ผู้ป่วยควรมีสิทธิ์ได้เลือกว่าอยากใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ใด ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่ดีที่สุด ในขณะที่บางคนอาจอยากได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลมากกว่า
การที่ผู้ป่วยหลายๆ คนรู้สึกไม่มั่นใจในการเลือก เพราะแต่ละที่มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน การจะใช้เวลาช่วงสุดท้ายที่บ้านอาจเป็นความปรารถนาของใครหลายๆ คนที่จะได้ใช้เวลากับครอบครัวในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดอีกช่วงหนึ่งของชีวิต แต่การทำให้เกิดการดูแลที่บ้านได้ดีอย่างต่อเนื่องมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคงเป็นการมีผู้ดูแลที่รักเอาใจใส่ผู้ป่วย มีเวลาดูแลผู้ป่วย และต้องการ ช่วยให้ความปรารถนานี้ของผู้ป่วยเป็นจริง แต่บางครั้งผู้ดูแลอาจเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการดูแลผู้ป่วยได้ ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง การมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วย ดูแล ให้ความรู้ ให้เทคนิคต่างๆ ในการดูแล จึงเป็นอีกองค์ประกอบ ที่สำคัญไม่แพ้กัน ปัจจุบันเริ่มมีแพทย์ที่ทำงานโดยไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลลำบาก บางครั้งการดูแลที่บ้านอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องการเอง ญาติบางคนเกิดความรู้สึกกลัวในเรื่องเหนือธรรมชาติหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว หรือผู้ดูแลอาจไม่มีเวลาเพียงพอหรือเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจที่จะให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอีกหลายๆ ครอบครัว สมาชิกทุกคนในครอบครัวอาจมีส่วนร่วมในการ ช่วยดูแลผู้ป่วยได้แม้จะเป็นการดูแลในโรงพยาบาล โดยอาจเข้ามา พูดคุย สัมผัส โอบกอดผู้ป่วย หรือช่วยป้อนน้ำป้อนข้าว เช็ดปาก หรือหยอดตาให้กับผู้ป่วย หากได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลที่บ้าน หรือโรงพยาบาล ก็สามารถเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถ “ไปอย่างสงบ” และ “จากไปอย่างมีความหมาย” ได้
ที่มา: ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก หมอเป้ พญ.ดาริน จตุรภัทรพร
ผู้แต่งหนังสือ สุข รัก เข้าใจ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต | Facebook Page: รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด | @Lynlanara