March 16, 2017 19:14
ตอบโดย
นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (แพทย์ทั่วไป) (พญ.)
ต้องเข้าใจใหม่นะคะ ตากุ้งยิงไม่ได้เกิดจากการไปแอบดูคนอื่นอาบน้ำอย่างที่สมัยโบราณกล่าวไว้ค่ะ
ส่วนใหญ่แล้วตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นส่วนใหญ่ โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่าง ๆ จากต่อมต่าง ๆ ดังกล่าวบริเวณหนังตาเกิดการอุดตัน จึงส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี (สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการมีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาก่อน แล้วผู้ป่วยเผลอไปใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา จนทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตันและเกิดการอักเสบตามมา)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้ง่าย เช่น
1. ไม่รักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้มือ ใบหน้า ผิวหนัง หรือเสื้อผ้าสกปรก (มักพบโรคนี้ในคนที่ชอบขยี้ตา ผู้ที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาดของใบหน้า ใช้เครื่องสำอางที่ใบหน้าและดวงตา สวมใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก)
2. ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือมีใบหน้ามัน จึงทำให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกว่าปกติ
3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเข สายตาเอียง รวมถึงมีการอักเสบบริเวณหนังตาอยู่บ่อย ๆ
4. มีสุขภาพทั่วไปไม่ดีนัก เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ
5. มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง (ตากุ้งยิงมักพบในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนในวัยผู้สูงอายุจะพบได้น้อย ถ้าพบกุ้งยิงในวัยผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องตรวจเช็กร่างกาย ซึ่งอาจพบโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง)
วิธีรักษาตากุ้งยิง
* เมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรก ๆ คือยังไม่เห็นเป็นตุ่มนูนชัดเจน เพียงแต่มีอาการอักเสบแดงโดยรอบ ๆ หรือในกรณีที่เพิ่งเริ่มขึ้นเป็นตุ่มฝีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นตุ่มแข็ง ยังไม่กลัดหนอง การรักษาและการดูแลตนเองในเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้
1. การดูแลตนเองที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น ได้แก่ การงดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาทุกชนิด, งดใส่คอนแทคเลนส์, ห้ามบีบหรือเค้นเพื่อเอาหนองออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น (หากหนองแตกเองให้ล้างบริเวณหนองด้วยน้ำต้มสุก), ไม่ขับรถเองในช่วงเป็นกุ้งยิง เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้, ผู้ป่วยที่เป็นตากุ้งยิงยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้สายตามาก ควรหมั่นพักสายตาเป็นระยะ ๆ
2. เมื่อพบว่าเป็นตากุ้งยิงในระยะแรก ควรเช็ดขอบตารอบ ๆ บริเวณที่เป็นให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เช็ดจากหัวตาไปหางตา โดยในขณะทำให้หลับตาไว้) และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าอยู่เสมอ
3. ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัด ๆ กดตรงบริเวณหัวฝี และนวดเบา ๆ โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20-30 นาที (การประคบอุ่นจะช่วยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เป็นมากขึ้น มาช่วยกันต่อสู้กับเชื้อโรค และช่วยทำให้ไขมันที่อุดตันต่อมเปิดออก ทำให้หนองไหลออกมาได้เอง และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น)
4. หลังจากประคบตาทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน หรือยาหยอดตาอิริโทรมัยซิน (ในกรณีที่จะซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ) ถ้าอาการเจ็บไม่ลดลง ก้อนไม่ยุบ หรือมีเลือดออกจากแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือผ่าเอาหนองออก
5. ถ้ามีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
6. ถ้ามีอาการหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้า หูโตร่วมด้วย ให้กินยาไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง
7. โดยทั่วไป แม้ไม่ได้ใช้ยา ในบางรายอาจหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เกิดเป็นก้อนนูนชัดเจน และใช้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของเภสัชกรแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการผ่าเอาหนองออก (แต่ทางที่ดีสุดก็คือ เมื่อเริ่มมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง)
8. หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปแพทย์ในทันที ได้แก่ อาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์, ก้อนมีขนาดใหญ่มากและเจ็บตา, ก้อนที่เปลือกตาพบว่ามีเลือดออก, พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา, เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด, เปลือกตาแดงหรือตาแดงทั่วไปหมด, สายตาผิดปกติ, มีอาการแพ้แสงแดด และกุ้งยิงกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว
Reference:
Medthai
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
พอดีเป็นตากุ้งยิงค่ะ แต่ไม่ได้แอบดูใครอาบน้ำนะคะ อยากทราบว่าทำไมถึงเป็นคะ แล้วต้องรักษายังไงคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)