กระวาน เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย นอกจากใบกระวานที่พบได้บ่อยในอาหารรสชาติจัดจ้านแล้ว ผลและเมล็ดของต้นกระวานก็ยังมีกลิ่นหอมและรสชาติเผ็ดร้อน จึงนิยมนำมาทำเป็นอาหารหลายเมนู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum testaceum Ridl.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อพ้อง Amomum krervanh Pierre
ชื่ออังกฤษ Camphor seed, Clustered cardamom, Siam cardamom
ชื่อท้องถิ่น กระวานขาว กระวานดำ ปล้าก้อ กระวานโพธิสัตว์
หมายเหตุ กระวานที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับกระวานเทศ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elettaria cardamomum (L.) Maton แต่จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นกัน
กระวาน (Amomum testaceum Ridl.) แบ่งย่อยลงไปได้อีก 3 ชนิดได้แก่ กระวานขาว กระวานแดง กระวานดำ (ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน) มีข้อแตกต่างกันดังนี้ คือ โคนใบของกระวานแดงและกระวานดำ มีสีแดงสด ส่วนโคนใบของกระวานขาวมีสีเขียว ผลของกระวานขาวจะมีสีเหลืองแซมสีขาว ผลกระวานแดงมีสีขาวแกมแดง ผลกระวานดำมีสีน้ำตาลแกมดำ ส่วนสรรพคุณทางยา จะนิยมใช้กระวานแดงและกระวานดำมากกว่ากระวานขาว แต่กระวานดำมีฤทธิ์ทางยามากที่สุด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระวาน
กระวานเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ส่วนที่อยู่เหนือดินสูงได้ถึง 3 เมตร ก้านใบเป็นกาบยาว ใบเรียงสลับกัน ใบเดี่ยวรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกจากเหง้าเป็นช่อรูปกระบอง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลกลมติดเป็นพวงเปลือกเกลี้ยงเป็นพู มีสีนวล เมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาลแก่จำนวนมาก ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอม
สรรพคุณของกระวาน
ตามตำราแพทย์ต่างๆ กล่าวถึงสรรพคุณของส่วนต่างๆ ของกระวานไว้ ดังนี้
- ประโยชน์ทางยา ตามสรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า ผลและใบมีฤทธิ์ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยนำมาเข้าตำรับยาขับลม ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น เทียนดำ พริกไทยดำ เมล็ดผักชีล้อม เมล็ดผักชีลา
- ผลของกระวานมีฤทธิ์ขับเสมหะ โดยนำมาเข้าตำรับยาขับเสมหะกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น ชะเอมไทย มะแว้งต้น มะแว้งเครือ เป็นต้น ส่วนใหญ่รับประทานในรูปแบบยาต้ม โดยนำสมุนไพรตำรับนี้ ต้มในน้ำเดือด ต้มจนน้ำงวดเหลือครึ่งหนึ่งจากน้ำทั้งหมด แล้วจิบหลังจากมีอาการไอหรือระคายคอ
- ดอกกระวานมีสรรพคุณแก้ตาเจ็บ แก้ตาแฉะ แก้ตามัว โดยนำดอกสด มาต้มในน้ำร้อนจนเดือดแล้วยกลงจากเตา ตั้งทิ้งไว้รอให้น้ำต้มเย็นแล้วนำมาหยอดตา
- แพทย์พื้นบ้านใช้แอลกอฮอล์สกัดเมล็ดกระวาน 0.5-1 กรัม แล้วผสมกับยาธาตุชนิดอื่นๆ เช่น อบเชยเทศ อบเชยไทย ใช้เป็นยาแก้โรคธาตุพิการหรืออุจจาระธาตุพิการ
- หนังสือแพทย์ตำบลของพระยาแพทย์พงศา กล่าวว่า หัวและหน่อของกระวานกินขับพยาธิในเนื้อให้ออกตามผิวหนังได้ โดยนำหัวและหน่อสดมาตำให้แหลกแล้วพอกตามผิวหนัง
- หนังสือเภสัชตำรับ ได้กล่าวว่า ใช้เมล็ดสุกหรือกึ่งสุกของลูกกระวานจำนวน 10-30 เมล็ด นำมาบดเป็นผง นำมาผสมกับยาระบายสำหรับขับผายลมได้ โดยอาจเติมทิงเจอร์สำหรับผสมในยาปรุงเพื่อให้มีกลิ่นหอม
- ตามตำรายาแพทย์แผนจีน นำผลและเมล็ดของกระวานมาฝนกับน้ำปูนใส ช่วยลดอาการปวดท้องและแก้อาการแสบท้องจากโรคกระเพาะ ลดลมในกระเพาะอาหาร
การนำใบกระวานมาปรุงอาหาร
ใบกระวานที่ขายกันตามร้านสมุนไพร และซื้อมาใส่เครื่องแกงกันนั้น ไม่ใช่ใบของต้นกระวานชนิดนี้ (Amomum testaceum Ridl.) แต่เป็นใบของต้นเทพธาโร ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum porrectum Kosterm. เอามาใช้แทนใบกระวาน เพราะใบนี้มีกลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน คล้ายต้นกระวาน โบราณจึงเรียกว่าเป็นใบกระวานเช่นกัน ส่วนกระวานที่กล่าวถึงในบทความนี้ ก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้เช่นกัน มักใส่ใน แกงเผ็ด แกงมัสมั่น หรือใช้แต่งกลิ่น แต่งสีของขนมหวานต่างๆ เช่น คุกกี้ เค้ก เป็นต้น