แนะนำวิธีแก้ปัญหาการทรงตัวของผู้สูงอายุ

รู้ถึงความสำคัญของการฝึกการทรงตัว อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ และแนะนำท่าออกกำลังเพื่อฝึกทรงตัวด้วยตนเอง
เผยแพร่ครั้งแรก 24 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
แนะนำวิธีแก้ปัญหาการทรงตัวของผู้สูงอายุ

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุก็คือ การพลัดตกหกล้ม ซึ่งมีที่มาจากความสามารถในการทรงตัวลดลง ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และหากไม่ได้รับการฟื้นฟู อาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถเดินได้อีก กระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ 

ปัญหาการทรงตัวในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร?

การทรงตัว (Balance) ที่มีประสิทธิภาพ เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างสมดุลของ 3 ระบบใหญ่ๆ ได้แก่ การมองเห็น (Visual) การรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ (Proprioception) และการทำงานของหูชั้นใน (Vestibular system) ซึ่งทั้งสามระบบนี้ทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เมื่ออายุมากขึ้น ระบบดังกล่าวก็เสื่อมถอย การมองเห็นลดลง ผิวของข้อต่อเสื่อมไปตามอายุ ประสิทธิภาพการทำงานของหูชั้นในลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeleton muscle) ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการตอบสนองต่อคำสั่งของสมอง เพื่อปรับสมดุลของร่างกายขณะที่เกิดความไม่สมดุล ก็เสื่อมลงเช่นกัน ส่งผลให้ความสามารถในการทรงท่า (Posture) ลดลงด้วย นอกจากนี้สมองของผู้สูงอายุ (Aging brain) ยังมีแนวแนวที่จะใช้เวลาในการประมวลผลช้าลงเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ ด้วย 

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการทรงตัวที่ลดลงของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง?

ถึงแม้การทรงตัวไม่มั่นคงจะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่มักจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่ร้ายแรงตามมา (Secondary cause) เช่น หากทรงตัวไม่ดีแล้วหกล้ม ศีรษะอาจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือในผู้สูงอายุมีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เมื่อหกล้มก็จะส่งเสริมให้ผลรุนแรงขึ้นอีก

มีรายงานว่า ประมาณ 20% ของผู้สูงอายุที่หกล้มไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก บางส่วนต้องนั่งรถเข็น บางส่วนต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ผู้ป่วยเหล่านั้นมักจะเสียชีวิตในระยะเวลาต่อไปอีกไม่นาน ด้วยอาการแทรกซ้อนจากการเคลื่อนไหวที่น้อยลง เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือดจาดแผลกดทับ ปอดติดเชื้อจากการมีเสมหะคั่งข้างในปอดจำนวนมาก เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการทรงตัว?

โดยทั่วไปแล้ว ตัวผู้สูงอายุเองมักจะรู้สึกว่ามีอาการขาอ่อนแรง เดินลำบาก ทรงตัวลำบาก ไม่มั่นใจเมื่อต้องเดินในบริเวณที่ไม่คุ้นเคย และพยายามเกาะหรือดึงเครื่องเรือนต่างๆ ขณะเดิน นอกจากนี้ญาติก็มักจะสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุไม่สามารถยืนตรงได้นาน บางรายมีอาการเดินเซ

เมื่อความมั่นใจในการทรงตัวลดลง คนใกล้ชิดมักจะสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุเคลื่อนที่น้อยลง ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อสังเกตเห็นอาการดังกล่าวควรพาผู้สูงอายุไปพบนักกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู และชะลอการสูญเสียการทรงตัวไม่ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองให้มากที่สุด และลดความเสี่ยงต่อภาวะติดเตียงและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงโรคทางจิตใจด้วย

การกายภาพบำบัดจะช่วยแก้ปัญหาการทรงตัวของผู้สูงอายุได้อย่างไร?

นักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินความสามารถในการทรงตัวของผู้สูงอายุแต่ละราย และหาทางแก้ไขที่เหมาะสมให้ ตามความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุแต่ละราย เช่น ออกแบบโปรแกรมการฝึกการทรงตัวให้ เลือกอุปกรณ์ช่วยเหลือการเดินแบบต่างๆ ให้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัวเพียงเล็กน้อยอาจจะต้องใช้ไม้เท้า (Cane) ช่วยพยุงขณะเดินนอกบ้าน ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัวมาก แต่แขนยังมีกำลังดีและไม่มีอาการหลงลืม อาจจะสามารถใช้กรอบฝึกเดิน (Walker) ช่วยพยุงเพื่อให้เคลื่อนที่ไปทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ด้วยตนเอง หรือในผู้สูงอายุที่ที่มีปัญหาการทรงตัวมาก มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มมาก อาจจะต้องแนะนำให้หาผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

แนวทางหลักทางกายภาพบำบัดในการจัดการกับปัญหาการทรงตัวในผู้สูงอายุสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อหลักๆ ดังนี้

  1. ป้องกันการพลัดตกหกล้มด้วยการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม
    นอกจากการเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะกับความสามารถของผู้สูงอายุแต่ละรายแล้ว การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น การติดตั้งราวจับตามทางเดิน การเพิ่มแสงสว่างให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น การจัดเครื่องเรือนไม่ให้ขวางทางเดิน บริเวณที่มีความเสี่ยงสูงที่ผู้สูงอายุจะหกล้มก็คือห้องน้ำ ควรเปลี่ยนโถสุขภัณฑ์เป็นแบบชักโครกเพราะใช้แรงลุกขึ้นยืนน้อยกว่าแบบนั่งยอง ควรติดตั้งราวจับเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นยืนได้อย่างสะดวก พื้นห้องน้ำควรจะแห้งและมีแผ่นกันลื่น นอกจากนี้เวลาพาผู้สูงอายุอออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ควรจะดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณที่พื้นไม่ราบเรียบ

