ลูกไม่กินข้าว ทำอย่างไรดี ควรกินอาหารเสริมอะไรหรือไม่?

ลูกไม่กินข้าว ลูกเลือกกิน ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจ มาดูคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีทั้งวิธีปรับพฤติกรรม รับอาหารเสริม ไปจนถึงรับประทานยา หากจำเป็น
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ลูกไม่กินข้าว ทำอย่างไรดี ควรกินอาหารเสริมอะไรหรือไม่?

ลูกไม่กินข้าว เป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจและปวดหัวไม่น้อย คุณพ่อคุณแม่หลายท่านพยายามสรรหาเมนูอาหารหลากหลาย ตกแต่งจานอาหารให้น่ารับประทาน หาของที่ลูกชอบมาให้กิน แต่บางครั้งยิ่งพยายามอยากให้ลูกกินข้าวมากเท่าใด ลูกยิ่งกินยากขึ้นเท่านั้น

เด็กบางคนกินอาหารน้อย ไม่ยอมกินข้าว เลือกกินแต่สิ่งที่ชอบ จนกระทบต่อสุขภาพและการเจริญเติบโต คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกกินที่ตนต้องการได้

ลูกเลือกกิน ไม่ยอมกินข้าว เป็นเพราะอะไร?

ปัญหาการรับประทานอาหาร หรือลูกไม่กินข้าว เป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก

เพราะเด็กเล็กย้งต้องการให้คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูเป็นคนช่วยดูแล ป้อนอาหารให้อยู่

ผู้เลี้ยงดูมักอยากให้บุตรหลานได้กินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และหวังให้มีการเจริญเติบโตที่สมวัย

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่เข้าใจพัฒนาการหรืออุปนิสัยของเด็ก ร่วมกับมีความกังวลมากเกินไป อาจทำให้เกิดการบังคับและคะยั้นคะยอให้เด็กรับประทานอาหารมากขึ้น สุดท้ายก่อให้เกิดปัญหาการกินอาหาร เช่นลูกไม่กินข้าวได้

การที่เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และมีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารไม่เหมาะสมตามวัย ไม่ยอมกินข้าว ก่อให้เกิดปัญหาการรับประทานอาหารในเด็ก

ปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุอยู่ 2 ปัจจัย คือ

1. ลูกไม่กินข้าวด้วยปัจจัยจากตัวเอง

บางครั้งเด็กอาจมีภาวะทางกายหรือจิตใจบางอย่าง ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร เช่น

  • มีโรคทางกาย เช่น โรคภูมิแพ้จมูกหรือแพ้อาหาร หอบหืด ภาวะกรดไหลย้อน โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคระบบประสาท
  • มีภาวะบางอย่าง เช่น มีความอยากอาหารน้อย มีประสาทรับสัมผัสในช่องปากไวหรือช้ากว่าปกติ ทำให้ไม่ชอบกินอาหารที่เละๆ แต่ชอบอาหารกรอบๆ หรืออาจมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อช่องปากล้าช้า เช่น ยังมีน้ำลายไหลแม้โตขึ้น เคี้ยวอาหารไม่เก่ง มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เป็นเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์เลี้ยงยาก

2. ลูกไม่กินข้าวด้วยปัจจัยจากผู้เลี้ยงดู

การตอบสนองที่ไม่เหมาะสมของผู้เลี้ยงดูต่อเด็ก จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน และนำมาซึ่งปัญหาการรับประทานอาหารได้ เช่น

