผัสเพื่อขยับ หรือถอดหน้ากากอนามัย N95 บ่อยๆ 

การกระทำเช่นนี้เองจะการทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรคต่ำลง (บางครั้งอาจต่ำกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดาเสียด้วยซ้ำ)

ดังนั้นสำหรับบุคคลทั่วไป จึงแนะนำว่าให้สวมใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาอย่างถูกวิธีก็เพียงพอแล้ว

ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างไรจึงถูกวิธี?

กระทรวงสาธารณะสุขได้มีการแนะนำการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี มีรายละเอียดดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนสวมใส่
  2. จับที่บริเวณสายคล้องหูของหน้ากากอนามัยทั้งสองข้าง หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิดเยื่อกระดาษ ให้นำด้านที่มีสีเขียว สีฟ้า หรือด้านที่มีลวด หันออกด้านนอก
  3. ก่อนใส่ต้องให้ลวดอยู่ด้านบนตรงบริเวณจมูก จากนั้นนำสายคล้องเข้ากับหู
  4. กดขอบลวดให้แนบกับดั้งจมูกเรื่อยมาจนถึงใต้ขอบตา ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า
  5. สวมหน้ากากให้คลุมทั้งจมูกและปาก โดยดึงส่วนล่างของหน้ากากลงมาให้อยู่บริเวณใต้คาง
  6. ระหว่างการสนทนากับผู้อื่น ไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก 
  7. ต้องเปลี่ยนหน้ากากเมื่อเปรอะเปื้อน หรือเปียกชื้น วันหนึ่งๆ อาจใช้หน้ากากอนามัย 2-3 ชิ้น
  8. การถอดหน้ากากอนามัยหลังใช้งาน ต้องจับบริเวณสายคล้องหูแล้วปลดออก
  9. หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษใช้แล้วต้องทิ้ง ถ้าเป็นแบบผ้า สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  10. การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรใส่ถุงพลาสติกก่อนทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด เพราะถือเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องกำจัดอย่างมิดชิด
  11. ล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัสกับหน้ากากอนามัย

แนวทางป้องกันโคโรนาไวรัสขั้นพื้นฐาน

นอกจากการสวมหน้ากากอนามัยแล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุว่า วิธีป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโคโรนาไวรัสมี 3 ข้อหลักๆ ดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อย่างสม่ำเสมอ
  2. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก ปาก หากจำเป็นควรล้างมือให้สะอาดก่อน
  3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วย

ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางการป้องกันโคโรนาไวรัสไว้ 6 ประการดังนี้

  1. ล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อยๆ
  2. เมื่อไอ หรือจามควรปิดปาก จมูกด้วยข้อศอก หรือกระดาษทิชชู่ และควรทิ้งทิชชู่ทันที จากนั้นล้างมือให้สะอาด
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีไข้ หรือมีอาการไอ
  4. หากคุณมีไข้ ไอ หรือหายใจติดขัด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจอาการและแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ หากคุณเดินทางไปยังตลาด หรือสถานที่ที่จำหน่ายสัตว์ที่ยังมีชีวิต ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีประวัติเกี่ยวกับการระบาดของโคโรน่าไวรัส
  5. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ หรือบริเวณที่สัตว์อยู่อาศัย
  6. หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ และควรปรุงเนื้อสัตว์ดิบ หรือนม อย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนระหว่างอาหารดิบกับอาหารสุก ตามแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยของอาหารที่ดี

การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการป้องกันโคโรนาไวรัสเท่านั้น อย่างไรก็ควรปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคอื่นๆ ด้วยเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

อ่านเพิ่มเติม: แพทย์ไทยอาจพบสูตรยาต้านเชื้อโคโรนา

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กรุงเทพธุรกิจ, หน้ากากอนามัย ใส่แบบไหนให้ถูกวิธี (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863927), 2 กุมภาพันธ์ 2563.
BBC Thai, โคโรนา : 5 คำถามเรื่องหน้ากากอนามัย บีบีซีมีคำตอบ (https://www.bbc.com/thai/thailand-51311296), 30 มกราคม 2563.
WebMD, Can Wearing A Mask Protect You From Coronavirus? (https://blogs.webmd.com/webmd-doctors/20200127/can-wearing-mask-protect-you-from-coronavirus), 27 January 2020

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)