ยาลูกกลอน ยาไทยใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

รู้จักส่วนประกอบ วิธีการทำ ประโยชน์ ของยาลูกกลอน และอันตรายของยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ยาลูกกลอน ยาไทยใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

ยาลูกกลอน เป็นหนึ่งใน 28 วิธีการปรุงยาตามวิธีโบราณ ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรูปแบบยาที่รับประทานง่าย พกพาสะดวก เก็บไว้รับประทานได้นาน เหมาะสำหรับการแปรรูปสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงและรสขม ไม่สามารถทำเป็นยาชงหรือยาต้มได้ อย่างไรก็ตาม ยาลูกกลอนในท้องตลาดอาจมีการผสมยาสเตียรอยด์เข้าไปด้วย ทำให้มีอันตรายต่อสุขภาพได้

วัตถุดิบที่ใช้ทำยาลูกกลอน

ยาลูกกลอนมีลักษณะเป็นเม็ดทรงกลม ทำจากตัวยาสมุนไพรชนิดเดียวหรือผสมสมุนไพรหลายๆ ชนิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการรักษา เช่น ทำเป็นยาอมแก้ไอมะขามป้อม ทำเป็นยาลูกกลอนขมิ้นชันรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ขั้นตอนการผลิตยาลูกกลอนไม่ยุ่งยาก สามารถผลิตได้ในท้องถิ่น และการรับประทานยาก็ง่ายกว่ายารูปแบบอื่นเพราะมีน้ำผึ้งมาเคลือบเม็ดยา ช่วยกลบรสชาติและกลิ่นของยาสมุนไพร รวมถึงผู้รับประทานยังได้สรรพคุณของน้ำผึ้ง ที่ถือเป็นน้ำกระสายยาในตำรับยาไทย สามารถเข้ากับตำรับยาได้ทุกชนิด ช่วยทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วและช่วยดูดซึมยาได้ดี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ขั้นตอนการผลิตยาลูกกลอน

การผลิตยาลูกกลอนสามารถทำเองได้ที่บ้าน เพียงแค่นำผงยาที่ต้องการมาผสมกับสารยึดเกาะ เช่น น้ำผึ้ง หรือน้ำผึ้งเทียม (แบะแซ) ขั้นตอนสำคัญของการทำยาลูกกลอนคือการเคี่ยวน้ำผึ้ง เพราะน้ำผึ้งที่เข้มข้นเหมาะสมจะช่วยในการยึดเกาะ และช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการขึ้นราในยาลูกกลอนได้ โดยอัตราส่วนของตัวสมุนไพรกับสารยึดเกาะขึ้นกับว่าใช้ส่วนไหนของพืชสมุนไพรมาทำยาลูกกลอน หากเป็นส่วนที่มีแป้งอยู่มาก เช่น ส่วนเหง้า ราก หรือผล มักจะยึดเกาะตัวเป็นเม็ดยาได้ดี จึงใช้น้ำผึ้งหรือน้ำผึ้งเทียมปริมาณน้อย เเต่ถ้าเป็นส่วนที่มีแป้งปริมาณน้อยหรือไม่มีเลย เช่น ส่วนใบ ลำต้น หรือเปลือก จะปั้นเป็นเม็ดได้ยาก จึงต้องบดผงยาให้ละเอียดมาก และต้องใช้สารยึดเกาะปริมาณมาก

หลังจากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งสองอย่างให้เนื้อยาไม่ร่วนหรือแข็งจนเกินไป ปั้นเม็ดกลม แล้วนำไปตากแดดอ่อนๆประมาณ 4-6 ชั่วโมงจนเม็ดยาแห้ง และเก็บใส่ภาชนะ ปิดฝาให้แน่นไว้รับประทาน แนะนำให้รับประทานภายใน 1-2 เดือนหลังจากผลิต และหากพบว่าเม็ดยาเยิ้มจนติดกัน สีเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีกลิ่นเหม็น ควรทิ้งยาทันที

อันตรายจากยาลูกกลอนที่ผสมสารสเตียรอยด์

ผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ในระยะยาว 1-2 เดือนขึ้นไป มักจะมีลักษณะหน้ากลม มีหนอกคอ เนื่องจากการรับประทานสเตียรอยด์ทำให้ไขมันสะสมบริเวณคอมากกว่าปกติ อ้วนลงพุง ผิวหนังบาง เหี่ยวย่น หน้าท้องลาย อารมณ์แปรปรวน เพราะสารเตียรอยด์เข้าไปเปลี่ยนการทำงานของสารสื่อประสาท อาจมีอาการซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย หรือมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอนได้ หากอาการรุนแรงมาก อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แผลหายช้า และมีจุดจ้ำเลือดตามร่างกายได้

อย่างไรก็ตาม ยาลูกกลอนไม่ได้มีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตที่ต้องการให้ผู้บริโภคหายจากอาการโดยเร็ว ไม่คำนึงถึงผลข้างเคียง อันตรายจากยาสเตียรอยด์ทำให้บางคนใช้ยาลูกกลอนที่ผสมยานี้ติดยาและต้องกลับมาซื้อยาเดิมซ้ำๆ

วิธีตรวจสอบสารเตียรอยด์ในยาลูกกลอน 

มีชุดทดสอบสารสเตียรอยด์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วางขายตามร้านขายยาทั่วไป หรือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อขอรับชุดตรวจดังกล่าวได้

วิธีการตรวจคือ นำยาลูกกลอนมาบดละเอียด และนำไปละลายน้ำ จากนั้นใช้หลอดดูดสารที่อยู่ในชุดทดสอบดูดตัวอย่างยาลูกกลอน หยดลงบนชุดทดสอบ หลังจากนั้นรอจนกว่าจะขึ้นแถบสีแดงคล้ายกับการตรวจครรภ์ ถ้ายาลูกกลอนนั้นผสมสารสเตียรอยด์จะขึ้นแถบแดง 1 แถบ ถ้าไม่มีสเตียรอยด์จะขึ้น 2 แถบ

หากพบว่ามีสารสเตียรอยด์ไม่ควรรับประทานต่อ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ 

จริงๆ แล้วยาสเตียร์รอยด์มีประโยชน์หรือไม่?

ยาสเตียรอยด์มีประโยชน์ในการลดการอักเสบ แก้ปวด และแก้อาการแพ้ ยาสเตียรอยด์มีทั้งชนิดใช้ภายนอกและรับประทาน ชนิดใช้ภายนอกเช่นใช้ทารักษาโรคผิวหนังไม่ค่อยมีอันตรายมากนัก แต่ชนิดรับประทานหากใช้ปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานานจะพบอาการไม่พึงประสงค์ได้ ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ปัจจุบันมีการผลิตยาแผนโบราณหลายรูปแบบที่รับประทานสะดวกกว่ายาต้มสมุนไพรแบบดั้งเดิม เช่น แบบแคปซูล ยาอม ยาตอกเม็ด หรือยาลูกกลอนดังที่อธิบายในบทความนี้ ทำให้การใช้ยาสมุนไพรไทยเพื่อการรักษาแพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับการซื้อยา ไม่ควรซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง หากมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยควรไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข หากจำเป็นต้องซื้อยาสมุนไพรมารับประทานเอง ควรตรวจดูในฉลากยาว่ามีการขึ้นทะเบียนยาที่ถูกต้องตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
บุษบา จินดาวิจักษณ์, ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รูปแบบยา…มีกี่แบบ…ใช้อย่างไร (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/23/%), 12 ตุลาคม 2553.
มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทยืแผนไทยเดิมฯ โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร: พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์, 2548. 256 หน้า
สุรเกีตรติ อาชานานุภาพ, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 312, ยาสเตียรอยด์กับโรคเข่าเสื่อม (https://www.doctor.or.th/article/detail/2091), มกราคม 2548.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)