กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

วงแหวนคุมกำเนิด วิธีคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ ประสิทธิภาพน่าไว้วางใจ

เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
วงแหวนคุมกำเนิด วิธีคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ ประสิทธิภาพน่าไว้วางใจ

บ่อยครั้งที่การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมดา อย่างการทานยาคุมกำเนิดอาจไม่ได้ผล เนื่องจากการหลงลืมของผู้หญิงที่ไม่ได้ทานเป็นประจำ หรือทานตรงต่อเวลา ส่วนผู้ชายนั้นจะหวังพึ่งให้ใช้ถุงยางอนามัยก็คงเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะความเชื่อผิดๆ ที่เชื่อกันว่า การใส่ถุงยางอนามัยจะทำให้ความรู้สึกทางเพศที่ควรจะเป็นไปลดลง และบางครั้งก็อาจรีบร้อนจนเกินไป ไม่ได้ทำการตรวจสอบถุงยางก่อนว่ามีความเก่าหรือมีรอยฉีกขาดหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจึงขอแนะนำวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ด้วยวงแหวนคุมกำเนิด ที่ใช้งานง่าย สะดวก และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

รู้จักวงแหวนคุมกำเนิด

วงแหวนคุมกำเนิด (Birth Control Ring) มีอีกชื่อในวงการแพทย์คือ นูวาริง มีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติกสีขาวใส อ่อนนิ่มยืดหยุ่นง่าย มีขนาดเท่ากำไลข้อมือ แต่ภายใต้วงแหวนใส ๆ นี้ มีการบรรจุฮอร์โมน 2 ชนิดที่มีความสำคัญต่อการคุมกำเนิด คือ ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน และฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่เมื่อนำใส่เข้าไปในช่องคลอดแล้ว ฮอร์โมนจะค่อยๆ ปล่อยออกมาเพื่อดูดซึมเข้าไปในร่างกายนั่นเอง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

วงแหวนคุมกำเนิดทำงานอย่างไร ออกฤทธิ์ยังไงบ้าง?

อธิบายก่อนว่าวงแหวนคุมกำเนิดนี้จะมีอายุการใช้งานเพียง 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน ไม่ต่างจากการทานยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 ชุด (3 แผ่น) แต่อย่างใด และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ เมื่อใส่วงแหวนนี้เข้าไปในช่องคลอดแล้ว ตัวยา (ฮอร์โมน) ในวงแหวน ก็จะค่อย ๆ มีการหลั่งออกมาในปริมาณที่เท่ากันทุกวัน จนครบ 21 วัน ซึ่งร่างกายก็จะดูดซึมฮอร์โมนนี้เข้าสู่กระแสเลือดทันที เพื่อเข้าไปยับยั้งการตกไข่ และสร้างเมือกเหนียวข้นไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปได้ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อครบ 21 วันแล้ว ก็จะต้องมีการถอดออก เพื่อหยุดพักเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งประจำเดือนก็จะเริ่มมาในช่วงเวลานี้ และเมื่อครบกำหนดแล้ว ก็ค่อยใส่วงแหวนใหม่อีกครั้งแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะพร้อมตั้งครรภ์

ประสิทธิภาพของวงแหวนคุมกำเนิด

หากมีการใช้วงแหวนคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง (ถอดออกเมื่อครบ 21 วัน และใส่เข้าไปใหม่หลัง 7 วัน) จะมีอัตราการล้มเหลวในการตั้งครรภ์เพียง 0.3% เท่านั้น หรือ 3 ใน 1,000 คน ซึ่งคิดเป็นระดับความเสี่ยงปานกลาง คือจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบทาน และแผ่นแปะคุมกำเนิด

ขั้นตอนใส่วงแหวนคุมกำเนิดทำอย่างไร?

การใส่วงแหวนคุมกำเนิด สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเน้นในเรื่องของการรักษาความสะอาดในระดับหนึ่ง เพราะจะต้องใส่ในวันแรกของการเป็นประจำเดือนทันที โดยเริ่มจากการล้างมือให้สะอาดก่อน แล้วนำวงแหวนออกจากซอง  จากนั้นให้บีบวงแหวนให้เล็กที่สุดแล้วค่อย ๆ ใส่เข้าไปในช่องคลอดแล้วใช้นิ้วชี้ดันเข้าไปให้สุด หากใส่ถูกต้อง จะไม่รู้สึกเลยว่ามีวงแหวนคุมกำเนิดอยู่ภายในตัว  แต่ถ้ายังรู้สึกแปลก ๆ หรือรู้สึกระคายเคืองอยู่ข้างใน ก็ต้องดันเข้าไปให้ลึกกว่าเดิม และรอให้ครบ 7 วันก่อน จึงจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้

ใส่วงแหวนคุมกำเนิดได้ที่ไหน?

