ตาเหล่หรือตาเข หมายถึงภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน ภาวะนี้พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มักพบได้ช่วงอายุ 3 ปีแรก สาเหตุของตาเขในเด็กและผู้ใหญ่แตกต่างกัน ในเด็กส่วนใหญ่เป็นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือโดยกรรมพันธุ์ ส่วนผู้ใหญ่ที่ตาตรงมาโดยตลอด แล้วมาเกิดตาเขเฉียบพลัน มักเกิดร่วมกับภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติ มีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อตาไม่ทำงาน หรือกล้ามเนื้อที่ใช้บังคับการกลอกตาอ่อนแรงจากสาเหตุต่างๆ
อาการตาเขเป็นอย่างไร?
อาการตาเขที่คนภายนอกสังเกตเห็นอาจแสดงออกได้หลายอย่าง ทิศทางการเข ได้แก่ ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) ตาเขออกด้านนอก (Exotropia) ตาเขขึ้นบน (Hypertropia) ตาเขลงล่าง (Hypotropia) บางคนเป็นตาเขที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
บางคนเป็นตาเขแบบซ่อนเร้น หรือเรียกอีกอย่างว่า “ตาส่อน” คือ ตาเขที่พลังกล้ามเนื้อตาช่วยซ่อนเอาไว้ให้ดูเหมือนตาไม่เข ส่วนใหญ่ดูเหมือนตรงดี แต่บางครั้งเวลาเผลอๆ หรือเหนื่อยๆ ตาก็จะเขออก โดยเจ้าตัวรู้แต่คนอื่นเห็นได้ ทำให้เกิดอาการเมื่อยตาหรือมึนศีรษะได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อในการบังคับตาให้ตรงเกิดอาการอ่อนเพลีย หรือบางคนอาจเห็นอาการตาเขได้เฉพาะเมื่อกลอกตาไปบางทิศทาง
สำหรับเด็ก เขาย่อมไม่สามารถบอกได้ถึงอาการผิดปกติของตัวเอง ต้องอาศัยความช่างสังเกตของผู้ปกครอง พ่อแม่ของเด็กควรได้รับการสอนให้มีความสนใจในพัฒนาการของการมองเห็น การจ้องวัตถุ และหันไปมองตาม ซึ่งโดยปกติควรจะเริ่มเมื่ออายุ 6 สัปดาห์
ในทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือนอาจสังเกตเห็นตาของทารกเหล่เข้าหรือเหล่ออกบ้าง ตาสองข้างทำงานไม่สอดคล้องกันบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่การทำงานประสานกันของสองตายังไม่ดีนัก แต่เมื่อทารกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ตาสองข้างเริ่มทำงานประสานกันได้ดี บังคับตาทั้งสองข้างให้มองไปในทิศทางของวัตถุที่สนใจได้แม่นยำขึ้น ถ้าถ้าอายุเกิน 3 แล้วยังพบอาการตาเหล่ ตาเขอยู่ ควรนำทารกไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษา แม้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีอาจจะตรวจยากและต้องตรวจหลายครั้งเพราะเด็กไม่ร่วมมือ แต่จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคตาเด็กและตาเขก็สามารถตรวจรักษาได้ ไม่ควรรอจนเด็กอายุเกิน3 ปีเพราะผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร
กรณีที่จักษุแพทย์ทั่วไปพบเสมอๆ คือผู้ปกครองพาเด็กมาเพื่อปรึกษาว่า “ลูกตาเขหรือเปล่า”? “เขจริงหรือเขหลอก? เพราะเด็กเอเชียบางคนใบหน้าค่อนข้างแบน ดั้งจมูกกว้างแบน หัวตาค่อนข้างชิดกัน ทำให้ดูเหมือนตาเข ทั้งๆ ที่จริงแล้วตาตรง เบื้องต้นแพทย์ผู้ตรวจจะใช้ไฟฉายขนาดเล็ก ส่องตาเด็กตรงๆ เพื่อดูแสงสะท้อนจากกระจกตา ถ้าตาตรงดี จะเห็นแสงสะท้อนบริเวณกึ่งกลางกระจกตาหรือ”ตาดำ”ทั้ง 2 ตา แต่หากตาเข มีตาเดียวเท่านั้นที่แสงสะท้อนจะอยู่ตรงกลาง
สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าเพิ่งมีอาการตาเขเกิดขึ้นอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อน ตามัว มองไม่ชัด เมื่อยตา ตาล้า การคาดคะเนระยะหรือวัดความห่างระหว่างวัตถุกับสิ่งอื่น ๆ (Depth perception) ทำได้ยาก สาเหตุของตาเขในผู้ใหญ่ ได้แก่
- อุบัติเหตุทางตาและสมองที่กระทบกระเทือนรุนแรง เช่น เบ้าตาแตก กะโหลกศีรษะแตกมีเลือดออกในสมอง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอัมพาต และมีอาการตาเขตามมาได้
- โรคเบาหวาน ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ อุดตัน กล้ามเนื้อตาจึงเป็นอัมพาต เกิดอาการตาเข
- โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอที่ลุกลามมารบกวนกล้ามเนื้อดวงตาหรือประสาทตา เช่น มะเร็งไซนัส และมะเร็งโพรงจมูก
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ มีอาการตาโปน จากการบวมของเนื้อเยื่อในเบ้าตา กล้ามเนื้อตาผิดปกติ
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น MG (Myasthenia Gravis) ที่อาการเริ่มต้นมักมาด้วยหนังตาตกและตาเข
- โรคเนื้องอกในสมอง ที่ส่งผลกระทบเช่นเกิดการกดทับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ที่ 4 หรือ ที่ 6 ซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการกลอกตาทั้ง 6 คู่ ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อตา จึงเกิดอาการตาเขได้
ตาขี้เกียจคืออะไร เหมือนกับตาเหล่หรือไม่?
ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy eyes หรือ Amblyopia) คือภาวะที่ตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการมองเห็นให้เป็นปกติเท่าที่น่าจะเป็นได้ พบร่วมกับตาเขได้บ่อย ซึ่งคำว่า”ตาขี้เกียจ”นี้ ออกจะเป็นศัพท์ที่ทำให้สับสน เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดที่ดวงตาขี้เกียจทำงาน แต่เกิดจากพัฒนาการของสมองส่วนที่รับการมองเห็นจากตาแต่ละข้าง ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้เกิดมากที่สุดตั้งแต่แรกเป็นทารก ปัญหาตาขี้เกียจจึงเกิดตั้งแต่ยังเด็ก
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
เมื่อคนไข้มีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ตาไม่สามารถเห็นภาพที่ชัดเจน เช่น ในเด็กตาเขที่ชอบใช้ตาอยู่ข้างเดียวในการมอง ตาอีกข้างจะเขออกตลอด เมื่อตารับภาพจะส่งสัญญานภาพไปที่สมอง สมองส่วนที่รับภาพจากตาข้างที่เขก็ไม่เคยมีโอกาสรับภาพชัด จึงไม่ได้รับการฝึกฝนจนเรียนรู้ว่าภาพชัดเป็นอย่างไร ผลคือไม่สามารถมีพัฒนาการดีพอจนแยกแยะความชัดหรือไม่ชัดออก
หากสมองส่วนรับภาพนั้นถูกปล่อยปละละเลย ไม่เคยได้รับการพัฒนาจนเด็กอายุเกิน 8-10 ปี หรือจนโตเป็นผู้ใหญ่ แม้จะมาตรวจเรื่องตาเขแล้วพบว่ามีตาขี้เกียจ อันเป็นผลจากตาเขนั้น ก็มักจะสายเกินจะกระตุ้นการพัฒนาให้ได้ผลแล้ว แต่ถ้าไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน ตาขี้เกียจก็จะคงสภาพเช่นนั้นไปตลอด ไม่ได้ขี้เกียจจนเลิกทำงานหรือบอดไป อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดกัน
ตาเขรักษาได้ไหม ทำอย่างไร?
