พ่อแม่บางคนอาจสังเกตเห็นว่าลูกชอบเล่นคนเดียว เล่นแต่ของซ้ำๆ ไม่เคยยอมบอกว่าอยากจะได้อะไร ไปโรงเรียนก็เข้ากับเพื่อนไม่ได้ โดนเพื่อนแกล้งบ่อย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้พ่อแม่มีความกังวลใจว่าลูกจะเป็น เด็กออทิสติก แต่จะใช่หรือไม่ HonestDocs มีคำตอบ
โรคออทิสติกคืออะไร?
โรคออทิสติก (Autistic) หรือทางการแพทย์เรียกว่ากลุ่มอาการออทิซึม (Autistic spectrum disorders) เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบด้วยความผิดปกติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม (Social impairment) ด้านการสื่อสาร (Communication impairment) และด้านพฤติกรรม กลุ่มอาการดังกล่าวมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โรคออทิสติกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คาดว่ากลุ่มอาการออทิซึมเป็นภาวะที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และความผิดปกติทางระบประสาท แต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้
- ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม พบว่าในครอบครัวที่มีประวัติของกลุ่มอาการออทิซึม มีโอกาสที่เด็กจะมีกลุ่มอาการดังกล่วมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆที่มีภาวะออทิซึมเป็นอาการของโรคนั้นๆ เช่น กลุ่มอาการโครโมโซมเอ็กซ์เปราะ (Fragile X syndrome) มักมีความผิดปกติของระดับสติปัญญาและความผิดปกติของลักษณะทางกายภาพบางอย่างร่วมด้วย กลุ่มอาการโรคทางระบบประสาทที่มีการแสดงออกทางผิวหนัง เช่น โรค Tuberous sclerosis ซึ่งมักพบความผิดปกติของระบบประสาทร่วมกับอวัยวะอื่นๆ เช่น ผิวหนัง ตา หรือกระดูก เป็นต้น
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม หมายถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งคลอด เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือสารพิษบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด หรือแม้แต่น้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือคลอดก่อนกำหนด
- ความผิดปกติของระบบประสาท เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างสมอง เส้นใยประสาท ร่วมถึงสารสื่อประสาท (Neurotransmitters)
ส่วนการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เด็กเป็นออทิสติก เป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคมีความรุนแรงขึ้นเท่านั้น
พ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกอาจมีอาการของโรคออทิสติก?
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น กลุ่มอาการออทิซึมจะประกอบด้วยความบกพร่อง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านการสื่อสาร และด้านพฤติกรรม ซึ่งอาการในแต่ละด้านมีลักษณะที่จำเพาะ ดังนี้
- ความบกพร่องของทักษะด้านสังคม มักพบในรูปแบบการมีความบกพร่องทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือสถานการณ์แวดล้อม ซึ่งผู้ปกครองอาจสามารถสังเกตอาการได้ตั้งแต่เล็ก เช่น การไม่สบตาหรือสบตาน้อย การไม่หันตามเสียงเรียก (ซึ่งต้องได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์อย่างแน่ชัดว่าไม่มีปัญหาทางการได้ยินที่มาจากหูหรือระบบประสาท) ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ เช่น พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูหลัก หรือเพื่อนๆ ไม่สนใจสิ่งที่ทำร่วมกับผู้อื่น การไม่แสดงความรู้สึกออกทาสีหน้า ไม่สามารถชี้บอกความต้องการได้ ไม่ชี้ชวนให้ผู้อื่นมองตามสิ่งที่ตนเองกำลังสนใจ เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ ถูกเพื่อนแกล้งเพราะเพื่อนรู้สึกว่าแปลกแยก เป็นต้น
- ความบกพร่องทางด้านการสื่อสาร โดยทั่วไปอาการแรกของความบกพร่องทางการสื่อสารคือการพูดช้า พูดจาวกวน พูดคำซ้ำๆ หรือพูดคำไม่มีความหมายในวัยที่ควรพูดคำที่มีความหมายแล้ว หรือเรียกสิ่งของบางอย่างด้วยคำที่จำกัดความขึ้นมาเอง มีแต่ตนเองหรือคนใกล้ชิดเท่านั้นที่เข้าใจ เมื่อโตขึ้นอาจพูดเฉพาะเรื่องหรือสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น ไม่เล่นสมมติหรือเลียนแบบท่าทางการเล่นของคนอื่น เป็นต้น
- ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม พฤติกรรมผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มอาการออทิซึม คือการทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ เช่น ชอบมองวัตถุหมุน หรือชอบสะบัดข้อมือ เป็นต้น โดยอาการจะสังเกตได้ชัดเจนเมื่อเด็กตื่นเต้น
*อาการหรือความผิดปกติที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นต้องเกิดก่อนอายุ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม พบว่าเด็กที่มีกลุ่มอาการออทิซึมนั้นสามารถมีระดับสติปัญญาเท่ากับเด็กทั่วไปได้ แต่เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยจะมีความถนัดในบางสาขาวิชาเป็นพิเศษ เช่น เด็กบางคนสามารถจำชื่อไดโนเสาร์ได้ สะกดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจากความสามารถดังกล่าว ผู้ปกครองควรสนับสนุนและต่อยอดทางการเรียนรู้และความสามารถด้านที่เด็กเหล่านี้ถนัด โดยในการเรียนนั้นเด็กไม่จำเป็นต้องเก่งทุกวิชา แต่เรียนเพื่อให้มีพื้นฐานของทุกวิชาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในสิ่งที่ตนเองถนัดต่อไป
เครื่องมือที่ทำให้พ่อแม่สามารถคัดกรองพัฒนาการด้านสังคมและพฤติกรรมอย่างง่ายสามารถศึกษาได้จากสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดเล่มสีชมพูหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “สมุดวัคซีน”) ที่จัดทำโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ในบางโรงพยาบาลยังมีการแจกคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual หรือ DSPM) จัดทำโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ให้กับผู้ปกครองอีกด้วย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
เด็กที่มีภาวะออทิสติกมีภาวะหรือโรคร่วมอื่นๆ อะไรบ้าง?