  • การเลี้ยงดูแบบเผด็จการ ผู้เลี้ยงดูต้องการควบคุมเด็ก บังคับ ขู่เข็ญ ไม่รับฟังความต้องการของเด็ก เช่น อยากให้ลูกกินอาหารที่ตนเตรียมไว้ แต่เด็กไม่อยากกิน ก็บังคับให้กิน โดยไม่สนใจว่าเด็กไม่หิวหรือยังไม่ต้องการ ในช่วงแรกเด็กอาจยอมทำตาม แต่หลังจากนั้นจะเกิดภาวะต่อต้านมากขึ้น
  • การเลี้ยงดูแบบตามใจ ผู้เลี้ยงดูมักตามใจเด็ก ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เด็กอยากกินอะไรก็ป้อนให้กินตลอดเวลา กินจุบจิบ กินเฉพาะอาหารที่ชอบ เวลาเด็กปฏิเสธไม่ยอมกินก็ไม่บังคับ และไม่พยายามให้เด็กลองของใหม่ๆ ทำให้เด็กไม่ได้รับประทานอาหารที่ควรจะได้ตามความเหมาะสม
  • การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ผู้เลี้ยงดูไม่สนใจว่าเด็กต้องการอะไร ไม่มีสนใจว่าจะหิวหรือไม่หรือควรได้รับประทานอาหารชนิดไหน มักให้อาหารแบบไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวน้อยและปัญหาทางอารมณ์ตามมาได้

ดังนั้นหากลูกไม่กินข้าว หรือเลือกกินอาหาร อาจต้องประเมินทั้งปัจจัยจากตัวเด็กและปัจจัยการเลี้ยงดูเป็นสำคัญว่าเกิดจากสาเหตุใด และให้การช่วยเหลือต่อไป

ลูกไม่กินข้าว กินแต่ผลไม้ อาหารเส้นๆ ควรทำอย่างไร?

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยตัวเด็ก อาจเกิดจากการที่เด็กมีประสาทรับสัมผัสในช่องปากที่ไวเกิน บางคนไม่ชอบลักษณะผิวสัมผัสของเมล็ดข้าว หรือติดรสชาติความหวานของผลไม้ ทำให้เด็กเลือกกินอาหาร

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรให้การช่วยเหลือดังนี้

  1. ให้อาหารที่เด็กไม่ชอบทีละน้อยๆ ในปริมาณที่เด็กรับได้อย่างสม่ำเสมอ แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น
  2. สร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างการรับประทานอาหาร ไม่บังคับขู่เข็ญ
  3. ให้รางวัล คำชมเชยเมื่อเด็กรับประทานอาหารนั้นๆ ได้

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรปรับการเลี้ยงดู โดยตอบสนองต่อความต้องการลูกอย่างเหมาะสม รับฟังลูก และมีความยืดหยุ่น

อนุญาตให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองเวลากินอาหาร รอคอยให้ลูกหิวค่อยให้อาหารกิน และไม่คาดหวังกับเด็กมากเกินไป เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

ลูกไม่กินข้าว ไม่สนใจกินอาหาร ติดเล่น กินน้อย ควรทำอย่างไร?

หากสังเกตว่าลูกไม่กินข้าวเพราะสาเหตุข้างต้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. รอให้ลูกหิว แล้วค่อยให้ลูกกินอาหาร ควรให้อาหารเป็นมื้อๆ หลีกเลี่ยงการให้กินขนมจุบจิบหรืออาหารอื่นๆ ระหว่างมื้อ ยกเว้นน้ำเปล่า
  2. ไม่ป้อนอาหารหรือขนมลูกบ่อย ๆ
  3. ดูแลไม่ให้เวลารับประทานอาหารนานเกิน 30 นาทีต่อมื้อ
  4. ไม่เปิดหน้าจอโทรศัพท์หรือโทรทัศน์ระหว่างรับประทานอาหาร
  5. ให้อาหารที่มีพลังงานสูงและสารอาหารครบถ้วน โดยเพิ่มอาหารกลุ่มไขมัน เช่น อาหารทอด (ไก่ทอด หมูทอด ข้าวผัด เป็นต้น) หรือเติมน้ำมันเล็กน้อยในอาหาร
  6. สร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างรับประทานอาหาร
  7. ไม่บังคับหรือขู่เข็ญให้ลูกกินอาหารที่เราเตรียมไว้จนเกินไป
  8. ให้อาหารหลากหลายชนิดและหลายรูป แบบเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเบื่ออาหารของเด็ก
  9. เปิดโอกาสให้ลูกได้กินอาหารเอง
  10. ติดตามน้ำหนักและการเจริญเติบโตของลูกอย่างสม่ำเสมอ

ลูกไม่กินข้าว กินอาหารน้อย ควรให้อาหารเสริมลูกหรือไม่ และให้อย่างไรดี?