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ตาเขเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้น วิธีการรักษาตาเขจึงขึ้นกับว่า ตาเขนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร หากมีโรคตาที่เป็นสาเหตุส่งผลให้เกิดตาเขตามมา ก็ต้องรักษาโรคด้วย และรักษาภาวะตาเขด้วย
วิธีการรักษาตาเขมีหลายวิธี ขึ้นกับปัญหาที่ตรวจพบ ส่วนใหญ่มักจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่
- การสวมแว่นสายตา ถ้าอาการตาเขเกิดจากการมีสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด หรือสายตาเอียง สามารถรักษาโดยการสวมแว่นสายตา ซึ่งการวัดสายตาสามารถทำได้แม้แต่ในเด็กเล็ก และอาจใส่ปริซึมในเลนส์แว่น เพื่อช่วยลดอาการเห็นภาพซ้อนหรือเมื่อยตาล้าตา
- หากมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย มักใช้วิธี Eye patching หลักการคือ ปิดตาข้างที่เด็กชอบใช้ เพื่อกระตุ้นตาอีกข้างที่เป็นตาขี้เกียจให้ได้ใช้งาน เพื่อฝึกพัฒนาการของสมองส่วนรับภาพของตาขี้เกียจให้ดีขึ้น ซึ่งมีโอกาสหายได้ ขึ้นกับความร่วมมือและความเข้าใจของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองมักจะวิตกว่า ปิดตาข้างดีแล้วตาข้างดีจะกลายเป็นตาขี้เกียจแทน ซึ่งไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการปิดตาจะใช้การปิดสลับทีละข้าง แพทย์จะแนะนำว่าควรจะปิดตาข้างไหน กี่ชั่วโมงต่อวัน
- การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา
- การใช้เครื่องมือฝึกกล้ามเนื้อตา
- การฉีด Botulinum toxin
- การกระตุ้นการมองเห็น และการใช้เครื่องช่วยทางสายตา
การจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ ทำให้ตาเขได้หรือไม่?
ไม่นานมานี้ มีกรณีเด็กที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เล่นสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานแล้วเกิดมีอาการตาเข ต้องผ่าตัดรักษา ทำให้เกิดความเชื่อว่าการจ้องจอโทรศัพท์นานๆ ทำให้ตาเข แต่ความจริงคือ ด้วยความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่พบว่าการจ้องจอโทรศัพท์มือถือ เกมส์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ตาเข เนื่องจากสาเหตุของภาวะตาเขหรือตาเหล่ในเด็กมักจะเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือมีโรคตาบางอย่างเอง
แต่อย่างไรก็ดี การจ้องหน้าจอซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อในการเพ่งมองใกล้อยู่นานเกินไป อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อภายในตาเกร็ง เกิดภาวะสายตาสั้นเทียม ทำให้มองไกลไม่ชัด อีกทั้งกล้ามเนื้อตาภายนอกดึงตาให้เข้าหากันเพื่อมองใกล้ และคงอยู่ในระยะเดิมเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดภาวะตาเขชั่วคราวอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้เกิดตาเขถาวรแต่อย่างใด
เมื่อพักสายตาจากการมองใกล้ ทอดสายตาไปมองไกลๆ อาการสายตาสั้นเทียมและอาการตาเขชั่วคราวก็จะหายไปได้ แต่ต้องไม่ใช่พักจากจอคอมพิวเตอร์ แล้วมามองสมาร์ตโฟนแทน อันนี้ไม่น่าจะใช่การพักสายตาแล้ว พึงระลึกไว้ว่า ตามองใกล้ทำงานหนัก คิดจะพัก..ให้มองไกล