กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เลือดกำเดาไหล เป็นเรื่องน่ากังวลใจหรือเปล่า?

เลือดกำเดาไหลอาจเกิดอันตรายได้ หากเลือดออกมาจากโพรงจมูกส่วนหลัง มีวิธีรักษาอย่างไร อ่านเลย!
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 29 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เลือดกำเดาไหล เป็นเรื่องน่ากังวลใจหรือเปล่า?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก จนทำให้มีเลือดไหลออกมาจากโพรงจมูก
  • สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหล อาจมาจากการแคะจมูกแรงๆ จมูกได้รับบาดเจ็บ และกระทบกระเทือน เป็นโรคมะเร็งโพรงจมูก เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • หลายคนอาจคิดว่า เลือดกำเดาไหลแล้วต้องรีบเงยหน้า แต่ความจริงแล้วต้องนั่งหลังตรง แล้วก้มหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วมือบีบจมูกเพื่อห้ามเลือด และอาจใช้ผ้าเย็นกับผ้าห่อน้ำแข็งวางบริเวณสันจมูกด้วย เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว
  • ผู้ที่เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาจุดผิดปกติที่ทำให้เลือดกำเดาไหล โดยอาจต้องใช้เลเซอร์ หรืออุดหลอดเลือดชั่วคราว ให้เลือดหยุดไหล
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจมะเร็งทั่วไป

เลือดกำเดาไหล (Nosebleed) คือ การที่มีเลือดไหลออกมาจากรูจมูก เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก หรือฉีกขาด เลือดกำเดาไหลนั้นพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย 

อาการเลือดกำเดาไหลอาจมีเลือดไหลออกมาจากโพรงจมูกเพียงข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ ปริมาณเลือดที่ออกมาจะมาก หรือน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเส้นเลือดที่แตก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เลือดกำเดาไหล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

  • โพรงจมูกส่วนหน้า: ส่วนใหญ่มากกว่า 90% ของคนที่มีเลือดกำเดาไหล จะมีเลือดออกมาจากโพรงจมูกส่วนหน้า ซึ่งเป็นจุดที่มีหลอดเลือดฝอยมารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เลือดกำเดาไหลในลักษณะนี้มักไม่อันตราย และเลือดจะหยุดไหลได้เองเมื่อผ่านไป 10-15 นาที 
  • โพรงจมูกส่วนหลัง: พบได้น้อยกว่า โดยเลือดออกจากโพรงจมูกส่วนหลังเกิดจากเส้นเลือดที่อยู่ลึกเข้าไปฉีกขาด ทำให้เลือดไหลออกมาทางจมูก และเข้าไปในคอ เลือดกำเดาไหลลักษณะนี้มักหยุดช้า หลายครั้งก็เกิดจากสาเหตุที่อันตราย เช่น ศีรษะถูกกระทบกระเทือน 

สาเหตุของเลือดกำเดาไหล

การที่หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก มักมีสาเหตุมาจากการระคายเคืองภายในโพรงจมูกซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการระคายเคือง ได้แก่

  • การแคะจมูก หรือใช้ของแข็งแหย่รูจมูก
  • การจามบ่อยๆ หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ
  • ได้รับบาดเจ็บจนจมูกกระทบกระเทือน
  • อยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น และแห้ง
  • เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ ซึ่งทำให้จมูกแห้ง
  • การรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) ปริมาณมาก ทำให้มีเลือดออกง่าย

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เลือดกำเดาไหล

  • อาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณจมูก หรือโพรงไซนัส
  • ความผิดปกติในช่องจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด แคบ หรือโค้งงอเป็นสันแหลม 
  • การอักเสบในช่องจมูก เช่น การติดเชื้อ โรคแพ้อากาศ 
  • เนื้องอกในช่องจมูก หรือโพรงอากาศข้างจมูก
  • โรคเกี่ยวกับเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 

สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ หรือเลือดไหลมาก

สำหรับผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ หรือมีเลือดไหลมาก และหยุดไหลยาก อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติ เช่น

  • เป็นโรคภูมิแพ้ และได้รับสิ่งกระตุ้นอาการแพ้เป็นประจำ
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
  • มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
  • เป็นมะเร็งโพรงจมูก

