ทำอย่างไรเมื่อลูกกินยาก?

เข้าใจปัจจัยที่ทำให้ลูกกินยาก ปฏิเสธอาหาร กินไม่หมด เลือกกินแต่อาหารซ้ำๆ ไม่ลองอาหารใหม่ๆ พร้อมคำแนะนำเพื่อให้พวกเขากินง่ายกว่าเดิม
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ทำอย่างไรเมื่อลูกกินยาก?

ลูกกินยาก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากประมาณ 25-45% ในเด็กปกติ และจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 80% ในเด็กป่วยหรือพัฒนาการช้า บางกรณีขึ้นกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยด้วย โดยในเด็กเล็ก ยังไม่สามารถกินอาหารเองได้ ต้องอาศัยผู้เลี้ยงดูป้อนอาหาร ต่อมาเด็กจะเรียนรู้การกินอาหารด้วยตนเองได้เอง กระทั่งเมื่ออายุได้ประมาณ 1-3 ปีขึ้นไป จะเริ่มกินอาหารที่มีลักษณะของเนื้ออาหารหลากหลาย และการเคี้ยวเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีฟันมากขึ้น ประกอบกับเป็นวัยที่รักอิสระ และเริ่มเป็นตัวของตัวเอง วัยนี้จึงชอบการเล่นและเรียนรู้ ห่วงเล่นมากกว่ากิน ปัญหาอีกอย่างได้แก่ เด็กบางคนเลือกกินเฉพาะอาหารบางชนิดที่คุ้นเคยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหา ลูกกินยาก ได้

สาเหตุของปัญหาลูกกินยาก

1. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

ลูกกินยากอาจเกิดจากปัญหาเหล่านี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • มีการให้อาหารตามตารางมากกว่าตามความต้องการของเด็ก
  • เด็กดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน หรือกินขนมมากเกินไประหว่างมื้ออาหาร
  • ผู้ดูแลเด็กมีหลายคน ทำให้ไม่มีความสม่ำเสมอในการให้อาหารแก่เด็ก
  • มื้ออาหารสับสน ไม่มีระเบียบ หรือให้อาหารไม่เหมาะสมกับช่วงวัย
  • สถานที่กินอาหารไม่เหมาะสม เช่น หน้าโทรทัศน์ เกมคอมพิวเตอร์

2. ปัจจัยทางด้านตัวเด็ก

อาจเกิดจากตัวเด็กเองมีความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น

  • กล้ามเนื้อช่องปากของเด็กผิดปกติ
  • มีโรคทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการดูด กลืน เคี้ยวอาหาร
  • มีโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ
  • มีโรคหัวใจและปอด ทำให้เด็กมีอาการเหนื่อย
  • มีโรคทางระบบหู คอ จมูก ที่อาจทำให้เด็กสำลักเวลากลืนอาหาร
  • มีการแพ้อาหาร
  • มีความอยากอาหารน้อย ที่เกิดขึ้นจากการกินยาหรือเกิดขึ้นเอง
  • เด็กถูกทอดทิ้งหรือซึมเศร้า

3. ปัจจัยทางด้านผู้เลี้ยงดู

ผู้เลี้ยงดู ก็มีผลต่อการรับประทานอาหารของเด็กได้ เช่น

  • ผู้เลี้ยงดูตอบสนองไม่เหมาะสม ไม่รู้ว่าเด็กหิวหรืออิ่ม
  • บังคับให้เด็กกินเมื่อไม่หิว
  • ไม่อนุญาตให้เด็กกินเอง เนื่องจากกลัวเด็กทำเลอะเทอะ
  • ควบคุมเด็กระหว่างมื้ออาหารมากเกินไป เช่น ห้ามเลอะเทอะ ต้องกินให้หมด

