การผลักดันให้นำ mouth to mouth ออกจากการทำ CPR นั้นยังคงมีข้อแย้งอยู่ในเรื่องของการฝึก CPR ในที่สุดแนวคิดดังกล่าวก็ลงตัวหลังจากหลายปีผ่านไป ตอนนี้ทาง American heart association แนะนำให้ทำ Hands-only CPR โดยข้ามขั้นตอนการช่วยหายใจสำหรับผู้ช่วยเหลือที่ไม่ได้รับการฝึกที่เห็นผู้ต้องการความช่วยเหลือล้มอยู่ตรงหน้า
ผู้ที่ได้รับการฝึกCPR ตามแบบดั้งเดิมมาหลายปีมักจะต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ผู้ให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ผู้ที่มีประกาศนียบัตรรับรองการฝึก CPR จนถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัยและแพทย์ห้องฉุกเฉิน ได้รับการฝึกการดูแลในภาวะฉุกเฉินแบบ ABC emergency care มาหลายสิบปี ซึ่งก็คือ
- Airway (ทางเดินหายใจเปิดโล่ง)
- Breathing (มีการหายใจ)
- Circulation (มีการไหลเวียนโลหิต)
ด้วยลำดับตามนี้
พวกเราได้รับการสอนให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยมีทางเดินหายใจเปิดโล่ง และหากผู้ป่วยไม่หายใจ ก็ให้หายใจเอาอากาศเข้าไปให้ผู้ป่วยด้วยวิธีปากประกบปาก (mouth to mouth) แต่หากผู้ป่วยไม่มีชีพจรหรือสัญญาณของการไหลเวียนโลหิต เราได้รับการสอนให้กดหน้าอกเพื่อส่งเลือดให้ไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกาย
การคิดแบบนั้นผิด การรู้ว่าร่างกายได้รับการออกแบบมาอย่างไรช่วยให้เห็นภาพว่าทำไมการทำ CPR แบบดั้งเดิมจึงเป็นกระบวนการย้อนกลับ
ทำไมเราจึงมุ่งเน้นไปยังการหายใจ ?
ทางเดินหายใจและการหายใจเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต ซึ่งนั่นไม่มีข้อสงสัยแน่ ๆ ข้อพิสูจน์นั้นอยู่ในสมอง ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดในสมองของเรามีศูนย์กลางอยู่ที่ก้านสมอง (brainstem) และที่เป็นพื้นฐานมากที่สุดคือต้องการหายใจ ถึงแม้ว่าสมองส่วนที่เหลือจะถูกทำลายไปหมดจากความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ แต่หนึ่งในหน้าที่ที่จะเป็นอย่างสุดท้ายที่สูญเสียไปคือการกระตุ้นการหายใจ
แม้แต่โครงสร้างที่ช่วยในการหายใจก็ยังได้รับการสร้างมาโดยมีการป้องกัน
เส้นประสาทที่ใช้ขยับกระบังลม ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ฐานของส่วนหน้าอกที่ใช้สำหรับหายใจ จะพบได้ที่ส่วนบนสุดของไขสันหลัง ดังนั้นพวกมันจะเป็นเส้นประสาทสุดท้ายที่ถูกทำลายหากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ เส้นประสาทเหล่านี้เป็นเส้นประสาทถูกทำลาย ในรายของ Chistopher Reeve ที่ตกม้า ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต
การมุ่งความสนใจของเราไปยังทางเดินหายใจนั้นไม่ผิด ซึ่งเราสามารถเดาได้จากร่างกายเอง โชคไม่ดีที่เราพลาดสิ่งสำคัญไป แม้ว่าการหายใจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สมองต้องทำ แต่สมองจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายเป็นหน้าที่ของหัวใจ ซึ่งหัวใจจะทำโดยที่ไม่ต้องสั่งด้วยซ้ำ
ทำไมหัวใจจึงมีความสำคัญมากกว่าสมอง
กล้ามเนื้อหัวใจของเราเป็นกล้ามเนื้อเดียวในร่างกายที่ไม่ต้องใช้การกระตุ้นจากภายนอกให้เกิดการหดตัว แต่สามารถหดตัวได้โดยอัตโนมัติ หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดเช่นเดียวกับที่สมองพยายามมุ่งไปยังการหายใจ เมื่อสมองสูญเสียหน้าที่ในการควบคุมการหายใจ หัวใจก็ยังคงสูบฉีดเลือดต่อไปจนกว่าจะหมดพลังงานโดยสมบูรณ์
ดังนั้น สมองทำให้อากาศผ่านเข้าออก ในขณะที่หัวใจทำให้เลือดยังคงไหลเวียนได้ ทั้งคู่ทำงานร่วมกันแต่เป็นอิสระต่อกัน หากสมองหยุดทำงาน หัวใจก็ยังทำงานต่อไปได้
แต่ในอีกทางหนึ่ง หากหัวใจหยุดทำงาน สมองก็จะหยุดทำงานไปด้วย
ทางด่วนสำหรับออกซิเจน
