กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ตาบอดสีคืออะไร เกิดจากอะไร กิจกรรมใดที่คนตาบอดสีไม่ควรทำ

เผยแพร่ครั้งแรก 9 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 2022 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ตาบอดสีคืออะไร เกิดจากอะไร กิจกรรมใดที่คนตาบอดสีไม่ควรทำ

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจและยังเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้สำหรับการมองเห็นอีกด้วย เคยสังเกตหรือไม่ว่าทำไมเราจึงสามารถพบเห็นวัตถุหรือสื่อต่างๆ ได้ครบทุกสีสัน ช่วยทำให้คุณรู้สึกดีและประทับใจในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่ามีหลายคนที่ไม่สามารถมองเห็นสีสันได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นอาการที่เราเรียกกันว่า “ตาบอดสี” นั่นเอง  จนทำให้การใช้ชีวิตนั้นดูจะไม่สมบูรณ์สักเท่าไรนัก โดยอาการของผู้ที่ตาบอดสีมักจะไม่สามารถมองเห็นสีเขียว สีเหลือง สีส้มและสีแดงได้อย่างชัดเจน และในบางรายอาจจะมีอาการตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia) แต่พบได้น้อยมาก

ตาบอดสี คืออะไร แบ่งออกได้กี่ชนิด?

ตาบอดสี (Color blindness) คือความผิดปกติของสายตาที่ทำให้มองเห็นสีบางสีผิดไปจากปกติ ซึ่งเกิดจากความปกติของเซลล์รับรู้การเห็นสี (Photo receptor cell) โดยจะต้องผ่านการทดสอบสายตาเพื่อทำการยืนยันรูปแบบของตาบอดสีว่า บอดสีอะไร และบอดสีมากน้อยเพียงใด ตาบอดสีนั้นไม่ใช่อาการของคนที่ไม่สามารถมองเห็นสีนั้นๆ ได้ ว่ากันง่ายๆ คือหากคุณตาบอดสีแดง เมื่อเห็นวัตถุที่มีสีแดง สีแดงนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นสีอื่นที่ไม่ตรงกับสีแดง ตาบอดสีมักจะพบได้มากที่สุดกับผู้ชาย โดยพบผู้ชายมีอาการตาบอดสีประมาณ 8% ของประชากรทั้งหมด แต่พบในผู้หญิงได้เพียงประมาณ 0.4% เท่านั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการตาบอดสี แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด โดยแบ่งไปตามสาเหตุได้ดังนี้

1. ภาวะตาบอดสีชนิดเกิดแต่กำเนิด

เป็นภาวะถ่ายทอดทางพันธุกรรมจาก X chromosome (โครโมโซม) ของฝ่ายแม่/ฝ่ายหญิง จากการวิจัยทำให้พบว่าตาบอดสีแต่กำเนิดจะมีอาการบอดสีแดง หรือพร่องสีแดง บอดสีเขียวหรือพร่องสีเขียว เป็นส่วนมาก

2. ตาบอดสีที่เกิดในภายหลัง

เกิดจากความผิดปกติของการเห็นสีที่เกิดในภายหลัง ซึ่งมักจะเกิดจากสาเหตุของโรคจอตา หรือประสาทตา รวมไปถึงการสูญเสียเซลล์รูปกรวยชนิดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลือง และโรคของประสาทตามักสูญเสียการมองเห็นสีแดง-เขียว ซึ่งนอกจากมองเห็นสีผิดไปแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีสายตาหรือลานสายตาที่ผิดปกติด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาบอดสี

โดยปกติแล้ว ดวงตาจะประกอบไปด้วยเซลล์หลังจอตา 2 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของร่างกายที่ทำหน้าที่ในการแยกสีต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในสายตาของเรา เซลล์ชนิดแรกคือ เซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) ที่มีความไวต่อการรับแสงในที่มืด ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืนและเป็นสีโทนดำ ขาว และเทาเท่านั้น เซลล์อีกชนิดหนึ่งคือ เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) ที่มีความไวในการรับแสงที่สว่างกว่า ทำให้สามารถแยกแสงสีต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เซลล์รูปกรวยนี้เองถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถแยกชนิดของสีต่างๆ ในระหว่างการมองเห็นได้ ด้วยการส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อทำการแยกสีและการผสมของแสงสีต่างๆ ทำให้สามารถมองเห็นวัตถุต่างๆ หรือสื่อต่างๆ ด้วยสีสันที่ครบถ้วน และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการตาบอดสีได้นั้นก็มีด้วยกันหลายสาเหตุ แต่มักจะพบว่าเกิดจากความผิดปกติของยีนส์ในร่างกายเสียเป็นส่วนใหญ่

วิธีการทดสอบตาบอดสี

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตนเองมีความผิดปกติในการมองเห็นสี สามารถเข้ารับการทดสอบตาบอดสีได้ด้วยวิธีการทดสอบทางสายตา นั่นก็คือ การเข้ารับการตรวจและปรึกษากับจักษุแพทย์ ซึ่งทางด้านจักษุแพทย์จะทดสอบผ่านเครื่องมือการตรวจโรคตาบอดสี ได้แก่ แผ่นภาพ Ishihara Chart ซึ่งถือเป็นวิธีทดสอบสียอดนิยม เป็นลักษณะของแผ่นภาพที่มีจุดวงกลมวงใหญ่และมีจุดวงกลมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยตัวเลขและสีที่ถูกซ่อนอยู่แตกต่างกัน จากนั้นจะให้ผู้เข้าทดสอบทำการดูที่ภาพและแยกสี ตลอดจนการอ่านตัวเลข หากเกิดความสับสนและไม่สามารถบอกตัวเลขบนภาพได้ แสดงว่าคุณมีอาการตาบอดสีซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีอาการตาบอดสีแบบใด เพื่อทำให้สามารถหาวิธีรักษาได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้นต่อไป

กิจกรรมที่ผู้ป่วยตาบอดสีไม่ควรทำ

ผู้ป่วยตาบอดสีถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรทำกิจกรรมใดๆ ที่มีอาชีพที่เกี่ยวกับการแยกแยะสีสันโดยตรง เช่น การขับรถ เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามารถแยกแยะสีบนสัญญาณจราจรได้ อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุกับตัวเองหรือคนอื่นได้ กิจกรรมเกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ การตกแต่งหรือทาสีผนังห้อง และการเลือกซื้อของที่จำเป็นต้องเลือกสีสันเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีอาชีพอื่นๆ เช่น กราฟฟิคดีไซน์ เจ้าหน้าที่ห้องตรวจสารเคมี ตำรวจ นักดับเพลิง หรือช่างถ่ายรูป เนื่องจากผู้ป่วยตาบอดสีจะไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่

สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าตนเองมีอาการตาบอดสี ควรจะต้องได้รับการดูแลจากคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรเข้าตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยหาสาเหตุของอาการตาบอดสีและเลือกใช้วิธีรักษาหรือบรรเทาอาการตาบอดสีที่เหมาะสมที่สุด แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องวิตกกังวลในการใช้ชีวิตจนเกินไป เพราะคุณยังสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนและยังสามารถประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถในการมองเห็นสีได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

รีวิว ตรวจตาบอดสี ที่ โรงพยาบาลยันฮี | HDmall


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Colour vision deficiency (colour blindness). NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/colour-vision-deficiency/)
Color Blindness. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/colorblindness.html)
Color Blindness: How It Happens and What Causes It. WebMD. (https://www.webmd.com/eye-health/color-blindness#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)