ลูกกินอาหารน้อย ไม่ค่อยอยากอาหาร ทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักไม่ขึ้นเท่าที่ควรหรือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้

นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเสริมนม เช่น นมกลุ่มที่มีพลังงานสูง (Pediasure®, NutriniDrink® เป็นต้น) ให้เป็นอาหารเสริมแก่ลูก ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ลูกควรต้องได้รับอาหารหลักให้ครบ 3 มื้อต่อวัน และอาหารว่างวันละ 1-2 มื้อต่อวันอยู่

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจพยายามหาซื้อวิตามินเสริมให้ลูกรับประทาน เพื่อหวังผลให้ลูกอยากอาหารและช่วยเพิ่มน้ำหนักตัว

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้มีข้อบ่งชี้จากแพทย์ที่ชัดเจนว่าควรได้รับวิตามินเสริม การได้รับวิตามินที่มากเกินไปอาจเกิดพิษและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการซื้อวิตามินให้ลูกกิน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องและปลอดภัยก่อนตัดสินใจเลือกซื้อเสมอ

มียาเพิ่มความอยากอาหารของลูกหรือไม่?

เมื่อลูกไม่อยากกินข้าว หรือมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าว

หากคุณพ่อคุณแม่ได้รับคำแนะนำและลองปรับพฤติกรรมตามที่แพทย์แนะนำแล้วยังพบว่าลูกมีน้ำหนักขึ้นไม่ดีเท่าที่ควร ทางการแพทย์มียาที่ช่วยเพิ่มความอยากอาหารและสามารถนำมาใช้ได้ เช่น ยา ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine)

โดยมีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ยานี้สามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักหลังกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ และทำให้การรับประทานอาหารดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา เพื่อให้คำแนะนำและติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา

คำแนะนำอื่นๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อลดปัญหาลูกกินยาก

นอกเหนือจากคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาลูกไม่กินข้าวแต่ละแบบข้างต้น ยังมีคำแนะนำอื่นๆ เพื่อให้ลูกกินง่าย ได้รับสารอาหารหลากหลายกว่าเดิม ดังนี้

  1. จัดให้ลูกรับประทานอาหารร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอย่างสม่ำเสมอ
  2. หลีกเลี่ยงการบังคับหรือโต้แย้งกันเรื่องการกินอาหาร
  3. อย่าใช้การให้อาหารลูกเป็นรางวัล เพราะเรื่องการกินอาหารเป็นเรื่องที่ควรฝึกอย่างสม่ำเสมอ
  4. ให้อาหารที่หลากหลายรูปแบบและหลากหลายรสชาติ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ รวมทั้งให้กินผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ
  5. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร เช่น เลือกซื้ออาหารที่ชอบ จัดจานตกแต่งอาหาร ช่วยเตรียมเครื่องปรุงและส่วนผสมอาหาร เป็นต้น
  6. กระตุ้นให้ลูกกินและยอมรับอาหารที่ไม่ชอบ โดยค่อยๆ ให้อาหารที่ลูกปฏิเสธในรูปแบบที่ลูกชอบ เช่น ถ้าลูกกินกล้วยและกินของทอดได้ แต่ไม่กินมันต้ม ให้ลูกกินกล้วยทอด แล้วค่อยให้ลูกลองกินมันทอด แล้วค่อยกินมันต้ม เป็นต้น

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Iranian Journal of Pediatrics, Beneficial Effect of Cyproheptadine on Body Mass Index in Undernourished Children: A Randomized Controlled Trial (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4442838/), 12 December 2014.
Healthy Children, 10 Tips for Parents of Picky Eaters (https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/toddler/nutrition/Pages/Picky-Eaters.aspx), 26 April 2018.
พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก, ปัญหาการรับประทานอาหารในเด็ก.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)