กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

Melanoma (มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา)

เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.พ. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เม็ดสีในชั้นผิวหนัง (Melanocyte) สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ มักกลายพันธุ์มาจากไฝตามร่างกาย หรือเป็นไฝตุ่มใหม่ที่มีลักษณะผิดปกติไปทั้งรูปลักษณ์ สี มีอาการคัน หรือเจ็บปวด หากได้รับการวินิจฉัยไวจะสามารถผ่าตัดเพื่อกำจัด และลดโอกาสการแพร่กระจายได้ พบได้ที่บริเวณผิวของร่างกายส่วนไหนก็ได้แต่ที่พบบ่อยคือช่วงลำตัวโดยเฉพาะคอ และหลัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาสามารถเกิดกับใครได้บ้าง

มากกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามีอายุต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งแตกต่างกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะพบในวัยสูงอายุกว่านั้น นอกจากนี้ มักพบในกลุ่มคนขาวที่ชอบอาบแดด เนื่องจากสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet radiation: UV) ที่เพิ่มขึ้นจากดวงอาทิตย์

ชนิดของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

  • ชนิดกระจายตามผิว (Superficial spreading melanoma) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็นประมาณ 70% ของผู้ป่วยทั้งหมด มักเกิดในคนที่มีผิวขาวมาก และตกกระ มะเร็งชนิดนี้จะแพร่กระจายที่ผิวหนังชั้นนอก จึงมักไม่เป็นอันตราย แต่บางรายอาจกระจายลึกลงไปที่ผิวหนังชั้นอื่น และลามไปยังอวัยวะต่างๆ ได้
  • ชนิดตุ่มนูน (Nodular melanoma) เป็นชนิดที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว พบบ่อยในผู้ป่วยวัยกลางคน มะเร็งชนิดนี้อาจไม่ได้พัฒนามาจากไฝที่มีอยู่บนผิวหนัง และสามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณผิวที่ไม่ได้รับแสงแดดเป็นประจำ
  • ชนิดเลนทิโก มาลิกนา (Lentigo maligna melanoma) มักเกิดขึ้นในวัยผู้สูงอายุ และผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยปกติจะเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายปี
  • มะเร็งเมลาโนมาตามมือและเท้า (Acral lentiginous melanoma) เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก มักจะปรากฏบนฝ่ามือ และฝ่าเท้า หรือเล็บของนิ้วโป้งเท้า เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่มีผิวคล้ำ

สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเกิดขึ้นเมื่อเซลล์บางส่วนในผิวหนังเริ่มมีการเจริญเติบโตผิดปกติ โดยมีแนวคิดว่า เกิดจากการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต ไม่ว่าจะเป็นจากแหล่งธรรมชาติ เช่น แสงแดด หรือแสงสังเคราะห์ เช่น แสงจากหลอดไฟ เตียงอาบแดด 

ปัจจัยที่สามารถเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ได้แก่

  • การมีไฝ หรือกระจำนวนมาก
  • มีผิวบาง ไวต่อแสงแดด สังเกตได้จากเมื่อถูกแดดแล้วผิวจะคล้ำเร็ว หรือไหม้ง่าย
  • มีผมสีแดง หรือสีบลอนด์
  • สมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามาก่อน
  • ดวงตาสีฟ้า
  • อายุที่มากขึ้น
  • พบในเพศชายมากกว่า
  • มีผิวหนังส่วนที่ถูกทำลายด้วยการไหม้แดด หรือได้รับการฉายรังสีรักษา
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • การใช้ยาลดระบบภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) ซึ่งมักใช้หลังจากปลูกถ่ายอวัยวะ
  • การสัมผัสกับสารเคมีบางประเภท เช่น น้ำมันครีโอโสท และสารหนู
  • ได้รับวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งผิวหนังมาก่อนหน้านี้

อาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

อาการแสดงแรก คือ เป็นไฝตุ่มใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของตุ่มไฝที่มีอยู่บนผิวหนัง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย โดยผิวหนังด้านหลังขา หลังแขน และใบหน้าจะเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ลักษณะของไฝจะมีมากกว่าหนึ่งสี อาจมีขนาดใหญ่กว่าไฝปกติ และบางครั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย หรือมีเลือดออก

ไฝปกติจะมีลักษณะกลม หรือรูปไข่ มีขอบเรียบ และเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร (1/4 นิ้ว)

