ปวดท้องข้างขวา เกิดจากอะไรได้บ้าง มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไร

ปวดท้องข้างขวาเกิดได้จากหลายสาเหตุ เรียนรู้ลักษณะอาการ เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปวดท้องข้างขวา เกิดจากอะไรได้บ้าง มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ปวดท้องข้างขวา เป็นอาการปวดท้องบริเวณซีกขวาของร่างกาย รวมไปถึงส่วนบั้นเอว และใต้ซี่โครงขวา ซึ่งแต่ละบริเวณก็จะเป็นที่อยู่ของอวัยวะที่แตกต่างกัน จึงทำให้สาเหตุของอาการปวดท้องแตกต่างกันไปด้วย
  • อาการปวดท้องข้างขวาสามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ ส่วนบน และส่วนล่าง ซึ่งท้องข้างขวาส่วนบนจะเป็นที่อยู่ของตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องส่วนนี้ ได้แก่ โรคตับ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • อาการปวดท้องข้างขวาส่วนล่าง อาจเกิดได้จากไส้ติ่งอักเสบ โรคเกี่ยวกับลำไส้ กรวยไตเกิดความผิดปกติ หรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ เพราะบริเวณท้องขวาส่วนนี้เป็นที่อยู่ของไส้ติ่ง ลำไส้เล็กบางส่วน และกรวยไตข้างขวา
  • อาการปวดท้องใต้ซี่โครงขวา และบั้นเอวขวานั้นก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะเป็นบริเวณที่อยู่ของลำไส้เล็กโดยตรง รวมถึงลำไส้ใหญ่ และท่อไต อีกทั้งอาการปวดบริเวณนี้อาจมีสาเหตุมาจากไส้ติ่งอักเสบ หรือเกิดจากภาวะลำไส้อักเสบได้ หากมีอาการปวดบริเวณนี้ คุณต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากรู้สึกผิดปกติบริเวณท้องส่วนใด แล้วรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองแล้วไม่หาย ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการปวดท้องอาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณอวัยวะภายในที่คุณไม่รู้ และจะเกิดอันตรายในภายหลังได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

เมื่อมีอาการปวดท้อง ไม่ว่าจะปวดท้องตำแหน่งใดก็ตาม ย่อมสร้างความไม่สบายตัวกับผู้ที่ปวดได้เป็นอย่างมาก ยิ่งหากไม่รู้สาเหตุ กินยาอะไรเข้าไปก็ไม่หาย ยิ่งทำให้ทรมานหนักมากกว่าเดิม 

เพื่อให้ง่ายต่อการวินิจฉัย การระบุได้ว่า ปวดท้องข้างไหน ตำแหน่งใด จะช่วยให้พบความผิดปกติหรือวินิจฉัยสาเหตุได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากภายในช่องท้องมีอวัยวะภายในหลายอย่าง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับในทางการแพทย์นั้น ได้แบ่งอาการปวดท้องออกเป็นปวดท้องข้างซ้าย และปวดท้องข้างขวา โดยในบทความนี้ จะพูดถึงอาการปวดท้องด้านขวา ใครที่มีอาการปวดท้องด้านขวาเป็นประจำ มาดูกันเลยว่า อาการเหล่านี้เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

ปวดท้องบริเวณด้านขวาส่วนบน

บริเวณท้องด้านขวาบน หรือใต้ซี่โครงด้านขวา เป็นที่อยู่ของตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน เมื่อเกิดการปวดท้องในบริเวณนี้ อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ 

  • โรคตับ หรือโรคนิ่วในถุงน้ำดี: เป็นอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมาก หากคลำ หรือกดบริเวณที่ปวด อาจพบก้อนเนื้อแข็งๆ เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน จะสังเกตได้ว่า มีอาการตัวเหลือง และตาเหลืองมากกว่าเดิม
  • ตับอ่อนอักเสบโรคนี้พบได้ทั้งอาการปวดท้องส่วนบนทั้งซ้ายและขวา โดยเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป จึงส่งผลให้ตับอ่อนทำงานผิดปกติและเกิดการอักเสบได้ เมื่อเป็นโรคนี้จะพบว่า มีอาการปวดท้องส่วนบนทั้งด้านขวาและซ้าย ลามไปถึงแผ่นหลัง

ปวดท้องด้านขวาส่วนล่าง

บริเวณท้องด้านขวาส่วนล่างเป็นที่อยู่ของไส้ติ่ง ลำไส้เล็กบางส่วน และกรวยไตด้านขวา ปกติแล้วอาการปวดท้องด้านขวาส่วนล่างมักเกิดจากกรดเกินในกระเพาะอาหาร แต่หากสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องในส่วนนี้ ไม่ใช่เรื่องของกรดเกินในกระเพาะอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานอาจมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม

โดยสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องส่วนล่าง ได้แก่

  • ไส้ติ่งอักเสบ: หากมีอาการปวดท้องแบบเสียดแน่น ตั้งแต่สะดือไปจนถึงท้องน้อยด้านขวาจนรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด และคลำดูแล้วเจอก้อนเนื้อนูนออกมา และเจ็บมาก ให้สันนิษฐานว่า คุณกำลังเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
    เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ไส้ติ่งแตกจนหนองกระจายออกมา ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้
  • ความผิดปกติของลำไส้ หรือลำไส้แปรปรวน: ความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณด้านขวาแบบรู้สึกมวนๆ ท้อง ไม่มีอาการรุนแรงอะไรมากนัก แค่รับประทานยาลดกรดก็สามารถหายได้เป็นปกติ
  • ความผิดปกติของกรวยไต หรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ: ความผิดปกตินี้อาจเกิดจากการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน รวมถึงการไม่ดูแลสุขอนามัยในการเข้าห้องน้ำ บางครั้งอาจจะพบโรคนิ่วในไตอีกด้วย โดยจะรู้สึกปวดท้องด้านขวาส่วนล่างร้าวไปจนถึงบริเวณต้นขา

ปวดท้องใต้ซี่โครงขวา

อาการปวดท้องในตำแหน่งนี้ ส่วนมากมักเกิดจากลำไส้เล็กโดยตรง อาการที่พบโดยทั่วไปคือ เสียดท้องอย่างรุนแรง ร่วมกับจุกเสียด แต่ไม่รุนแรงเท่าการเป็นไส้ติ่งอักเสบ อาการดังกล่าวเกิดจากการที่ลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ ซึ่งเกิดจากการแพ้โปรตีนที่ชื่อว่า "กลูเตน (Gluten)"

ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะหากปล่อยไว้นานจะมีโอกาสพัฒนากลายเป็นโรคลำไส้เล็กอักเสบได้ ซึ่งจะทำให้อาการปวดท้องรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และอาจถึงขั้นต้องทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปวดท้องบริเวณบั้นเอวด้านขวา

อาการปวดท้องในตำแหน่งนี้ ค่อนข้างน่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าอาการปวดท้องที่เกิดจากไส้ติ่งอักเสบเลยทีเดียว เพราะตำแหน่งนี้เป็นที่อยู่ของลำไส้ใหญ่ และท่อไต หากพบว่า มีการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย อาจหมายถึงภาวะลำไส้ใหญ่มีการอักเสบ กรณีนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

หากรู้สึกปวดบั้นเอวด้านขวาแบบแปล๊บๆ แล้วหาย แต่รุนแรงมากขึ้นภายหลังจากการรับประทานอาหารเค็ม อาจเกิดจากการที่ไตทำงานหนัก และเกิดการอักเสบ คุณสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อให้ไตขับความเค็มออกไปจากร่างกาย

อาการปวดท้องข้างขวาตำแหน่งอื่นๆ

นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท้องซึ่งอาจปรากฎในตำแหน่งอื่นใดก็ได้ และ/หรือมีอาการปวดเฉพาะบริเวณท้องด้านขวา เช่น

  • การปวดท้องที่เกิดจากภาวะทางสูตินรีเวชอื่นๆ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เนื้องอก การบิดของรังไข่ ภาวะแท้งนอกมดลูก และภาวะแท้งคุกคาม 
  • การปวดจากผนังหน้าท้อง เช่น งูสวัด และกล้ามเนื้อหน้าท้องอักเสบ
  • การปวดจากโรคทางหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ถูกเซาะ
  • การปวดจากระบบประสาทโดยมีความผิดปกติจากที่ตำแหน่งอื่นไม่ใช่บริเวณที่ปวดท้องนั้นๆ
  • การปวดที่เกิดจากโรคทางเมตาบอลิค เช่น ภาวะกรดคีโตนสูงในเบาหวาน หรือการได้รับสารพิษบางชนิด
  • การปวดที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ภาวะลำไส้แปรปรวน
  • การปวดที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ภาวะหลอดเลือดอักเสบ

ไม่จะปวดท้องข้างไหน หรือปวดท้องส่วนใด หากรับประทานยาแก้ปวด หรือยาลดกรดที่เป็นยาสามัญประจำบ้านแล้วไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุทันที เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะบางส่วน หรือเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดได้ 

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Viniol A et al., Studies of the symptom abdominal pain--a systematic review and meta-analysis (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24987023), October 2014
John W. Patterson and Elvita Dominique, Acute Abdomen (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459328/), 14 November 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)