เด็กที่มีภาวะออทิซึมอาจมีโรคทางพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorders หรือ ADHD) ในเรื่องที่ตนเองไม่สนใจ ซนมากกว่าเด็กวัยอื่น เพราะต้องการทำเฉพาะสิ่งตนเองสนใจ พัฒนาการช้า เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนและภาวะที่พบร่วมกับภาวะออทิสติก?
จากการที่เด็กมีความบกพร่อทางการเข้าสังคม การสื่อสาร และความผิดปกติทางพฤติกรรม ทำให้เด็กกลุ่มนี้ดูแปลกแยกจากเด็กทั่วๆไป บางครั้งอาจถูกเพื่อนๆ คนรอบข้างหรือครูที่ไม่เข้าใจมองว่าเป็นเด็ก ไม่เรียบร้อย ซน ไม่ตั้งใจเรียน ชอบแกล้งเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือแม้แต่ก้าวร้าว โดยความเข้าใจผิดดังกล่าวจะกลายเป็นวงจรทำให้ปัญหาต่างๆเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการเข้าใจในภาวะที่เด็กเป็นและให้การดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม
ภาวะออทิสติกสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ มีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร?
กลุ่มอาการออทิซึม เป็นโรคประจำตัวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เนื่องจากมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม สมองและสารสื่อประสาท ในผู้ป่วยบางรายสามารถมีอาการดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูที่ถูกต้องร่วมกับการรักษาที่เหมาะสมสามารถทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้จนสามารถใช้ชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
วิธีการดูแลรักษากลุ่มอาการออทิซึมต้องอาศัยบุคคลหลายฝ่ายร่วมมือกัน ได้แก่ แพทย์และสหวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่น พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงครูที่โรงเรียน
- ในส่วนของแพทย์ เป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัย หาภาวะแทรกซ้อนและโรคร่วมที่เกิดขึ้น ให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ปกครองและครู โดยควรได้รับการรักษาโดยเร็วหลังได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากพบว่าการให้การรักษาในช่วงต้นของโรคนั้นให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดี การรักษามีเป้าหมายให้เด็กสามารถเรียนรู้ทักษะจำเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งทักษะทางด้านสังคมและการสื่อสาร มีการฝึกพูดโดยนักอรรถบำบัดที่โรงพยาบาล และฝึกต่อกับพ่อแม่ที่บ้าน ส่วนการรักษาด้วยยานั้นจะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาพฤติกรรม เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และมีสมาธิดีขึ้นเพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ทักษะที่บกพร่อง โดยการใช้ยานั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้นเนื่องจากยาที่ใช้มีผลข้างเคียง
- พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว มีส่วนอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการออทิซึม โดยต้องเริ่มจากการเข้าใจในตัวโรคของผู้ป่วย เข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำหรือเรียกร้องความสนใจ เน้นการฝึกทักษะที่บกพร่อง เช่น การฝึกพูด พยามให้เด็กชี้หรือพูดบอกความต้องการโดยไม่รีบนำของที่ต้องการมาให้เด็กทันที เน้นการฝึกทักษะการเข้าสังคมผ่านการเล่น โดยให้สมาชิกในครอบครัวเล่นกับเด็ก ไม่ควรให้เด็กเล่นผ่านสื่อหน้าจอ การสอนผ่านการเล่าหรือการอ่านนิทานให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ โดยใช้การสังเกตว่ามีสิ่งกระตุ้นอะไรที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และพยามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว รวมถึงสร้างแรงเสริมทางบวก (Positive reinforcement) เช่น การชมเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หลีกเลี่ยงการทำโทษด้วยการตี หรือการด่าว่า เป็นต้น
- ที่โรงเรียน ครูต้องมีความเข้าใจในตัวโรคของผู้ป่วย ช่วยแก้ปัญหาในการเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ และร่วมมือกับผู้ปกครองในการปรับพฤติกกรรมและฝึกทักษะที่บกพร่อง
โดยสรุป กลุ่มอาการออทิซึมเป็นกลุ่มอาการที่มีความบกพร่องทางด้านทักษะการเข้าสังคม ทักษะการสื่อสาร และพฤติกกรรม เป็นโรคที่ไม่หายขาดเนื่องจากมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและความผิดปกติของระบบประสาทเข้ามาเกี่ยวข้อง การเลี้ยงดูที่ผิดวิธีไม่ได้ทำให้เป็นโรค แต่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามสามารถทำให้โรคดีขึ้นได้จากการร่วมมือของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพ่อแม่