ช้ำรั่ว – ปัสสาวะเล็ด ปัญหากวนใจที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

เผยแพร่ครั้งแรก 24 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ช้ำรั่ว – ปัสสาวะเล็ด ปัญหากวนใจที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

อาการ ปัสสาวะเล็ด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ช้ำรั่ว (overactive bladder) คือการที่เรากลั้นปัสสาวะไว้ไม่อยู่ ทำให้มักมีปัสสาวะเล็ดลอดออกมาขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ออกแรง ไอ จาม โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือบางครั้งก็ปวดกลั้นไม่ได้จนปัสสาวะราด อาการแบบนี้เกิดในสาวๆ มากกว่าหนุ่มๆ เพราะผู้หญิงมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าผู้ชายการมีปัสสาวะเล็ดบ่อยๆ เกิดจากกระเพาะปัสสาวะมีความไวมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดเวลา หรือมีความผิดปกติของการส่งสัญญาณประสาท ทำให้มีการกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา และส่งผลให้มีการปัสสาวะออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ เช่น บางคนสัมผัสอากาศเย็นเพียงนิดเดียวก็ปวดปัสสาวะจนกลั้นไม่อยู่ หรือแค่ขยับตัวนิดหน่อยก็มีปัสสาวะซึมออกมาแล้ว

อาการปัสสาวะเล็ด มีแบบไหนบ้าง?

อาการปัสสาวะเล็ด หรือ ช้ำรั่ว มีอยู่หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • มีปัสสาวะไหลซึมเกือบตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว และไม่รู้สึกปวดปัสสาวะเลย จนบางครั้งต้องใส่ผ้าอนามัยรองไว้เสมอ
  • มีปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงหรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น วิ่ง กระโดด ยกของหนัก ไอ หรือจาม ซึ่งเป็นอาการแบบที่พบมากที่สุด
  • ปวดปัสสาวะบ่อยและกลั้นไม่อยู่ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้จะปวดปัสสาวะวันละหลายๆ ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ และเมื่อปวดปัสสาวะมากๆ ก็มักมีปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะราดออกมาโดยควบคุมไม่ได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัสสาวะเล็ด

ปัจจัยที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติจนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดได้จากหลายสาเหตุ และแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย

ในวัยสูงอายุ มักเกิดจาก...

  • กล้ามเนื้อผนังช่องคลอดหย่อนยาน
  • ความเสื่อมของหูรูดกระเพาะปัสสาวะ
  • ช่องคลอดหรือเยื่อบุท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเกิดได้บ่อยในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ
  • กระเพาะปัสสาวะเกิดการเคลื่อนตัวหรือเปลี่ยนมุม

ส่วนในวัยหนุ่มสาว สาเหตุมักเกิดจาก...

  • มีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น จากการยกของหนักหรือเล่นกีฬาอย่างหนักเป็นประจำ
  • มีน้ำหนักตัวมาก
  • อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกเบียด
  • กระบังลมหย่อน ซึ่งเกิดหลังจากคลอดบุตร
  • มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือดื่มน้ำน้อย ทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการบีบตัวผิดปกติ

นอกจากนี้ อาจเกิดจากการส่งกระแสประสาทที่ผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ ซึ่งสาเหตุนี้พบได้ในคนทุกวัย

รักษาอาการปัสสาวะเล็ดได้อย่างไรบ้าง?

  • ถ้าอาการปัสสาวะเล็ดไม่รุนแรง แนะนำให้บริหารด้วยการขมิบหูรูดบ่อยๆ วันละ 3 เวลา รอบละ 30 ครั้งเป็นอย่างน้อย หากทำเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้กระบังลมหย่อนได้ และทำให้อาการปัสสาวะเล็ดลดลง
  • รักษาโดยการใช้ยา เช่น ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ โดยการใช้ยาควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
  • รักษาด้วยการเลเซอร์ เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนในเนื้อเยื่อช่องคลอดมากขึ้น และทำให้ช่องคลอดกลับมากระชับและยืดหยุ่น ซึ่งต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง
  • รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งใช้ในกรณีที่มีอาการมากแล้ว เช่น ปัสสาวะเล็ดบ่อยๆ หรือปัสสาวะไหลตลอดเวลา โดยจะทำการเปิดช่องท้องเพื่อยกปรับมุมของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

การป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด

  • ฝึกขมิบหูรูดเป็นประจำเพื่อบริหารช่องคลอดให้กระชับ และป้องกันไม่ให้กระบังลมหย่อนยาน
  • ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่มีแรงดันในช่องท้องมาก เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนักเป็นประจำ ดูแลสุขภาพไม่ให้มีอาการท้องผูก หรือไอจามเรื้อรัง
  • หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน และควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้การขับถ่ายปัสสาวะเป็นไปตามปกติ

 


41 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Overactive Bladder: Causes, Symptoms, Treatment & Prevention. Cleveland Clinic. (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14248--overactive-bladder-)
Overactive Bladder vs. Urinary Incontinence and UTI. Healthline. (https://www.healthline.com/health/overactive-bladder-vs-urinary-incontinence-vs-uti)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป