รู้สึกว่าปีนี้จะหนาวนานกว่าปีก่อนนะคะ ค่อยดูคุ้มค่ากับการรื้อเสื้อกันหนาวเก่าเก็บออกมาปัดฝุ่นใส่รับลมหนาวหน่อย ^_^
แต่จะว่าไปแล้ว… บางทีก็เดาใจฟ้ายากจังค่ะว่าวันไหนจะหนาวมากหรือน้อย ดิฉันก็ไม่ค่อยติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเสียด้วยสิ… มันก็เลยมีบางวันที่ดิฉันต้องนั่งเหงื่อซึมอยู่ในห้องยา (อากาศกำลังสบายก็เลยงดเปิดเครื่องปรับอากาศ …ลดใช้พลังงานช่วยชาติไงคะ ^_^) จะถอดเสื้อไหมพรมสีชมพูแสนสวยออกก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่เสื้อกาวน์มา ขืนถอดมาก็มีแต่ชุดชั้นใน เดี๋ยวจะเซ็กซ์เสื่อม เอ๊ย! เซ็กซี่เกินบรรยาย ^_^
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
เปิดแอร์ไหมคะ… ดูเหมือนว่าคุณพี่จะร้อนนะ
ไม่ล่ะ… ไม่ต้องเปิดหรอก ร้อนที่ไหน…กำลังสบาย (ปากแข็งกัดฟันพูดไปงั้นล่ะค่ะ แม้หน้ามันเยิ้มมันจะฟ้องความจริงอยู่ทนโท่)
แหม… ร้อนก็บอกมาเหอะน่า หนูเข้าใจอยู่ว่าเป็นธรรมดาของพวกวัยทองน่ะ
กรี๊ดดดดดด… ไม่ร้อนและไม่ได้วัยทองย่ะ! พูดจาอย่างนี้อารมณ์เสียเฟ้ย! ขอไปเดินเล่นให้เย็นใจก่อนล่ะ ฮึ่ม!!! (แสร้งโมโหกลบเกลื่อนค่ะ อันที่จริงกะจะวิ่งออกไปหาลมหนาวนอกห้อง ^_^)
และก็คงเพราะอากาศดูเย็นสบาย (จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่าเมืองไทยเรามีแค่ฤดูร้อนกับฤดูร้อนมากกกกก…) อย่างนี้ ดิฉันจึงได้พบได้เจอเหตุการณ์เช่นนี้…
คุณป้า… ยาฉีดเบาหวานต้องเก็บแช่เย็นนะคะ ไปซื้อน้ำแข็งมาก่อนนะ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อู๊ยยยยยย… ไม่ต้องหรอกจ้า บ้านป้าอยู่ใกล้ ๆ เดินทางสิบนาทีก็ถึงแล้วล่ะ อากาศก็ไม่ร้อนเท่าไหร่หรอก
และ เช่นนี้…
คุณลุงไม่ได้เอากระเป๋ามาใส่ยาวัณโรคเหรอคะ เอ…หนูไม่ได้เอาถุงหูหิ้วมาด้วยสิ ทำไงดีล่ะ
ไม่เป็นไรคุณเภสัช เดี๋ยวลุงถือไปก็ได้
ไม่ได้หรอกค่ะ มียาทั้งปฏิทินยา ทั้งซองยา มันจะตกหล่นระหว่างทางนะคะ
ไม่หล่นหรอก เดี๋ยวลุงก็เอาไปใส่ตะกร้าหน้ารถมอเตอร์ไซค์ไงล่ะ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โอ้โฮ… ตากแดดตากลมกว่าจะถึงบ้าน …จะไม่กลายเป็นยาแดดเดียวไปเหรอคะนั่น!