ระบบไหลเวียนโลหิต (หัวใจและเส้นเลือด) และระบบหายใจ (ปอดและทางเดินหายใจ) ทำงานร่วมกันเหมือนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อของร่างกายและกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์
กระแสเลือดก็คือทางด่วน โดยมีเส้นเลือดแดงหลักและเครือข่ายซอกซอยต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการจราจรทางเดียว ปอดเป็นเหมือนระบบขนถ่ายสินค้าขนาดยักษ์ ซึ่งส่งออกซิเจนออกมาและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไป
ลองจินตนาการถึงรถบรรทุกบนทางด่วน เป้าหมายของรถบรรทุกคือการบรรทุกเต็มเสมอและอยู่บนถนนตลอด การขนส่งสินค้าคือการหากินของเขา
เขาเพิ่งจะออกจากแหล่งขนถ่ายสินค้าโดยมีออกซิเจนบรรทุกมาเพียบ ไปยังแหล่งโรงงานที่ต้องการเชื้อเพลิง เขาจะขับรถผ่านจุดเชื่อมที่ใหญ่ที่สุดในระบบคือหัวใจ และใช้ถนนสาย aorta (หมายเหตุ ผู้แปล-เส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า) และหลังจากผ่านด่านเก็บค่าผ่านทาง เขาจะเลือกเส้นทางออกเป็นเส้นเลือดแดงแคโรทิด (carotid artery) เพื่อไปยังสมอง เมื่อเขาไปถึง เขาจะส่งออกซิเจนให้นิดหน่อย หรือเท่าไรก็ตามเท่าที่เซลล์สมองต้องการ และเอาขยะคาร์บอนไดออกไซด์กลับไป
ขณะนี้ เขากำลังกลับสู่ท่าขนถ่ายสินค้าโดยที่บรรทุกออกซิเจนเพียงบางส่วนและคาร์บอนไดออกไซด์อีกบางส่วน เขายังคงบรรทุกเต็มคันอยู่ เพียงแต่ส่วนผสมของสินค้าจะต่างกันนิดหน่อย เมื่อเขาไปถึงท่า เขาจะส่งคาร์บอนไดออกไซด์และเก็บเอาออกซิเจนสำหรับการเดินทางเที่ยวถัดไป
ปอดทำการหายใจ แลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปและเอาออกซิเจนใหม่เข้ามา ท่าขนส่งสินค้าพร้อมสำหรับรถบรรทุกที่จะกลับเข้ามาแล้ว หากมีปัญหาที่ท่า (ปอดไม่สามารถหายใจได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง) รถบรรทุกก็สามารถจะเดินทางไปได้อีกรอบด้วยสินค้าที่บรรจุไว้อยู่เดิม รถบรรทุกมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอสำหรับการเดินทางสองสามเที่ยว
โศกนาฏกรรมเกิดขึ้น
นาน ๆ ครั้งก็เกิดอุบัติเหตุที่จุดเชื่อม และทั้งระบบก็หยุดทำงาน ซึ่งหากพูดในเชิงร่างกายแล้ว การจราจรที่เป็นอัมพาตดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest)
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้การจราจรต่อเนื่องไปได้อีกครั้ง (สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย) การขนสินค้าเข้าท่า (การหายใจ) จะไม่ช่วยอะไรเพราะรถบรรทุกไม่สามารถจะกลับไปที่ท่าเพื่อเอาออกซิเจนได้ (เลือดไม่ไหลเวียน) จำไว้ว่ารถบรรทุกขนออกซิเจนไปในปริมาณที่เพียงพอต่อการเดินทางสองสามเที่ยว ยังไม่กล่าวถึงอีกว่ามีรถบรรทุกอีกมากมาย (เม็ดเลือดแดง และส่วนประกอบอื่นๆ ในเลือด) บนถนนเอออร์ต้า (และเส้นเลือดแดงใหญ่อื่น ๆ ) ที่ยังไม่มีโอกาสได้ส่งออกซิเจนเลยด้วยซ้ำ ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือทำให้มันเคลื่อนที่ไปได้
สุดท้าย: กดให้แรง และกดให้เร็ว
ระบบการขนส่งของร่างกายนั้นสำคัญที่สุด มันไม่ซับซ้อนเท่ากับสมอง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของส่วนอื่น ๆ โดยต้องทำการกดสองสามครั้งเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปได้ การหยุดกดหน้าอกเพื่อช่วยหายใจแบบประกบปากจะรบกวนการไหลเวียนของเลือด
งานวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประโยชน์ของการกดหน้าอกโดยไม่ต้องช่วยหายใจแบบประกบปาก ถึงแม้ว่ามันจะขัดกับทุกอณูในร่างกายของคุณที่เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก่าซึ่งได้ร่ำเรียนวิธีการ CPR โดยการช่วยหายใจมา คุณไม่มีทางที่จะเพิกเฉยต่อวิทยาศาสตร์ได้ การให้ความสนใจไปยังการกดให้เลือดไหลเวียนในระหว่างการทำ CPR มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับการทำให้อากาศเข้าสู่ร่างกายนั้นดูสมเหตุสมผลกว่ามาก