หลากหลายปัญหาการกินที่พ่อแม่เป็นห่วง

ปัญหาเกี่ยวกับการกินของลูก ที่พ่อแม่มักพบเจอได้ มีดังนี้

  • ลูกปฏิเสธอาหาร เห็นได้ชัดเจนในวัยมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จะต่อต้านพ่อแม่ ไม่สนใจกินอาหาร เคี้ยวช้า อมข้าว บ้วนทิ้ง อาเจียน หรือร้องไห้ อาละวาด แต่มักจะมีน้ำหนักและส่วนสูงปกติ และพบว่าเด็กได้รับอาหารในปริมาณที่เพียงพอ แต่หากมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุทางกายเพิ่มเติม 
  • ลูกเลือกกิน กินได้ไม่กี่อย่าง   ลูกอาจเลือกไม่กินอาหารบางอย่างที่พ่อแม่เห็นว่าควรกิน เช่น ผัก อาหารเนื้อหยาบหรือแข็ง หากมีปัญหานี้อาจปรึกษาแพทย์เรื่องวิตามินเสริม
  • ลูกไม่ยอมกินเมนูอาหารใหม่ๆ ที่คุณแม่ปรุงให้ อาจทำให้คุณแม่เสียกำลังใจ ให้ลองให้ลูกชิมรสชาติทีละนิด หรือแบ่งเป็นคำเล็กๆ แตะที่ปลายลิ้นลูก ถ้ายังไม่ยอมกินก็ไม่ต้องบังคับ เนื่องจากอาจทำให้เด็กเกลียดอาหารนั้นๆ ไปเลย 
  • ลูกกินไม่หมดจาน ลูกมักจะกินเฉพาะตอนหิวและหยุดกินเมื่ออิ่มท้อง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล และไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินให้หมดจานทุกครั้งก็ได้

แนวทางแก้ไขปัญหาลูกกินยากโดยรวม

วิธีเหล่านี้อาจช่วยแก้ปัญหาลูกกินยากได้บ้าง

  1. พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรับผิดชอบการกินอาหารของตัวเอง ไม่แสดงความเดือดร้อนต่อการกินอาหารของเด็กมากนัก พยายามให้คำชมเชย และกำลังใจแทน พ่อแม่จะมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารไว้ให้และฝึกวินัยการกินอาหารตามคำแนะนำ หลีกเลี่ยงการบังคับ ลงโทษ เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้เด็กเกลียดอาหารชนิดนั้นๆ
  2. กรณีที่เด็กใช้วิธีเบี่ยงเบน ถ่วงเวลาการรับประทานอาหาร เช่น ดิ้น ร้องไห้ ต่อรอง พ่อแม่ไม่ควรตอบสนองด้วยการบังคับเด็ก โต้เถียง ลงโทษ หรืออ้อนวอนขอร้อง เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกควบคุมผู้ดูแลได้  ควรแสดงความเพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น แต่สนใจที่การรับประทานอาหารแทน หากเด็กคายอาหารออก ให้ป้อนอาหารเดิมซ้ำ แล้วบอกเด็กว่าการคายอาหารไม่ใช่วิธีที่จะหลีกเลี่ยงอาหารได้ และไม่ได้ผล
  3. ควรฝึกให้เด็กค่อยๆ คุ้นเคยกับอาหาร โดยดัดแปลงอาหารนั้นในรูปแบบต่างๆ เติมรสชาติ จัดหน้าตาให้ดูน่ารับประทาน ปรับลักษณะให้เนื้อนิ่มละเอียด ไม่แข็งหรือเหนียวเกินไป เพื่อให้เด็กเคี้ยวหรือกลืนได้ง่าย ป้อนคำเล็กๆ ก่อน หรือจัดอาหารนั้นๆ บนโต๊ะอาหารบ่อยๆ แล้วทำทีชักชวนให้เด็กลองกินทีละน้อยโดยไม่บังคับ
  4. ผู้ใหญ่ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง โดยการกินอาหารนั้นด้วยท่าทีที่แสดงความชอบ หรือลักษณะเชิงบวก
  5. พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนและเอาจริงในการปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ
  6. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารเท่าที่ทำได้

