กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

การได้กลิ่น

ทำความรู้จักกลไกการได้กลิ่น ประกอบด้วยอวัยวะส่วนใดบ้าง กลิ่นเดินทางอย่างไร และแนะนำวิธีการดูแลจมูกอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
การได้กลิ่น

การได้กลิ่น เกิดจากประสาทสัมผัสกลิ่น ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่แผ่นเยื่อรับกลิ่นบริเวณเพดานของช่องจมูก เมื่ออากาศผ่านเข้าสู่ช่องจมูกจะไปกระตุ้นเซลล์ที่แผ่นเยื่อรับกลิ่นให้ส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองเพื่อแยกแยะกลิ่นต่างๆ

ความสำคัญของจมูก

จมูก เป็นอวัยวะรับสัมผัสที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่สำคัญดังนี้

  • ทำหน้าที่รับกลิ่นของสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นดอกไม้ เป็นต้น
  • เป็นทางผ่านของอากาศขณะที่เราหายใจอยู่ตลอดเวลา ทำหน้าที่กรองอากาศ ปรับอุณหภูมิ และความชื้นของอากาศ ก่อนที่จะเข้าสู่ปอด เช่น หากอากาศเย็นจมูกจะปรับให้อุ่นขึ้น หากอากาศแห้งมากจมูกจะปรับให้อากาศชุ่มชื้นขึ้น เป็นต้น
  • จมูกมีส่วนช่วยปรับเสียงพูดให้กังวานน่าฟัง

ส่วนประกอบของจมูก

จมูกมีโครงร่างเป็นกระดูกแข็งและกระดูกอ่อน ภายนอกหุ้มด้วยผิวหนัง ภายในบุด้วยแผ่นเยื่อเมือก โดยมีส่วนประกอบดังนี้

สันจมูก

เป็นกระดูกอ่อนที่เริ่มตั้งแต่ใต้หัวคิ้ว ส่วนบนเป็นกระดูกที่เรียกว่า ดั้งจมูก ส่วนล่างเป็นกระดูกอ่อน มีเนื้อเยื่อและผิวหนังปกคลุมอยู่ภายนอก

รูจมูก

มี 2 ข้าง อยู่ส่วนล่างของจมูก ภายในมีขนจมูก ทำหน้าที่ป้องกันฝุ่นละอองในขณะหายใจเข้า

โพรงจมูก

  • อยู่ถัดจากรูจมูกเข้าไปข้างในซึ่งเป็นที่พักของอากาศก่อนจะถูกสูดเข้าปอด
  • โพรงจมูกทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ โดยมีหลอดเลือดฝอยจำนวนมากตามแผ่นเยื่อเมือกทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนออกมาทำให้อากาศชุ่มชื้น ส่วนแผ่นเยื่อเมือกจะทำหน้าที่ปรับความชื้นให้กับอากาศพร้อมทั้งดักจับฝุ่นละอองที่เล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าไป แล้วขับทิ้งออกมาเป็นน้ำมูกนั่นเอง
  • บริเวณด้านบนของโพรงจมูกมีปลายประสาททำหน้าที่รับกลิ่นอยู่มากมาย
  • ภายในจมูกมีรูเปิดของท่อน้ำตา ซึ่งเป็นที่ระบายน้ำตาลงมาในโพรงจมูก เพื่อไม่ให้เอ่อล้นออกมานอกลูกตา เมื่อเราร้องไห้จะมีน้ำตาออกมามาก น้ำตาส่วนหนึ่งจะไหลลงมาตามท่อนี้เข้าสู่ช่องจมูกทำให้เห็นเป็นน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาทางจมูก เวลาร้องไห้จึงมักจะคัดจมูกและมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย

โพรงอากาศรอบจมูก หรือที่เรียกว่า ไซนัส (Paranasal sinuses)

เป็นโพรงกระดูกที่อยู่บริเวณรอบๆ จมูก มี 4 คู่ ได้แก่

  • บริเวณกึ่งกลางหน้าผากเหนือคิ้วทั้งสองข้าง 1 คู่
  • บริเวณใต้สมองทั้งสองข้าง 1 คู่
  • บริเวณค่อนไปข้างหลังของกระดูกจมูก 1 คู่
  • บริเวณสองข้างของจมูก 1 คู่

โพรงอากาศเหล่านี้มีเยื่อบางๆ อยู่เช่นเดียวกับช่องจมูก และสามารถเปิดเข้าสู่ช่องจมูกได้โดยตรงด้วย ดังนั้นหากมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นที่ช่องจมูกก็จะมีผลต่อโพรงอากาศนี้ด้วย

การเดินทางของกลิ่น

การได้รับกลิ่นจะเกิดขึ้นตรงบริเวณกระเปาะรับกลิ่นที่อยู่ตรงเยื่อบุภายในโพรงจมูก ซึ่งจะมีประสาทรับกลิ่นอยู่จำนวนมาก โดยประสาทรับกลิ่นเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปสู่สมอง เมื่อกลิ่นผ่านเข้าไปในโพรงจมูกมากระทบที่ปลายประสาทสัมผัสรับกลิ่น ปลายประสาทรับกลิ่นก็จะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองเพื่อแปลความหมายของสิ่งที่ได้รับนั่นเอง

การดูแลรักษาจมูก

เพื่อให้จมูกทำหน้าที่ได้ตามปกติและปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ควรปฏิบัติดังนี้

  • รักษาจมูกให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมากๆ
  • ไม่เข้าไปในบริเวณที่ที่มีกลิ่นฉุน เหม็น หรือใส่น้ำหอมกลิ่นรุนแรง เพราะจะทำให้ประสาทรับกลิ่นเสื่อมลง
  • ไม่ใช้นิ้วหรือสิ่งของอื่นๆ เช่น ปากกา ดินสอ กระดาษ แหย่จมูกเล่น เพราะอาจทำให้จมูกอักเสบหรือเป็นอันตรายได้
  • ไม่ถอนขนจมูกหรือตัดให้สั้น เพราะขนจมูกมีประโยชน์ในการกรองฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งอื่นๆ ที่อาจปนเข้ามากับลมหายใจไม่ให้เข้าสู่ช่องจมูกและปอดได้
  • เวลาจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษนุ่มๆ ปิดปากไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
  • เวลาสั่งน้ำมูกให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษนุ่มๆ รอไว้ที่จมูก แล้วค่อยๆ สั่งน้ำมูก ถ้าสั่งแรงและบีบจมูกจะทำให้คัดจมูกและหายใจลำบากมากขึ้น เยื่อจมูกจะมีเลือดมาคั่งและบวม นอกจากนี้ยังทำให้เชื้อโรคในช่องจมูกและโพรงจมูกเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่าย
  • เมื่อต้องการดมกลิ่นของบางอย่างเพื่ออยากทราบว่าคืออะไร อย่าใช้จมูกจ่อจนใกล้แล้วสูดหายใจ เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ เช่น การสูดดมสารเคมีบางชนิด ดังนั้นจึงควรให้จมูกอยู่ห่างของสิ่งนั้นพอประมาณ แล้วใช้มือโบกให้กลิ่นโชยเข้าจมูก โดยสูดกลิ่นเพียงเล็กน้อย
  • เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่จมูก เช่น คัดจมูกเรื้อรัง เลือดกำเดาไหลไม่หยุด หรือปวดจมูกมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The olfactory system as the gateway to the neural correlates of consciousness. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3887364/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)