หรือ เช่นนี้…
เอายาเดิมมาด้วยไหมคะ ขอดูด้วยค่ะ
(วิ่งหายไปซักครู่) นี่ค่ะยาเดิม
อุ้ย! ทำไมถุงยาร้อนอย่างนี้ล่ะคะ
เอาวางไว้ในรถน่ะค่ะ ไม่ได้ถือมาด้วยเพราะนึกว่าเภสัชจะไม่ขอดูยาเดิม
คุณผู้อ่านล่ะคะ เคยเชื่อหรือเคยทำดังเช่นตัวอย่างที่ดิฉันนำมา ‘แฉ’ เอ๊ย! ‘นินทา’ ว้า…ไม่ใช่! นำมา ‘เล่าสู่กันฟัง’ บ้างไหมคะ
ถ้าเคย…
เฮ้อ… รู้ไหมว่ายาก็ร้อนเป็นนะคะ!
แล้วไง… ร้อนก็ทนเอาซี่ แป๊บเดียว… เดี๋ยวก็ถึงบ้านแล้ว
แหม… ปล่อยให้ร้อน ก็เสี่ยงที่ยาจะ ‘เสื่อมสมรรถภาพ’ เอ๊ย! ‘เสื่อมสภาพ’ น่ะสิคะ ธ่อ…
ยาแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกันค่ะ การเก็บรักษาที่ดีให้เหมาะกับคุณสมบัติของยานั้น ๆ จะช่วยให้ยาคงสภาพอยู่ได้นาน มีประสิทธิภาพในการรักษา โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตยาจะระบุวิธีการเก็บรักษาหรืออุณหภูมิที่ควรเก็บ (จากที่มีการทดลองมาแล้วเป็นอย่างดี) ไว้ข้างภาชนะบรรจุมาเสมอ เพื่อให้เราทราบว่าควรดูแลยานั้น ๆ อย่างไร จึงจะมีคุณภาพการรักษาที่ดีเมื่อนำมาใช้
ยาที่ใช้ในโรงพยาบาล จะมีข้อกำหนดการเก็บในอุณหภูมิต่าง ๆ กันหลายกลุ่มค่ะ แต่สำหรับยาที่มีการจ่ายให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ต่อที่บ้านนั้น แบ่งตามลักษณะการเก็บได้เป็น 2 ประเภทค่ะ คือ… “ยาทั่วไป” และ “ยาแช่เย็น”
สำหรับ “ยาแช่เย็น” นั้น ก็ยกตัวอย่างเช่น ยาฉีดอินซูลิน ยาหยอดตาบางชนิด หรือ ยาผงผสมน้ำที่ผสมแล้วบางรายการ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บยาประเภทนี้ คือ 2 – 8 องศาเซลเซียสหรือในตู้เย็นค่ะ
การเก็บรักษายาประเภทนี้ขณะเดินทาง ควรนำกระติกน้ำแข็ง (บรรจุน้ำแข็งด้วย) มาใส่ยานะคะ แล้วเมื่อกลับถึงบ้านจึงค่อยนำออกมาเก็บไว้ในตู้เย็นแทน
การเก็บยาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ดูจะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทราบกันใช่ไหมคะ แต่ดิฉันมีการศึกษาที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ…
- จากการสำรวจความรู้ของผู้ป่วยนอกที่รับยาจากฝ่ายจักษุเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 300 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยสอบถามเกี่ยวกับตำแหน่งที่เก็บยาหยอดตาในตู้เย็น พบว่ามีเพียง 13% ค่ะ ที่มีการเก็บยาในตำแหน่งที่เหมาะสม (อ่านต่อ...)
- จากการศึกษาในโรงพยาบาลลำปาง สอบถามความรู้ความเข้าใจในการเก็บยาอินซูลินในตู้เย็น พบว่ามากกว่าร้อยละ 80 มีการเก็บยาที่ฝาของตู้เย็น ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม (อ่านต่อ...)
