ไหล่หลุดเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 26 มิ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ไหล่หลุดเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

แม้ว่ากระดูกและข้อต่อต่างๆ ในร่างกายคนเราจะมีความแข็งแรง แต่ก็มีโอกาสที่จะแตกหักหรือหลุดได้ง่ายหากได้รับการกระทบกระทั่งแรงๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับกระดูกและข้อต่อที่สำคัญในร่างกาย ซึ่งเราก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการไหล่หลุด เพื่อให้ความรู้และเป็นแนวทางในการรับมือกับภาวะอันตรายที่เกิดขึ้นมาฝาก ศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้กันได้เลยค่ะ

รู้จักกับรูปร่างของข้อไหล่

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น อันดับแรกต้องมาทำความรู้จักกับรูปร่างของไหล่ก่อน โดยข้อไหล่ของคนเรานั้นจะมีลักษณะคล้ายกับลูกกอล์ฟที่ตั้งอยู่บนที ซึ่งลูกกอล์ฟก็คือหัวกระดูกต้นแขนและทีก็คือเบ้ากระดูกสะบัก นอกจากนี้ก็จะมีลักษณะเป็นแอ่งตื้นๆ เนื่องจากมีขอบกระดูกอ่อนต่อจากข้อไหล่ขึ้นไปเล็กน้อยเพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรงและมีความลึกของเบ้าพอสมควร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของอาการไหล่หลุด

ไหล่หลุดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพราะอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อไหล่ถูกกระแทกอย่างรุนแรง เป็นผลให้ข้อไหล่เลื่อนหลุดออกมา เช่น การหกล้ม การปะทะกันในขณะเล่นกีฬารวมถึงการถูกฉุดแขนแรงๆ นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้เอ็นรอบข้อไหล่หลวมกว่าปกติ จึงทำให้ไหล่หลุดออกมาได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปอีกด้วย โดยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ออาการไหล่หลุดมากที่สุด ก็คือกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ที่ชอบเล่นกีฬาบ่อยๆ นั่นเอง

อาการที่เกิดขึ้น

เมื่อข้อไหล่หลุดไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

  • มีอาการปวดไหล่หรือแขนอย่างรุนแรงและไม่สามารถขยับแขนได้ เนื่องจากข้อไหล่ที่หลุดออกมาจากเบ้าจึงไม่สามารถบังคับการเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ
  • อาจมีอาการแขนชาร่วมด้วยในบางราย ซึ่งเกิดจากการที่เส้นประสาทบริเวณข้อไหล่ได้รับการกระทบกระเทือน โดยกรณีนี้ถือว่ารุนแรงมาก ควรรีบรักษาโดยด่วนเพราะการที่เส้นประสาทได้รับความเสียหาย อาจส่งผลให้เป็นอัมพฤต อัมพาตได้

แนวทางในการรักษา

สำหรับวิธีการรักษา จะทำโดยการขยับข้อไหล่ให้เข้าที่ดังเดิมพร้อมกับการทำกายภาพบำบัด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อไหล่เคยหลุดครั้งหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติและแข็งแรงดังเดิมได้ ผู้ป่วยจึงมีโอกาสเสี่ยงไหล่หลุดได้อีก จึงต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้

  • แพทย์ให้ยาระงับอาการปวด เพื่อให้อาการทุเลาลงและไม่เจ็บปวดมากนักในขณะทำการรักษา
  • ตรวจว่าข้อไหล่หลุดไปทางไหน และทำการดึงให้เข้าที่ จากนั้นก็จะยึดตรึงข้อไหล่ไว้ด้วยผ้าคล้องแขนประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจนมั่นใจว่าข้อไหล่ติดดีแล้ว
  • ให้ผู้ป่วยเริ่มทำกายภาพบำบัด โดยการบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ โดยอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยแคลเซียม เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้ฟื้นฟูเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงโอกาสที่ข้อไหล่จะหลุดในครั้งต่อไป

ข้อควรระวังเมื่อข้อไหล่หลุด

เนื่องจากข้อไหล่เป็นส่วนสำคัญของร่างกายและมีเส้นประสาทมากมายอยู่ในบริเวณนี้ จึงควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีอาการข้อไหล่หลุด เพราะหากพลาดเพียงนิดเดียวนั่นอาจหมายถึงการเป็นอัมพฤตอัมพาต และอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยข้อไหล่หลุด จึงควรระมัดระวังดังนี้

  • เมื่อพบผู้ป่วยข้อไหล่หลุด ไม่ควรพยายามดึงข้อไหล่กลับเข้าที่กันเอง เพราะอาจดึงไม่ถูกวิธีจนทำให้ข้อไหล่เกิดการผิดรูปยิ่งกว่าเดิม และหากภาวะข้อไหล่หลุดเกิดร่วมกับกระดูกแตกหักด้วยก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้ทำการรักษาเองดีกว่า
  • ในกรณีข้อไหล่หลุดจะต้องตรวจให้ละเอียดก่อนทำการรักษาเพราะอาจมีอาการบาดเจ็บของเส้นเลือดและเส้นประสาทร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นอันตรายได้

ไหล่หลุด เป็นอาการที่น่ากลัวและทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้มาก ซึ่งเมื่อพบว่าตนเองไหล่หลุด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที อย่าได้นิ่งนอนใจเด็ดขาดและที่สำคัญควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในระหว่างการรักษานั่นเอง อย่างไรก็ตามควรพยายามระมัดระวังตัวเองไม่ให้เกิดอาการไหล่หลุดดีกว่า เพราะแม้จะรักษาได้แต่ก็อาจไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม 100%


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Dislocated Shoulder Management and Treatment. Cleveland Clinic. (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17746-dislocated-shoulder/management-and-treatment)
Dislocated Shoulder. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/dislocatedshoulder.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป