พญ. นันทิดา สาลักษณ แพทย์เฉพาะทางสาขาตจวิทยา
เขียนโดย
พญ. นันทิดา สาลักษณ แพทย์เฉพาะทางสาขาตจวิทยา

ฝีฝักบัว (Carbuncles)

เผยแพร่ครั้งแรก 30 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที

ฝีฝักบัว คือกลุ่มของรูขุมขนที่เกิดการอักเสบติดเชื้อหลายๆ รูขุมขนมารวมกัน แรกเริ่มจะมีลักษณะเป็นตุ่มบวม แดง เจ็บ และกลายเป็นหนองที่ประมาณ 3-7 วัน เมื่อมารวมตัวกันจะมีการเชื่อมต่อกันใต้ผิวหนังจนเป็นฝีขนาดใหญ่ และเห็นเป็นกลุ่มเดียว โดยทั่วไปมีขนาดประมาณ 3-10 เซนติเมตร และเห็นยอดเป็นตุ่มหลายๆ ตุ่ม สีขาวหรือสีเหลืองแตกออกเป็นหนอง จึงเรียกว่า “ฝีฝักบัว”

หากเวลาผ่านไปและไม่ได้รับการรักษา ฝีฝักบัวอาจแตกออกและมีหนองสีขาวครีมหรือสีชมพูไหลออกมา มีการอักเสบไปยังเนื้อเยื่อเกี่ยวพันโดยรอบและชั้นไขมันใต้ผิวหนัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ฝีฝักบัวมักเกิดตามบริเวณของร่างกายที่มีขน เช่น หลัง หลังต้นคอ ไหล่ สะโพก ก้น ต้นขา หน้า รักแร้ ฝีฝักบัวจะมีขนาดใหญ่กว่า ลึกกว่า และรุนแรงกว่าฝีทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการไข้ในผู้ป่วยได้ด้วย รวมทั้งอาจเกิดการบวมของผิวหนังข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้น เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ การอักเสบอาจทำให้เกิดแผลเป็น หรือในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงกับทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดฝีฝักบัว

โดยส่วนใหญ่ฝีฝักบัวเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีถิ่นที่อยู่ตามปกติอยู่บนผิวหนังของคนเรา บริเวณช่องคอ หรือรูจมูก ซึ่งสามารถทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้โดยการผ่านเข้าไปในผิวหนังผ่านทางรูขุมขน หรือการขูด การแทง ผ่านชั้นผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาจไม่พบจุดทางเข้าของเชื้อที่ชัดเจน

การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดเป็นหนอง ซึ่งประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาว แบคทีเรีย และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว 

ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฝีฝักบัว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดี ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง โรคตับ โรคไต หัวใจวาย ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์นานๆ หรือผู้มีโรคทางผิวหนังเรื้อรังที่หน้าที่การปกป้องของผิวหนังเสียไป ผู้ป่วยที่มีโรคหรือการรักษาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ โดยทั่วไปฝีฝักบัวมักเกิดในคนวัยกลางคนหรือสูงอายุ

นอกจากนี้ฝีฝักบัวยังอาจเกิดในคนที่แข็งแรงดี แต่อยู่ร่วมกันและมีการใช้สิ่งของร่วมกัน หรือเกิดในผู้ที่ผิวมีการระคายเคืองหรือเสียดสีจากการใส่ชุดที่รัดแน่น การโกนหนวด หรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย โดยเฉพาะตามบริเวณของร่างกายที่มีเหงื่อออกมาก

ควรบีบฝีฝักบัวหรือไม่?

ไม่ควรทำการเจาะหรือบีบฝีฝักบัวด้วยตนเอง เนื่องจากเพิ่มโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและแผลเป็น โดยจะทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายออกไปได้ ซึ่งนอกจากฝีฝักบัวจะสามารถกระจายไปยังบริเวณอื่นของผู้ป่วยเองแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน

การดูแลผิวบริเวณฝีฝักบัวให้สะอาดและเลี่ยงการสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญ จนกว่าจะได้รับการระบายหนองออกไปจนหาย ผู้ป่วยไม่ควรรักษาฝีฝักบัวด้วยตนเอง แต่ควรพบแพทย์เพื่อการได้รับยาและการระบายหนองด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา ทำให้แผลหายเร็ว และลดโอกาสการเกิดแผลเป็น

วิธีการรักษาฝีฝักบัวที่ถูกต้อง

ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แพทย์มักทำการระบายหนองออก และอาจนำหนองไปเพาะเชื้อแบคทีเรียเพื่อดูการตอบสนองของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ โดยส่วนใหญ่ฝีฝักบัวมักดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์หลังรักษา

วิธีการดูแลฝีฝักบัว อาจใช้การประคบอุ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการระบายของฝีหนองภายในและการสมานแผล อาจใช้วิธีค่อยๆ จุ่มแช่บริเวณที่เป็นฝีฝักบัวในน้ำอุ่น หรือประคบด้วยผ้าชื้นอุ่นสะอาดประมาณครั้งละ 10-20 นาที หลายๆ ครั้งต่อวัน โดยหลังการใช้ผ้าแต่ละครั้งให้ทำความสะอาดผ้าด้วยน้ำร้อน และตากหรือทำให้แห้งที่อุณหภูมิสูง ปิดบริเวณที่เป็นฝีฝักบัวด้วยผ้าพันแผลที่ปราศจากเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจายออกไป ล้างมือให้สะอาดหลังมีการสัมผัสฝีฝักบัว ซักเสื้อผ้า เตียง หรือผ้าเช็ดตัวที่สัมผัสฝีฝักบัว และไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น หากมีอาการปวดเนื่องจากการอักเสบ สามารถใช้ยาลดปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Debra Sullivan, PhD, MSN, RN, CNE, COI , Carbuncle (https://www.healthline.com/health/carbuncle), June 28, 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้