แม้ว่าเราจะฝึกให้ลูกนอนหลับเองในเวลากลางคืน แต่บ่อยครั้งที่ลูกมักจะมีจินตนาการมากมายจนอาจจะเกิดความกลัวในสิ่งต่างๆ ในเวลาค่ำคืน ความกลัวเหล่านี้เกิดจากการที่ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเราในช่วงเวลากลางวัน ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องระมัดระวังในสิ่งที่จะกระตุ้นลูกๆ โดยเฉพาะภาพหรือเสียงที่ลูกได้ยิน รวมไปถึงความเครียดต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนที่ลูกจะเข้านอน
ความกลัวที่ 1 : กลัวความมืด
คุณพ่อคุณแม่ที่ให้ลูกหัดนอนในห้องที่ปิดไฟมาเสมอ และคอยระวังเรื่องภาพ เสียงต่างๆ ที่เด็กได้รับในช่วงเวลากลางวัน ปัญหานี้จะหมดไปค่ะ แต่โดยมากคนไทยมักจะปล่อยให้ลูกได้นั่งดูโทรทัศน์ด้วย แม้ว่าเด็กจะยังเล็กอยู่ แต่เด็กก็สามารถรับรู้จากภาพและเสียงได้ค่ะ การกระตุ้นจากโทรทัศน์อาจจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจผิด เกิดความกลัว หรือความเครียดได้ค่ะ ทางแก้คือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกและมั่นใจได้ว่าเขาปลอดภัยแม้ว่าจะอยู่ในความมืด พ่อแม่อาจจะเปิดไฟสลัวๆ ในห้องนอนลูก แต่ก็อาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีมากนัก แต่เมื่อเด็กเริ่มโตมากขึ้น เด็กก็จะสามารถปรับตัวได้เองค่ะ นอกจากนั้นควรที่จะระวังเรื่องสื่อจากโทรทัศน์ วิทยุต่างๆ ในช่วงเวลากลางวัน อย่าให้เด็กเห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่มีความรุนแรงก็จะช่วยลดความกลัวได้ค่ะ
ความกลัวที่ 2 : กลัวผี
จินตนาการเกี่ยวกับผีมักจะเกิดจากการกระตุ้นจากพ่อแม่ สื่อต่างๆ รวมถึงการอ่านนิทานต่างๆ หรือหลายครอบครัวมักจะหลอกเรื่องผีกับลูกเวลาที่ลูกดื้อ เช่น อย่าดื้อนะไม่อย่างนั้นเดี๋ยวผีจะมากินตับ ฯลฯ การแก้ไขปัญหาก็คือ เมื่อลูกรู้สึกกลัว ขอให้คุณพ่อคุณแม่รับฟังสิ่งที่เขาพูด อย่ามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จงสนใจในสิ่งที่เขาพูด ในสิ่งที่เขากลัว จากนั้นพ่อแม่ต้องพยายามแก้ไขหรือทำให้ลูกเข้าใจว่า คุณได้กำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไปแล้ว
ความกลัวที่ 3 : ผวาเพราะฝันร้าย
เด็กหลายคนตั้งแต่อายุ 2 - 5 ขวบเคยฝันร้าย หากลูกผวาตื่นในกลางดึกพร้อมเสียงร้องไห้อย่างดัง ขอให้คุณปลอบและให้ลูกนอนต่อในผ้าห่ม หากลูกฝันร้ายบ่อยๆ ลองให้ลูกอธิบายถึงความฝันของเขา การฟังอย่างตั้งใจและพยายามช่วยลูกแก้ไข หรือทำให้เขารู้สึกว่าต้นเหตุของฝันร้ายนั้นได้หายไปแล้ว จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าการที่มาบอกเด็กว่าฝันร้ายเป็นเรื่องไร้สาระ
นอกจากความกลัว 3 อย่างที่เขียนไว้ อาจจะมีความกลัวอื่นๆ อีกก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แต่โดยมากมักจะกลัวเพียงแค่ 3 อย่างนี้เท่านั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเตรียมตัวรับมือเอาไว้ก่อน เวลาที่ลูกร้องไห้เพราะความกลัวคุณจะได้มีวิธีปลอบใจลูกอย่างถูกวิธี