เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จนมาถึงเดือนที่ 5 นี้ ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 8-10 นิ้ว การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์จะแรงพอให้คุณแม่รู้สึกได้ ลำตัวของทารกเริ่มมีขนอ่อนปกคลุม เริ่มมีเส้นผมและคิ้ว มีไขปกคลุมตามตัว พัฒนาการของสมองดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการหลับตื่น และตอบสนองต่อเสียงภายนอก
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ในเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คุณแม่สามารถรู้สึกได้ดังนี้
- ทารกในครรภ์เริ่มดิ้นจนคุณแม่รู้สึกได้
- มีมูกในช่องท้องเพิ่มขึ้น
- อาการท้องผูก หรืออาจเป็นริดสีดวงทวาร
- ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และมีลมในท้อง
- ปวดศีรษะบ้าง บางครั้งอาจมีอาการเป็นลม เวียนศีรษะง่าย
- แน่นคัดจมูก เลือดกำเดาออก และหูอื้อ
- หิวบ่อย
- อาจเป็นตะคริวมากขึ้น
- มีอาการบวมที่ตาตุ่มและเท้า บางรายหน้าและมือก็บวม
- มีเลือดขอดที่ขา
- ชีพจรเต้นเร็วขึ้น
- เริ่มมีอาการปวดหลัง จากการอุ้มท้อง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
- ความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลง
- สีผิวที่หน้าท้องและใบหน้าเข้มขึ้น
- อารมณ์แปรปรวนลดลงจากเดือนก่อนๆ แต่ยังอ่อนไหวบ้าง
- มีอาการหลงๆลืมๆ คุณแม่อาจใช้วิธีการจดสิ่งที่สำคัญลงในกระดาษโน้ตเล็กๆเพื่อป้องกันการหลงลืมได้
สิ่งที่แพทย์ผู้ดูแลครรภ์จะให้คุณทำในช่วงเดือนนี้ได้แก่
- ชั่งน้ำหนักตัวและวัดความดันเลือด
- ตรวจภายใน (กรณียังไม่ได้ตรวจ)
- ตรวจน้ำตาลและสารไข่ขาวในปัสสาวะ
- ฟังเสียงเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ และอาจมีการอัลตราซาวน์ทารกในครรภ์
- ตรวจขนาดและรูปร่างของมดลูก โดยการตรวจหน้าท้อง
- ความสูงของระดับยอดของมดลูก
- อาการบวมที่มือและเท้า และหลอดเลือดที่ขา
- ตรวจโรคตับอักเสบ
- อาการผิดปกติต่างๆ (ถ้ามี)
สิ่งที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องดูแลเป็นพิเศษในช่วงเดือนนี้คือ
- ดื่มน้ำมากๆและอยู่ในอากาศที่มีความชื้น ไม่แห้งจนเกินไป จะสามารถบรรเทาอาการแน่นคัดจมูก เลือดกำเดาออก และหูอื้อได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีกากใย จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก และลดโอกาสในการเกิดริดสีดวงทวารในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้
- อาจมีอาการเวียนศีรษะบ่อยๆ เนื่องจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนอาจไปกดทับหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณกลางลำตัว ดังนั้นเวลาลุกนั่งหรือเปลี่ยนท่าต่างๆ ก็จะทำให้การไหลเวียนของเลือดเปลี่ยนไป ทำให้ความดันลดลงอย่างกระทันหัน ทำให้เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงสมองได้ทันจึงเกิดอาการเวียนศีรษะได้ คุณแม่สามารถป้องกันอาการดังกล่าวได้โดยเมื่อต้องเปลี่ยนท่าหรืออิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง นอน เดิน ควรทำอย่างช้าๆ จะช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการไหลเวียนของเลือดได้ทัน นอกจากนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้คือกินโปรตีนทุกมื้อ กินให้บ่อยขึ้น หรือกินอาหารว่างระหว่างมื้อ เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
- ตรวจโรคตับอักเสบชนิดบี หากพบว่าติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน
- หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง และออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง จากการอุ้มท้อง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
- การยกของหนัก หรือการอุ้มลูกคนโต หากต้องอุ้มลูก หรือยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม อาจเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหลังอย่างมาก หากลูกคนโตอ้อนขอให้อุ้มควรพูดกับลูกให้เข้าใจว่าตอนนี้ลูกโตแล้วจะต้องเดินเองได้แล้ว ดีกว่าการไปบอกว่าตอนนี้แม่มีน้องอยู่ในท้อง จึงอุ้มลูกไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกคนโตเกิดอาการอิจฉาน้องได้
- ในระยะนี้จะเริ่มมีอาการเท้าบวม ควรบริหารและออกกำลังกายบริเวณเท้าบ้าง และอย่าใส่รองเท้าที่คับมากเกินไป อาจใช้หมอนรองบริเวณขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย และอย่าใส่รองเท้าส้นสูง จะช่วยลดอาการปวดเท้าได้
- เนื่องจากระยะนี้ทารกจะมีการเจริญเติบโตของร่างกายและกระดูก ดังนั้นคุณแม่ควรรับประทานธาตุเหล็ก ไอโอดีน และแคลเซียมอย่างเพียงพอ