การป้องกันปัญหาลูกกินยาก

ปัญหาลูกกินยากสามารถป้องกันได้ ด้วยการฝึกหัดให้เด็กมีสุขนิสัยการกินที่ดี มีระเบียบวินัยตั้งแต่แรก และให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย และรับผิดชอบการกินอาหารของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อตนเองในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการฝึกระเบียบวินัยการกิน ซึ่งสามารถแนะนำตั้งแต่เด็กอายุ 15-18 เดือน มีดังนี้

  1. จัดเวลาอาหารให้สมาชิกทุกคนในบ้านนั่งร่วมโต๊ะพร้อมกัน ไม่เปิดโทรทัศน์ระหว่างมื้ออาหาร
  2. กำหนดเวลาการกินอาหารไม่ให้นานเกินไป ไม่ควรเกิน 30 นาที
  3. กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับมื้ออาหารให้เด็กปฏิบัติ เช่น ให้นั่งอยู่บนเก้าอี้จนอิ่ม ใช้ช้อนตักอาหาร ห้ามบ้วนอาหาร และมีการบอกเด็กให้ทราบกฎเกณฑ์ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลทุกครั้งที่เริ่มมื้ออาหาร จนกว่าเด็กจะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอ
  4. ตักอาหารให้เด็กในปริมาณแต่น้อยที่เด็กจะกินได้หมด แล้วค่อยตักเติมใหม่ แต่อย่าบังคับให้เด็กต้องกินให้หมดจาน
  5. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการสนทนาด้วย เวลาอาหารควรเป็นเวลาที่พูดแต่เรื่องดีๆ พูดชื่นชมเด็กถึงความดีที่เขาได้ทำ ต้องระวังที่จะไม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือตำหนิเด็กในขณะกินอาหาร
  6. ชมเด็กเมื่อปฏิบัติได้ตามกฎที่ตั้งไว้
  7. เมื่อเด็กไม่ปฏิบัติตามกฎ ควรเตือนให้เด็กได้แก้ไข แต่ถ้ายังคงฝืนกฎเป็นครั้งที่ 3 อาจใช้วิธีแยกเด็กไปอยู่ตามลำพังโดยไม่ให้ความสนใจเป็นเวลาชั่วขณะ
  8. เมื่อหมดเวลาที่กำหนด ให้เก็บโต๊ะอาหารโดยไม่ต้องสนใจว่าเด็กจะกินหมดแล้วหรือไม่ ไม่ต้องพูดอะไรอื่นอีกนอกจากบอกว่าหมดเวลาแล้ว
  9. ถ้าเด็กกินไม่หมด ไม่มีการให้อาหารหรือของว่างอื่นใดนอกจากน้ำเปล่าก่อนจะถึงมื้อถัดไป
  10. ถึงแม้ว่าเด็กจะกินได้ตามปกติ ก็ควรกำหนดอาหารว่างไม่ให้มีมากเกินไป เพราะถ้าเด็กกินอาหารเหล่านี้มากไปก็จะไม่หิวเมื่อถึงเวลาอาหารมื้อหลัก
  11. ถ้าเด็กปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องบอกกฎเกณฑ์เด็กอีกต่อไป อาจใช้วิธีทบทวนไม่ให้เด็กลืมกฎ ด้วยการชมเป็นระยะๆ เมื่อเด็กทำได้ตามกฎนั้นๆ

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รักลูกบุ๊กส์, หนังสือคู่มือพัฒนาการเด็ก (Children Developing Skills).
ศ. (เกียรติคุณ) พญ. ชนิกา ตู้จินดา, “บทที่ 10 อาหารสำหรับลูกที่โตขึ้น” หนังสือคู่มือเลี้ยงลูก.
ไพบูลย์ เอกแสงศรี เรืองวิทย์ ตันติแพทยางกูร, “ปัญหาการรับประทานอาหาร” E-book pediatric Nutrition (http://www.thaipediatrics.org/pages/Doctor/Detail/44/182).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)