อืมม์… จากผลสำรวจข้างต้น ก็ชี้ให้เห็นว่า “การเก็บยาแช่เย็นที่เหมาะสม” ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทราบแล้วสิเนี่ย!?! แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ มั่นใจแล้วหรือว่าที่ผ่านมาได้มีการเก็บยาแช่เย็นไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมจริง ๆ ^_^
ลองดูสิคะว่า… ปกติท่านมักเก็บ “ยาแช่เย็น” ไว้ที่ส่วนไหนของตู้เย็น
มาตรวจสอบกันเลยค่ะว่า ตำแหน่งที่เรามักใช้เก็บ “ยาแช่เย็น” นั้น… ถูกต้อง / เหมาะสมแล้วหรือไม่
1 = ช่องแช่แข็ง –> ไม่ควรเก็บยา
เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำ (เย็น) เกินไป ทำให้ยากลายเป็นน้ำแข็ง และอาจเสื่อมคุณภาพ (ยกเว้นวัคซีนบางชนิดที่ระบุให้เก็บแช่แข็ง
2 = ใต้ช่องแช่แข็ง –> ไม่ควรเก็บยา
อาจมีอุณหภูมิต่ำ (เย็น) เกินไป ทำให้ยากลายเป็นน้ำแข็ง และอาจเสื่อมคุณภาพ
3 = ชั้นกลางๆ ตู้เย็น –> ควรเก็บยา
เป็นส่วนที่มีอุณหภูมิเหมาะสม และค่อนข้างคงที่ จึงควรใช้เก็บยา แต่ควรเก็บยาใส่กล่องแยกออกจากอาหารในตู้เย็น
4 = ชั้นเก็บผัก-ผลไม้ –> ไม่ควรเก็บยา
อาจมีอุณหภูมิไม่ต่ำ (เย็น) พอสำหรับเก็บยา โดยเฉพาะหากมีการเก็บอาหารไว้เต็มตู้เย็น
5 = ชั้นวางไข่ –> ไม่ควรเก็บยา
เนื่องจากตู้เย็นที่ใช้เก็บอาหารมีการปิด-เปิดบ่อย บริเวณประตูตู้เย็นจึงร้อนขึ้นเมื่อมีการเปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง หรือเปิดไว้นาน ๆ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนยาเสื่อมสภาพได้
6 = ชั้นวางน้ำ –> ไม่ควรเก็บยา
อุณหภูมิมักร้อนขึ้นเมื่อมีการเปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง หรือเปิดไว้นาน ๆ ทำให้ยาเสื่อมสภาพได้
จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งในตู้เย็นที่เหมาะสมสำหรับเก็บ “ยาแช่เย็น” ก็คือบริเวณชั้นวางด้านในของตู้เย็น เนื่องจากอุณหภูมิจะคงที่มากกว่าบริเวณขอบประตูตู้เย็น โดยให้เก็บยาแยกจากอาหาร โดยเฉพาะอาหารปรุงสุกประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาจมีอุณหภูมิสูงขณะเก็บ อีกทั้งควรมีกล่องใส่ที่มิดชิด ป้องกันการที่เด็กเล็กอาจนำไปรับประทาน เพราะเ
เข้าใจเป็นน้ำหวานหรือขนมด้วยค่ะ
แต่จากการประสบการณ์ ‘สอดรู้สอดเห็น’ เอ๊ย! ตรวจสอบตู้เย็นเวลาไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย
บ่อยครั้งที่พบว่ามักมีการเก็บยาไว้ที่ตำแหน่ง 5 และ 6 โดยเฉพาะตู้เย็นบางรุ่นที่ใต้ช่องวางไข่มีช่องเล็ก ๆ มีฝาปิดอยู่ มันดูเป็นสัดเป็นส่วนและมีขนาดพอเหมาะพอดีที่จะเก็บยาใช่ไหมคะ แต่… ใสเจีย – เสียใจด้วยค่ะ เพราะแท้จริงแล้วมันไม่ใช่ตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเก็บยาเลย …คราวนี้ก็รับทราบทั่วกันแล้วนะคะ