ถึงแม้ว่าการหาซื้อวงแหวนคุมกำเนิด จะมีความยุ่งยากมากกว่าการซื้อยาคุมแบบเม็ด หรือแบบแผ่นแปะ เนื่องจากต้องไปพบแพทย์เพื่อขอใบสั่งยาก่อน จากนั้นจึงค่อนนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยาขนาดใหญ่หรือชั้นนำของประเทศ จึงจะได้วงแหวนคุมกำเนิดมาใช้ แต่เพราะสามารถใส่ได้เองโดยไม่ต้องใช้วิธียุ่งยากมากมาย ดังวิธีที่กล่าวมาข้างต้น จึงสามารถทำได้ที่บ้าน และสถานที่ต่างๆ ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องไปทำที่สถานพยาบาลใดๆ ทั้งสิ้น

ขั้นตอนการถอดวงแหวนคุมกำเนิด

การถอดวงแหวนคุมกำเนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือเมื่อครบกำหนด 21 วัน, เมื่อต้องการตั้งครรภ์ และเมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ (เอาออกมาก่อน แล้วใส่ไปใหม่อีกครั้ง หลังเสร็จสิ้นการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวงแหวนหลุดเข้าไปในช่องคลอดลึกเกินจนเอาออกไม่ได้) ขั้นตอนการถอดก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลาง สอดเข้าไปในช่องคลอด แล้วเกี่ยวเอาวงแหวนออกมาอย่างเบามือ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว

ผู้ที่เหมาะกับการใช้วงแหวนคุมกำเนิด

ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน (อายุ 15-50) ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ สามารถใช้วงแหวนคุมกำเนิดนี้ได้ทุกกรณี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องของการหลงลืมการทานยาคุมแบบเม็ดให้ตรงต่อเวลา ควรเลือกใช้วิธีนี้จะสะดวกที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ผู้ที่ไม่ควรใส่วงแหวนคุมกำเนิด

1. ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ เพราะหากใส่วงแหวนคุมกำเนิดเมื่อตั้งครรภ์อยู่ อาจเกิดภาวะแท้งบุตรได้

2. ผู้ที่สูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะฮอร์โมนอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตันได้

3. ผู้ที่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคตับ เป็นต้น

4. การรับประทานยารักษาโรคบางชนิด อาจเข้าไปยับยั้งให้ประสิทธิภาพของวงแหวนคุมกำเนิดลดลง จึงต้องทำการปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดทุกครั้งก่อนเริ่มใช้งาน

5. ผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก และผู้ที่กำลังให้นมบุตรอยู่

ผลข้างเคียงของการใส่วงแหวนคุมกำเนิด

ปกติแล้ว การใส่วงแหวนคุมกำเนิดมักจะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงอะไรมาก นอกจากผู้หญิงที่มีความไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เจ็บตึงบริเวณเต้านม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการคุมกำเนิด ที่จะหายไปได้เองภายใน 1-3 เดือน

ใส่แล้วแล้วประจำเดือนไม่มา น่ากลัวหรือไม่?

ไม่มีการป้องกันการคุมกำเนิดใดๆ ที่ได้ผล 100% การใส่วงแหวนคุมกำเนิดก็เช่นกัน และด้วยปกติแล้วนั้น ประจำเดือนจะต้องมาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อใดก็ตามที่พบว่าประจำเดือนไม่มา ควรตรวจสอบดูว่า มีการใส่วงแหวนตามกำหนดระยะเวลาหรือไม่ (21 วัน พัก 7 วัน) และมีปัญหาอย่างอื่นหรือไม่ เช่น การใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นก่อนหน้านี้ หรือการมีเพศสัมพันธ์ทันทีโดยไม่รอให้ครบ 7 วันหลังใส่ห่วงเสียก่อน ก็มีโอกาสที่จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกตินี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติใดเกิดขึ้น และได้มีการตั้งครรภ์หรือไม่ 

ใส่แล้วประจำเดือนมา เป็นอะไรหรือไม่?

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การใส่วงแหวนคุมกำเนิด จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฮอร์โมนในวงแหวนจะเข้าไปทำงานเฉพาะบริเวณมดลูกเท่านั้น  ซึ่งประจำเดือนจะมาตามปกติ และมาอย่างสม่ำเสมอ ภายหลังจากการถอดวงแหวนคุมกำเนิด เมื่อครบกำหนด 21 วัน

วงแหวนคุมกำเนิดเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ที่มีอายุการใช้งานเช่นเดียวกับการกินยาคุมหรือการฉีดยาคุมแบบ 1 เดือน แต่มีข้อดีกว่าคือไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกวันเหมือนการกินยาคุม จึงหมดกังวลเรื่องการหลงลืมไปได้เลย ทั้งยังมีผลข้างเคียงต่ำอีกด้วย เพราะฉะนั้นลองเปลี่ยนจากการคุมกำเนิดแบบเดิมๆ มาใช้วงแหวนคุมกำเนิดกันดู


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ฉีดยาคุมกำเนิด ป้องกันได้นานกี่เดือน ไม่ฉีดแล้วจะกลับมาท้องทันทีหรือไม่? (https://hdmall.co.th/c/injectable-contraceptive).
ใส่ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร อ้วนไหม เช็กได้ที่นี่ (https://hdmall.co.th/c/itrauterine-device).
Family planning/Contraception. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/family-planning-contraception)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป