ว่านนางคำ (Wild Turmeric)

ว่านนางคำเป็นพืชสมุนไพร นอกจากสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคแล้ว ยังนิยมใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ช่วยในเรื่องความอ่อนเยาว์ของผิวอีกด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 3 เม.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ว่านนางคำ (Wild Turmeric)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ว่านนางคำเป็นไม้ล้มลุในวงศ์ขิง ลักษณะคล้ายขมิ้นชัน แต่มีกลิ่นหอมเย็นกว่า รวมถึงมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป
  • ว่านนางคำมีเหง้าใต้ดินสีน้ำตาลอมเทา ด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน ลำต้นที่งอกออกมาเป็นแง่งสามารถนำไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้ ลำต้นที่โผล่พ้นดินขึ้นมาเป็นกาบใบเรียงซ้อนกันเรียกว่าลำต้นเทียม
  • กาบใบมีสีเขียวอมขาว ยาว 20-30 เซนติเมตร มีใบเลี้ยงเด่ยวสีเขียวสดอยู่ใกล้ๆ กับราก 5-7 ใบ ยาว 40-70 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ประกอบด้วยใบสีชมพู ปลายใบเขียวอมขาว และมีดอกแทรกอยู่ในซอกใบ
  • รากของว่านนางคำ นำมาต้มน้ำดื่มช่วยให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ หัวว่านนางคำนำมาต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ท้องอืด ปัจจุบันนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบของครีมบำรุง มีส่วนช่วยผลัดเซลล์ผิว
  • พืชสมุนไพรไทยเป็นหนึ่งในสิ่งที่นิยมนำมาประยุกต์ใช้กับการนวดแผนไทยหรือนวดตัวคลายปวดเมื่อย เช่น นวดน้ำมันอโรม่า (ดูแพ็กเกจนวดตัวได้ที่นี่)

ว่านนางคำ เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สูงประมาณ 1 เมตร ศูนย์กลางการกระจายพันธ์ุอยู่ที่ทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหัวลักษณะคล้ายกับขมิ้นชัน แต่จะมีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกัน

โดยว่านนางคำจะมีกลิ่นหอมเย็นๆ มีรสฝาด ในขณะที่ขมิ้นชันมีกลิ่นหอมร้อนๆ และมีรสชาติเผ็ดปร่า

ด้วยสรรพคุณที่สามารถชะลอความเสื่อม ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อ และบรรเทาอาการต่างๆ ว่านนางคำจึงถูกนำมาใช้ทำเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว รวมถึงใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่ออื่นๆ ของว่านนางคำ มีอะไรบ้าง?

เนื่องจากกลิ่นที่หอมเย็น ว่านนางคำจึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma aromatica Salisb. ซึ่ง aromatica มาจากคำว่า aromatic ที่แปลว่ามีกลิ่นหอมนั่นเอง

ว่านนางคำมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์คือ Curcuma wenyujin Y.H.Chen & C.Ling, Curcuma zedoaria Roxb. และชื่อสามัญคือ Wild Turmeric

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของว่านนางคำ

ว่านนางคำมีหัวหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ภายนอกเป็นเปลือกหุ้มสีน้ำตาลอมเทา เนื้อด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน มีลำต้นแทงขึ้นมาจากหัว แตกแขนงออกเป็นแง่ง 2-5 อันเพื่อเติบโตเป็นลำต้นใหม่ จึงใช้แง่งนี้ไปปลูกเป็นหัวใหม่เพื่อขยายพันธ์ุ ส่วนคล้ายลำต้นที่เจริญขึ้นมาบนดินเป็นส่วนของกาบใบเรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม (Pseudostem)

กาบใบว่านนางคำมีสีเขียวอมขาว ยาว 20-30 เซนติเมตร เรียงตัวซ้อนกันแน่น จนมักมีผู้เข้าใจผิดว่านี่เป็นส่วนลำต้นของว่านนางคำ

ว่านนางคำมีใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวสด อยู่เป็นกระจุกบริเวณใกล้ๆ กับราก 5-7 ใบ แผ่นใบเรียบรูปหอก กว้าง 10-15 เซนติเมตร ยาว 40-70 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม มีขนปกคลุมด้านท้องใบ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน มีเส้นกลางใบ ขอบใบเป็นสีแดง

ว่านนางคำออกดอกเป็นช่อเชิงลด ลักษณะคล้ายดอกกระเจียว มักออกดอกก่อนที่ใบจะงอกจากหัว ช่อดอกยาว 5-8 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบประดับสีชมพู ปลายใบสีเขียวอมขาวเรียงซ้อนๆ กัน มีดอกแทรกอยู่ภายในซอกของใบประดับ กลีบดอกสีขาวอมชมพู ลักษณะแฉกกลางเป็นรูปไข่ แฉกข้างเป็นรูปขอบขนาน กลีบปากสีเหลืองเข้มเป็นรูปโล่แยกเป็น 3 แฉก

สรรพคุณของว่านนางคำมีอะไรบ้าง?