  2. ฟื้นฟูความสามารถในการทรงตัว และชะลอความเสื่อมของการทรงตัวในผู้สูงอายุด้วยการออกกำลังกาย
    นักกายภาพบำบัดจะออกแบบการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการทำงานของการมองเห็น (Visual) การรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ (Proprioception) และการทำงานของหูชั้นใน (Vestibular system) หรือหากในผู้สูงอายุที่ระบบใดระบบหนึ่งมีปัญหามากๆ นักกายภาพบำบัดก็จะออกแบบการออกกำลังกายเพื่อสนับสนุนให้ระบบการทรงตัวที่เหลือมาทำหน้าที่ทดแทนระบบที่มีปัญหาได้ เช่น ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการมองเห็นมากๆ การกระตุ้นการทำงานของหูชั้นใน และการรับรู้ข้อต่อผ่านการออกกำลังกาย เช่น การยืนบนเบาะนุ่มๆ การฝึกยืนขาเดียว หรือการฝึกยืนหลับตา จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทรงตัวในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ การการฝึกเดินในสถานที่เสมือนจริง เช่น เดินข้ามสิ่งกีดขวาง ฝึกเดินขึ้น-ลงบันได ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจ และทรงตัวในสถานการณ์จริงได้อย่างมั่นคงด้วย 

ท่าออกกำลังกายเพื่อความสามารถในการทรงตัวที่ผู้สุงอายุสามารถทำได้เองง่ายๆ ที่บ้าน

การออกกำลังกายเพื่อแก้ปัญหาการทรงตัวในผู้สูงอายุนั้น ประกอบด้วยการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังการเพื่อกระตุ้นการทรงตัว ดังนี้

  1. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
    1. กล้ามเนื้อน่อง ให้ยืนเกาะวัสดุที่มันคง เช่น ขอบโต๊ะ หายใจออก เขย่งข้อเท้าขึ้นจนสุด หายใจเข้า กลับมายืนฝ่าเท้าแนบพื้น สามารถเพิ่มความยากด้วยการรัดถุงทรายที่ข้อมือทั้งสองข้าง
    2. กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลังตรง หายใจออก เหยียดเข่าข้างที่ต้องการออกกำลังกายให้สุด หายใจเข้า วางเท้ากลับเข้าที่เดิม สามารถเพิ่มความยากด้วยการผูกถุงทรายที่ข้อเท้าข้างที่ต้องการออกกำลังกาย การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงที่แนะนำไว้เบื้องต้นทั้งสองข้อ สามารถทำได้ 10-12 ครั้ง ต่อเซ็ต ทำ 1-3 เซ็ตต่อครั้ง วันละ 1-2 ครั้ง
  2. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อขา ให้เริ่มจากยืนเกาะวัสดุที่มั่นคงย่อเท่าทั้งสองข้างลงเท่าที่ไหว นับ 1-10 ทำซ้ำ 1-3 ครั้ง วันละ 1-2 รอบ สามารถเพิ่มความยากด้วยการทำค้างไว้ เป็นนับ 1-30 เท่าที่ไหว หรืออาจจะพยายามย่อเข่าลงให้ได้ประมาณ 90 องศา จนต้นขาขนานกับพื้นเหมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้
  3. ฝึกการทรงตัวอย่างง่าย การฝึกนี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดีขึ้น ในที่นี้จะขอแนะนำเฉพาะวิธีที่ปลอดภัยและทำได้เองที่บ้าน ดังนี้
    1. ยืนจับวัสดุที่มั่นคง ฝ่าเท้าทั้งสองข้างชิดกัน นับ 1-30 เท่าที่ไหว เพิ่มความยากโดยค่อยๆ ปล่อยมือ หรือลดการเกาะลงเหลือเพียงมือเดียว หรือเพียงปลายนิ้ว เมื่อยืนปล่อยมือได้ดีอาจจะเพิ่มความยากขึ้นอีกด้วยการหาเบาะนุ่มๆ มารองใต้ฝ่าเท้า ก็จะยิ่งทำให้ทรงตัวได้ยากขึ้น
    2. ทำซ้ำข้อ a. แต่เปลี่ยนเป็นยืนส้นเท้าต่อปลายเท้า วิธีการเพิ่มความยากใช้วิธีเดียวกัน
    3. เดินโดยใช้ส้นเท้าต่อกับปลายเท้าเป็นเส้นตรงเท่าที่ไหว ท่านี้มีความเสี่ยงที่จะหกล้มสูงมาก ควรมีผู้ดูแลคอยเดินระวังอย่างใกล้ชิด

แม้การฝึกทรงตัวจะดีต่อสุขภาพ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรมีญาติหรือผู้ดูแลเฝ้าอยู่ด้วยเสมอ เพื่อป้องกันการหกล้ม นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่า หรือเวียนศีรษะบ่อยๆ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ทิวาพร ทวีวรรณกิจ และคณะ, การทรงตัว การล้ม และคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหว และไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ, วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด, 2010.
ญาดานุช บุญญรัตน์, “การป้องกันการหกล้มสําหรับผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง” ลําปางเวชสาร ปีที่ 39 ฉบับที่ 1, 2561.
Thomas, Ewan et al. “Physical activity programs for balance and fall prevention in elderly: A systematic review.” Medicine vol. 98,27 (2019): e16218. doi:10.1097/MD.0000000000016218

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป