ปัสสาวะขุ่น บ่งบอกโรคอะไร?

ปัสสาวะขุ่น มีตะกอนสีขาว เยื่อขาว เศษขาวๆ มีฟอง กลิ่นแรง โดยเฉพาะตอนเช้า ปกติไหม หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปัสสาวะขุ่น บ่งบอกโรคอะไร?

ปัสสาวะสามารถสะท้อนระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ เนื่องจากปัสสาวะเป็นตัวลำเลียงของเสียเพื่อขับออกจากร่างกาย โดยปกติแล้ว ผู้ใหญ่ที่มีภาวะสุขภาพปกติจะปัสสาวะในตอนกลางวัน 4-6 ครั้ง และปัสสาวะตอนกลางคืนหลังนอนหลับ 0-1 ครั้ง ปัสสาวะที่ขับออกมาจะมีสีเหลืองอ่อนใส ไม่มีกลิ่นเหม็น ขณะถ่ายปัสสาวะจะไม่รู้สึกติดขัด หรือมีอาการเจ็บปวดใดๆ ทั้งสิ้น การประเมินความผิดปกติของปัสสาวะสามารถประเมินได้ด้วยตาเปล่า เช่น การสังเกตความถี่ในการปัสสาวะ สีของปัสสาวะ กลิ่นปัสสาวะ อาการติดขัดหรือปวดแสบเมื่อถ่ายปัสสาวะ นอกจากการสังเกตด้วยตาเปล่าแล้ว ยังสามารถตรวจความผิดปกติของปัสสาวะได้จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสามารถตรวจสอบค่าความถ่วงจำเพาะ ภาวะกรด-ด่าง ปริมาณกลูโคส โปรตีน ยูเรีย เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์เม็ดเลือดขาว

อย่างไรก็ตาม การสังเกตและพบความผิดปกติของปัสสาวะเป็นเพียงอาการแรกเริ่ม ซึ่งเมื่อเกิดแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุของความผิดปกติด้วยการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม ถูกต้อง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ปัสสาวะ ผิดปกติ

อาการผิดปกติของปัสสาวะที่พบบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะมีลักษณะขุ่น มีตะกอนสีขาว เยื่อขาว เศษขาวๆ มีฟอง มีกลิ่นแรง โดยเฉพาะในตอนเช้า แต่ละอาการอาจมีสาเหตุดังนี้

  • ความผิดปกติของสีปัสสาวะ ลักษณะของสีปัสสาวะที่มีความขุ่น มีตะกอน อาจเป็นความผิดปกติจากการมีโปรตีนมากในปัสสาวะ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง กรวยไตอักเสบ หรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สำหรับปัสสาวะที่ถ่ายใส่ภาชนะแล้วตั้งทิ้งไว้นานๆ อาจขุ่นได้ เนื่องจากปัสสาวะเป็นอาหารที่ดีสำหรับแบคทีเรีย แบคทีเรียจึงเจริญและเติบโตขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัสสาวะขุ่น สาเหตุความขุ่นอีกอย่างคือ แบคทีเรียจะเปลี่ยนยูเรียในปัสสาวะให้เป็นแอมโมเนีย ซึ่งแอมโมเนียจะทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง ด่างก็จะช่วยให้สารบางอย่างในปัสสาวะตกตะกอน เช่น ฟอสเฟต ยูเรต ซึ่งทำให้ปัสสาวะขุ่นได้ นอกจากนี้ความขุ่นของปัสสาวะยังอาจเกิดจากอาหารและยา ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกตะกอนของสารบางชนิดได้เช่นเดียวกัน
  • กลิ่นของปัสสาวะ โดยปกติเมื่อปัสสาวะใหม่ๆ จะไม่มีกลิ่นชัดเจน แต่ถ้าทิ้งไว้นาน สารยูเรียในปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นแอมโมเนีย หากพบว่าปัสสาวะใหม่ๆ แล้วมีกลิ่นแรง อาจแสดงถึงการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือภาวะไตทำงานผิดปกติ โดยปัสสาวะที่ถ่ายออกมาหลังตื่นนอนตอนเช้าก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำใดๆ จะเป็นปัสสาวะที่มีความเข้มข้นมากที่สุด ดังนั้น อาจรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นแรงมากกว่าช่วงอื่นๆ ของวัน
  • อาการปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากมีโปรตีนปัสสาวะปริมาณสูงมาก พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย หรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 

การรักษาความผิดปกติของปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ในผู้ป่วยที่มีลักษณะผิดปกติของปัสสาวะ เช่น สีปัสสาวะผิดปกติจากการรับประทานอาหารหรือยาบางชนิด เมื่อหยุดรับประทานอาหารหรือยาเหล่านั้นร่วมกับดื่มน้ำในปริมาณมากๆ (หากไม่มีข้อห้าม) ความผิดปกติของปัสสาวะนั้นก็จะหายไป แต่ถ้าความผิดปกติของปัสสาวะนั้นเกิดจากการติดเชื้อ เช่น มีลักษณะขุ่น มีกลิ่นเหม็น แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 5-7 วัน และแนะนำให้ดื่มน้ำประมาณ 8-12 แก้ว (หากไม่มีข้อห้าม) 

ขั้นตอนในการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคจากปัสสาวะอาจเกิดความผิดพลาดได้ หากการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจกระทำอย่างไม่ถูกต้อง โดยขั้นตอนในการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจอย่างถูกต้อง มีดังนี้

  1. ก่อนที่จะเก็บปัสสาวะ ควรจะต้องทราบเสียก่อนว่าจะเก็บเพื่อตรวจหาอะไร เช่น หากต้องการดูสี ควรงดอาหารและยาที่ทำให้เกิดสีก่อนสักวันสองวัน
  2. ก่อนถ่ายปัสสาวะเพื่อเก็บตรวจ ควรล้างอวัยวะที่จะถ่ายให้สะอาด หรือจะใช้สำลีชุบน้ำเช็ด ถ้าเป็นหญิงต้องเช็ดจากหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากช่องคลอดหรือทวารหนัก
  3. ควรเก็บปัสสาวะที่ถ่ายออกมาครั้งแรกเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ก่อนกินอาหารหรือน้ำใดๆ เพราะมีความเข้มข้นมากที่สุด
  4. ควรเก็บปัสสาวะระยะกลางๆ ของการถ่ายมาดู ระยะนี้ปัสสาวะออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ ส่วนระยะเริ่มแรกถ่ายกับตอนสุดท้ายที่ขมิบ ควรจะใช้ภาชนะแยกอีกหนึ่งใบหรือสองใบรองไว้ บางครั้งความขุ่นอาจปนเปื้อนมาจากช่องคลอด ไม่ได้เกิดจากความขุ่นของปัสสาวะก็ได้
  5. ควรส่งตรวจปัสสาวะทันทีที่ถ่ายเสร็จใหม่ๆ ภายใน 3 ชั่วโมง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นาน ลักษณะของปัสสาวะอาจแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ส่งผลให้มีการแปลผลคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ. สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย.
Porraphat Jurakat. ปัสสาวะบอกโรค. มูลนิธิหมอชาวบ้าน (www.thaihealth.or.th), สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562
นพ. ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล. ปัสสาวะบอกโรคและการขับพิษทางปัสสาวะ. หมอชาวบ้าน. (www.doctor.or.th/article/detail/3045), สืบค้น 13 มิถุนายน 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)