สรรพคุณของว่านนางคำสามารถแบ่งได้ตามส่วนและวิธีที่นำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้

1. ราก

นำมาต้มน้ำดื่ม

  • ช่วยให้เจริญอาการ
  • เป็นยาขับเสมหะ
  • รักษาโรคหนองใน

2. หัว

นำมาต้มน้ำดื่ม

  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • แก้อาการปวดท้อง
  • ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด แน่นท้อง
  • ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง

นำมาฝนหรือต้มน้ำเพื่อใช้ภายนอก

  • ต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง
  • ทารักษาอาการผื่นแพ้ทางผิวหนัง
  • ฝนให้ละเอียด ใช้โปะเพื่อรักษาแผลสด แผลติดเชื้อ เป็นหนอง
  • ผสมน้ำใช้ทาให้ผิวเต่งตึง ช่วยผลัดเซลล์ผิว
  • รักษาอาการคันศีรษะ รังแค กำจัดเหา อาจชะโลมทิ้งไว้ 30 นาทีก่อนล้างออก หรือใช้ร่วมกับแชมพูเพื่อสระผม

วิธีการใช้ว่านนางคำเพื่อสุขภาพ?

การนำว่านนางคำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพมีความนิยมแตกต่างกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ดังนี้

  • ในอดีต นิยมใช้หัวว่านนางคำมาตำบดให้ละเอียด พอกแก้อาการฟกช้ำ ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก โดยใช้เหล้า 40 ดีกรีเป็น กระสาย เชื่อว่าเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นก่อนที่จะใช้ยาต้องเสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” ทุกครั้ง
  • ปัจจุบัน นิยมใช้ว่านนางคำเป็นส่วนประกอบของครีมบำรุงผิว โดยมักนำมาใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น ไพล ขมิ้นชัน ใบบัวบก และพญายา นอกจากนี้ยังนิยมใช้ทำน้ำมันว่าน 108 เพื่อแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาแผลฟกช้ำ แผลสด และถูนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยอีกด้วย

งานวิจัยเกี่ยวกับว่านนางคำ

ตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับว่านนางคำ มีดังนี้

  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพบว่า สารสกัดจากว่านนางคำสามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียแกรมบวก (S. aureus) แบคทีเรียแกรมลบ (E. Coli) และเชื้อรา (C. albicans และ A. flavus) ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้บางตัวเป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง อาการท้องเสีย และเป็นเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    ข้อมูลจากการศึกษานี้สามารถนำไปต่อยอดในการใช้ว่านนางคำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาและบำรุงสุขภาพต่อไป
  • การศึกษาของ 2 กลุ่มงานวิจัย (Srivastava และคณะ ในปี 2009, Jarikasem และคณะในปี 2005) พบสารหลายตัวจากว่านนางคำ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และต้านการอักเสบ
  • การศึกษาเรื่อง Regulation of stem cell aging by SIRT1 ปี 2017 ของแผนก Department of Molecular and Human Genetics วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ สหรัฐอเมริกา พบว่า สารสกัดจากว่านนางคำเพิ่มสาร SIrtuin (SIRT1) เป็นสารที่สร้างในเซลล์ที่อ่อนเยาว์มากกว่าเซลล์ที่ชรา ยับยั้ง NF-KB ซึ่งเป็นสารเกี่ยวกับการอักเสบ และยับยั้งแบคทีเรีย

    ดังนั้นว่านนางคำจึงมีสรรพคุณชะลอความเสื่อม ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้อ เหมาะแก่การนำมาใช้ในเครื่องสำอางเพื่อหวังผลเรื่องความอ่อนเยาว์

ดูแพ็กเกจนวดตัว เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิชยา ไตรบุญ, การศึกษาโครงสร้างและฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสจากองค์ประกอบทางเคมีของเหง้าว่านนางคำ (http://bangkoklab.net/userfiles2/form-upload-file/36770/511d5e3f-56de-432d-b60a-3368de296acf/58-61.pdf), 2558.
บรรณาธิการ BLC i LETTER, ว่านนางคำกับการชะลอวัย (http://bangkoklab.net/userfiles2/form-upload-file/36770/511d5e3f-56de-432d-b60a-3368de296acf/58-61.pdf), มกราคม 2561.
นิตยา บุญทิม, ว่านนางคำ (https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=73).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)