เราทุกคนต่างประสบความขัดแย้งเป็นระยะๆ มันเป็นเรื่องปกติของชีวิตอยู่แล้ว การเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันที่ดีจะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการเข้าสังคม ต่างกับการรังแกที่ไม่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิต มันไม่ควรถือเป็น"พิธีกรรม"ทางสังคม และไม่ได้ช่วยให้เด็กเข้มแข็งขึ้นแต่อย่างใด การรังแกเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด และจะทำให้ส่งผลต่างๆที่ สำคัญตามมา การรังแกล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น อันที่จริงแล้ว การรังแกและความขัดแย้งมีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่บ้าง สิ่งสำคัญจากการแยกความแตกต่างนี้คือรู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร
ลักษณะของความขัดแย้งกับคนรอบข้าง
การชี้ว่านั่นเป็นความขัดแย้งหรือไม่ทำได้หลายวิธี อย่างแรกคือเมื่อมีความขัดแย้ง บุคคลทั้งสองที่มีส่วนร่วมจะมีอำนาจเท่ากันในความสัมพันธ์นี้ และแม้ว่าทั้งสองฝ่ายอาจรู้สึกสะเทือนอารมณ์หรือโกรธ แต่ไม่มีฝ่ายใดพยายามเข้าควบคุมหรือต้องการได้รับความสนใจ พวกเขาจะเคารพซึ่งกันและกันถึงแม้จะมีความเห็นที่ต่างกันก็ตาม
นอกจากนี้ เวลาประสบกับความขัดแย้ง คนเรามักจะรู้สึกสำนึกผิดและแสดงความรับผิดชอบของการกระทำตนเอง พวกเราต้องการแก้ไขปัญหาเพื่อจะกลับมาดีกันอีกครั้ง พวกเราจะพยายามหาข้อตกลงกันเพื่อรักษามิตรภาพให้คงเดิม อย่างสุดท้ายคือความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง และมักไม่รุนแรงหรือมีการทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายเช่นกัน ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีความสุขเมื่อเกิดความขัดแย้ง แต่ก็ไม่ทำให้คนเรารู้สึกแย่กับตัวเองได้
ลักษณะของการรังแกผู้อื่น
วิธีการที่ดีที่สุดที่จะชี้ว่านั่นเป็นการรังแกหรือไม่คือต้องรู้ก่อนว่ามันคือการกระทำโดยเจตนา โดยมีเป้าหมายคือการทำร้าย การดูถูกเหยียดหยาม หรือการข่มขู่ผู้อื่น และยังมีความไม่สมดุลของอำนาจระหว่างสองฝ่ายในสถานการณ์ดังกล่าว นักเลงย่อมแสดงความเหนือกว่าอีกฝ่ายด้วยการคุกคาม การก่อกวน การข่มขู่ หรือการฉีกหน้าพวกเขา
การรังแกเป็นการกระทำซ้ำๆและมีจุดมุ่งหมาย กล่าวคือเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าพวกเขาจะใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสถานการณ์ แต่นักเลงเหล่านี้จะเล็งเป้าหมายไปที่คนเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำร้ายพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นอกจากนี้การรังแกยังถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงทางกายและอารมณ์อีกด้วย
โดยปกตินักเลงจะแทบไม่รู้สึกสำนึกผิดในขณะที่ผู้ที่โดนรังแกมักจะอารมณ์เสียอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาเหล่านี้อาจมีความพึงพอใจกับการได้ทำร้ายผู้คนและไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขอะไรก็ตาม พวกเขาไม่สนใจจะมีความสัมพันธ์อันใดกับผู้ที่โดนรังแก อย่างไรก็ตามการกระทำที่สร้างความเจ็บปวดทุกอย่างไม่ใช่การรังแก บางครั้งมันก็เป็นเพียงแค่พฤติกรรมที่โหดร้ายเท่านั้น ดังนั้นคุณต้องแน่ใจว่าตนเองรับรู้ว่าการรังแกประกอบขึ้นมาจากอะไร
ความแตกต่างระหว่างการกล่าวถึงความขัดแย้งและการรังแก
ความขัดแย้งเป็นส่วนสำคัญของการเจริญเติบโตต่างจากการรังแก ความขัดแย้งสอนให้เด็กรู้จักรับรู้จักให้ มันทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะหาข้อตกลงและแก้ไขปัญหา แต่การรังแกทำได้ก็แต่ทำร้ายตัวเด็ก เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เด็กควรเรียนรู้วิธีรับมือกับความขัดแย้งนั้น ทักษะเหล่านี้จะส่งเสริมการฟังและการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน แต่การรับมือกับความขัดแย้งไม่เหมาะสมที่จะใช้ในกรณีที่มีการรังแก ในความเป็นจริงแล้วมันอาจเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับผู้ที่โดนรังแก
ในขณะที่การรังแกจะแตกต่างออกไป มันเป็นเรื่องของการที่นักเลงคนหนึ่งเลือกที่จะตั้งใจทำร้ายผู้อื่น ไม่มีอะไรที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ มากไปกว่านั้นคนเหล่านี้มักไม่เจรจากับผู้อื่น พวกเขาต้องการอำนาจและโทษผู้อื่นสำหรับการกระทำของตัวเอง แม้ผู้ใหญ่จะสามารถบังคับให้พวกเขาขอโทษได้ แต่บ่อยครั้งพวกเขาตอบโต้เมื่อไม่มีใครคอยจับตา
ดังนั้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างความขัดแย้งและการรังแกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ พึงระลึกไว้ว่านักเลงเป็นผู้รับผิดชอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เขาต้องรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย การบังคับผู้โดนรังแกให้มีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือการไกล่เกลี่ยไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย เราควรมีกระบวนการแทรกแทรงเพื่อรักษาความปลอดภัยของนักเรียนจากการโดนรังแกแทน
ในขณะเดียวกันนักเลงเหล่านี้ก็ควรถูกดัดนิสัย พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ผลของการกระทำของตัวเอง พวกเขายังต้องได้รับการสั่งสอนว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งไม่ดีและจะไม่ถูกมองข้าม ในขณะเดียวกันผู้โดนรังแกก็ต้องเข้าใจว่าตนไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดการรังแกนี้และไม่ควรโทษพวกเขาสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ความร่วมมือกับทั้งสองฝ่ายเพื่อช่วยพวกเขาเอาชนะผลกระทบในแง่ลบจากการรังแกโดยมีเป้าหมายคือการสร้างความมั่นใจของพวกเขาให้กลับคืนมา