ให้เข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าคุณสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของไฝ ฝ้า หรือกระบนผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการแสดงที่ควรสังเกตว่าผิดปกติ คือ ไฝเหล่านั้น:

  • ขนาดใหญ่โตขึ้น
  • เปลี่ยนรูปร่าง
  • เปลี่ยนสี
  • มีเลือดออก หรือมีเกล็ดเลือดคลุม
  • คัน หรือเจ็บปวด

กรณีที่พบไม่ค่อยบ่อยนัก คือโรคมะเร็งเมลาโนมาสามารถเกิดขึ้นในตาได้ การสังเกตเห็นจุดดำ หรือปัญหาการมองเห็น อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบ่อกถึงโรคมะเร็งดังกล่าวได้

การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเมลาโนมามักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจผิวหนัง คุณจะถูกส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากสงสัยว่าบริเวณดังกล่าวอาจเป็นก้อนมะเร็งเมลาโนมา แพทย์บางคนอาจถ่ายภาพดิจิตอลของเนื้องอกที่น่าสงสัย เพื่อให้พวกเขาสามารถส่งอีเมลไปปรึกษายังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินล่วงหน้าได้

เนื่องจากโรคมะเร็งเมลาโนมาเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างน้อย จึงควรตรวจสอบไฝของคุณอย่างสม่ำเสมอ และกลับไปพบแพทย์ประจำตัว หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ การถ่ายภาพเพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นมาก

หลักการการตรวจ ABCDE

หนึ่งในหลักการตรวจที่เป็นประโยชน์ในการบอกความแตกต่างระหว่างไฝปกติกับก้อนมะเร็งเมลาโนมา ดังนี้

  • Asymmetry (อสมมาตร) รูปร่างของก้อนมะเร็งจะไม่สามารถพับทบกันได้สนิท และมีรูปร่างขอบเขตไม่สม่ำเสมอ
  • Border (ขอบเขต) ขอบเขตของมะเร็งเมลาโนมาจะเป็นรอยบาก หรือรอยหยัก
  • Colour (สี) ก้อนมะเร็งเมลาโนมาจะมีสีผสมกันตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป
  • Diameter (เส้นผ่าศูนย์กลาง) ก้อนมะเร็งเมลาโนมาจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 6 มิลลิเมตร (1/4 นิ้ว)
  • Enlargement or Elevation (การขยายขนาด หรือการยกนูน) ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดตามเวลา มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

ส่วนใหญ่ ก้อนไฝที่คาดว่าเป็นมะเร็งจะถูกกำจัดออกด้วยการผ่าตัด และนำมาตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ กระบวนการนี้เรียกว่า “การตรวจชิ้นเนื้อ”

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การตรวจเพิ่มเติม

การตรวจเพิ่มเติมจำเป็นต้องทำ หากแพทย์กังวลว่าโรคมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก หรือเข้าสู่กระแสเลือด เรียกวิธีนี้ว่า การตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel node biopsy)”

สาเหตุที่ต้องตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล เนื่องจากเมื่อเซลล์มะเร็งเมลาโนมาเริ่มแพร่กระจาย มักจะเริ่มแพร่กระจายผ่านช่องทางใต้ผิวหนังที่เรียกว่า ท่อน้ำเหลือง ไปยังต่อมน้ำเหลืองกลุ่มที่ใกล้มากที่สุดนั่นก็คือ “ต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยกำจัดแบคทีเรีย และอนุภาคที่ไม่พึงประสงค์ออกจากร่างกาย

หากมีการติดเชื้อ อาจมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อกำจัดต่อมน้ำเหลืองที่เหลืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน เรียกกระบวนการนี้ว่า การผ่าตัดกำจัดต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด (Lymph node dissection or Completion lymphadenectomy)

การตรวจสอบอื่นๆ ได้แก่

  • การสแกนด้วยระบบเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT)
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)
  • การสแกนชนิดเพท-ซีที (PET)
  • การตรวจเลือด
  • การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

ระยะของเนื้องอกมะเร็งเมลาโนมา

ระยะโรคมะเร็งเมลาโนมาสามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • ระยะ 0 มะเร็งผิวหนังอยู่บนผิวนอกสุดของผิวหนัง
  • ระยะ 1A เนื้องอกมีความหนาน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร
  • ระยะ 1B เนื้องอกมีความหนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตร หรือก้อนเนื้องอกมีความหนาน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร มีส่วนของผิวหนังที่ฉีกขาดเป็นรอยแผล หรือเซลล์ทำการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ (Mitotic activity)
  • ระยะ 2A เนื้องอกมีความหนาประมาณ 2-4 มิลลิเมตร หรือมีเนื้องอกหนา 1-2 มิลลิเมตร มีส่วนของผิวหนังฉีกขาดเป็นรอยแผล
  • ระยะ 2B เนื้องอกมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร หรือก้อนเมลาโนมาหนา 2-4 มิลลิเมตร มีส่วนของผิวหนังฉีกขาดเป็นรอยแผล
  • ระยะ 2C เนื้องอกมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร มีส่วนของผิวหนังฉีกขาดเป็นรอยแผล
  • ระยะ 3A เนื้องอกที่แพร่กระจายออกไปถึง 1-3 ของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่พบอาการต่อมน้ำเหลืองโต และก้อนเนื้องอกเมลาโนมาไม่ได้ฉีกขาดเป็นแผล และยังไม่แพร่กระจายไปไกลเกินกว่านั้น
  • ระยะ 3B ก้อนเนื้องอกเมลาโนมาฉีกขาดเป็นแผล และแพร่กระจายไปยัง 1-3 ของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่พบอาการต่อมน้ำเหลืองโต  หรือก้อนเนื้องอกเมลาโนมายังไม่เป็นแผล แต่แพร่กระจายไปยัง 1-3 ของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองโต  หรือก้อนเนื้องอกได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ผิวหนังเล็กๆ หรือท่อน้ำเหลืองแล้ว แต่ยังไม่ถึงต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะ 3C ก้อนเมลาโนมาฉีกขาดเป็นแผล และแพร่กระจายไปยัง 1-3 ของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง และพบอาการต่อมน้ำเหลืองโต หรือมะเร็งเมลาโนมาได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง 4 ต่อม หรือมากกว่านั้น
  • ระยะ 4 เซลล์มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ปอด สมอง หรือส่วนอื่นๆ ของผิวหนัง

การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

การรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา คือ การผ่าตัด แม้ว่าการรักษาส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสภาวะโรคก็ตาม

หากได้รับการวินิจฉัย และสามารถเริ่มทำการรักษาเมลาโนมาในระยะเริ่มแรก การผ่าตัดมักจะประสบความสำเร็จด้วยดี

แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งได้ทันท่วงที และมะเร็งอยู่ในระยะขั้นสูง หรือลุกลามแล้ว การรักษาส่วนใหญ่จะทำเพื่อชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และลดอาการที่อาจเกิดขึ้น โดยมักจะเกี่ยวข้องกับการใช้ยา เช่น เคมีบำบัด

หากคุณเคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มีโอกาสที่อาจจะกลับมาเป็นซ้ำ ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้น หากมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย และมีอาการที่รุนแรง คุณจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจสภาวะดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ และเรียนรู้วิธีการตรวจสอบผิว และการคลำต่อมน้ำเหลืองเบื้องต้น เพื่อช่วยตรวจหามะเร็งเมลาโนมาที่อาจกลับมาเป็นซ้ำด้วยตนเอง

การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

ไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณสามารถลดโอกาสในการเกิดโรคดังกล่าวได้ด้วยการลดการสัมผัสรังสียูวี ทาครีมกันแดด และสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมภายใต้กิจกรรมกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงเตียงอาบแดดในร่ม และการออกแดดจัดเป็นเวลานาน

การตรวจสอบเม็ดไฝ และกระตามร่างกายเป็นประจำ จะช่วยนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่เร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษา


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What Is Melanoma Skin Cancer? | What Is Melanoma?. American Cancer Society. (https://www.cancer.org/cancer/melanoma-skin-cancer/about/what-is-melanoma.html)
Melanoma: Stages, types, causes, and pictures. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/154322)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
อาการอื่นๆเช่นมีเเถบสีเข้มเเนวตั้งเกิดขึ้นบนเล็บนี่ใช่มะเร็งเมลาโนมาใช่ไหมครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
คือแม่หนูมีตุ่มสีน้ำตาลแดงที่คออ่ะค่ะ มันเป็นตุ่มนูนๆ แล้วก็เหมือนไฝอ่ะค่ะ กลัวว่าจะเป็นมะเร็งเมลาโนมาอ่ะค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)