การตัดฝีเย็บ (Episiotomy) เป็นหัตถการที่ทำให้ช่องคลอดกว้างมากขึ้นระหว่างการคลอดบุตร โดยจะมีการฉีดยาชาเข้าไปที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อระหว่างช่องคลอดและทวารหนัก ในกรณีที่ไม่ได้ใช้วิธีการระงับความรู้สึกวิธีอื่น ก่อนจะทำการตัดผิวหนังเล็กๆ บริเวณตรงกลางหรือเฉียงออกจากตรงกลางเล็กน้อย หลังจากคลอดบุตรและคลอดรกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะเย็บบริเวณที่ตัดเข้าด้วยกัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สาเหตุของการตัดฝีเย็บ
แม้จะมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการคลอดที่ไม่มีการตัดฝีเย็บ เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่มีบางภาวะที่อาจจะจำเป็นต้องทำการตัดฝีเย็บ เช่น
- หัวหรือไหล่ของทารกมีขนาดใหญ่กว่าความกว้างของช่องคลอด
- ผู้ป่วยหรือทารกอยู่ในภาวะไม่คงที่ และต้องการคลอดอย่างรวดเร็ว
- ทารกไม่กลับหัวและมีภาวะแทรกซ้อน
- มารดาไม่สามารถหยุดเบ่งหรือเบ่งให้ช้าลงได้
- ต้องใช้เครื่องมือใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อช่วยในการคลอดทารก
ความเสี่ยงในการตัดฝีเย็บ
การตัดฝีเย็บอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น
- การติดเชื้อ
- แผลฉีกขาดขนาดใหญ่จากการตัดที่อาจเข้าสู่ทวารหนัก
- มีเลือดออกหรือมีก้อนเลือดอยู่ในบริเวณที่มีการตัดฝีเย็บ
- รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- รู้สึกเจ็บบริเวณรอบอวัยวะเพศ
อย่างไรก็ตาม มีหลายวิธีที่สามารถลดความเสี่ยงของการตัดฝีเย็บได้ ดังนี้
- ฝึกการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเชิงกราน
- นวดผิวหนังบริเวณรอบอวัยวะเพศ 6 สัปดาห์ก่อนกำหนดคลอด
- เข้าชั้นเรียนการคลอดลูก เพื่อเรียนรู้วิธีการควบคุมการหายใจและการเบ่งระหว่างคลอด
การดูแลรักษาแผลตัดฝีเย็บ
หลังจากที่แพทย์เย็บผิวหนังที่ตัดออกกลับไปเป็นดังเดิมแล้ว ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น
- ให้ประคบเย็นทันทีหลังคลอด เพื่อให้เลือดหยุดไหลและลดอาการบวมของแผล
- หากรู้สึกปวดบริเวณบาดแผล สามารถใช้ยาแก้ปวดเช่น Ibuprofen หรือยาชาเฉพาะที่แบบสเปรย์
- หลังคลอด 24 ชั่วโมง ให้อาบน้ำอุ่น หรือประคบอุ่นที่บาดแผล และควรดูแลให้แผลแห้งอยู่เสมอ
- ควรรออย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังเย็บบาดแผล ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมที่อาจทำให้แผลที่เย็บไว้แยกออก เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด มีเพศสัมพันธ์หรือสวนล้างช่องคลอด