อันตรายจากเลือดกำเดาไหล

หากเลือดกำเดาไหลออกเพียงนิดๆ หน่อยๆ และสามารถหยุดได้เอง ถือว่าไม่มีอันตรายรุนแรง แต่หากเลือดกำเดาออกบ่อย หยุดไหลยาก หรือเกิดจากเลือดออกที่โพรงจมูกส่วนหลัง ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น

  • เกิดอาการสำลักเลือดจากการที่เลือดไหลลงคอไปยังกระเพาะอาหาร บางครั้งอาจทำให้อาเจียนออกมาเป็นเลือดด้วย
  • เกิดปอดอักเสบจากการที่เลือดออกมาก และไหลไปคั่งค้างที่ปอด
  • เกิดภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดมากเกินไป

การปฐมพยาบาลเมื่อเลือดกำเดาไหล

  • นั่งหลังตรง ก้มหน้าลงเล็กน้อย ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบจมูกเข้าหากัน เพื่อห้ามเลือดที่ไหลจากด้านหน้าโพรงจมูก ทำค้างไว้ 5-10 นาที โดยระหว่างนั้น ให้หายใจทางปากแทน และพยายามอย่าขยับร่างกายมาก
  • หลีกเลี่ยงการแหงนหน้า หรือการนอนราบ เพราะจะทำให้เลือดไหลเข้าไปในคอจนสำลัก หรือเกิดปอดอักเสบได้
  • หากใช้วิธีบีบจมูกแล้วเลือดยังไม่หยุดไหล อาจใช้ผ้าเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งมาวางบริเวณสันจมูก เพื่อช่วยให้หลอดเลือดหดตัว รวมถึงอาจวางแผ่นประคบเย็นไว้ที่หน้าผาก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายก็ได้เช่นกัน
  • ใช้ผ้าก๊อซอัดเป็นชั้นๆ ใส่ในโพรงจมูก 
  • ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือออกมาเป็นจำนวนมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การดูแลตัวเองหลังเลือดหยุดไหล

  • ทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำอุ่น และอาจประคบเย็นต่อไปก็ได้
  • หลังเลือดหยุด ให้นอนพักผ่อนโดยการนอนยกหัวสูง
  • หลีกเลี่ยงการออกแรงมาก เช่น การยกของหนัก
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในจุดที่อากาศเย็นและแห้ง เช่น ห้องที่เปิดแอร์จนหนาว
  • หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก และแคะจมูกระหว่างที่เลือดไหล รวมถึงภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังเลือดหยุดไหล
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ และของร้อนทุกชนิด

การรักษาเลือดกำเดาไหลสำหรับผู้ที่เลือดกำเดาไหลบ่อย หรือเลือดออกมากผิดปกติ

สำหรับผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อย หรือเลือดออกมากจนผิดปกติ อาจต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยแนวทางต่อไปนี้

  • ในกรณีที่เลือดไหลไม่หยุด แพทย์จะให้วัสดุอุดจมูกเพื่อห้ามเลือด เช่น ผ้าก็อซเคลือบวาสลีน โดยต้องใส่วัสดุไว้ในโพรงจมูก 2-3 วัน
  • หากแพทย์มองเห็นจุดที่เลือดออกได้ชัดเจน จะรักษาด้วยวิธี "จี้จุดเลือดออก (Cauterization)" โดยใช้สารซิลเวอร์ไนเตรท (Silver nitrate) และอาจใช้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ร่วมด้วย เพื่ออุดหลอดเลือดบริเวณนั้น
  • ใช้ยาหยอดจมูกเพื่อให้หลอดเลือดหดตัวเฉพาะที่ เช่น 1-3% เอฟิดรีน (Ephedrine) แต่ฤทธิ์ยาอาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบได้ 
  • หากเลือดออกที่โพรงจมูกส่วนหลัง แพทย์จะใช้วัสดุกดห้ามเลือดที่หลังโพรงจมูก เช่น ใช้บอลลูนสายสวนปัสสาวะห้ามเลือด ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บ จึงจำเป็นต้องใช้ยาชา หรือให้ดมยาสลบ และต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย
  • บางรายหากมีอาการมาก และอยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่ใช้วิธีรักษามาตรฐานแล้วรักษาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดโดยการส่องกล้อง รักษาเส้นเลือดที่มีเลือดออก ซึ่งจะทำให้เลือดกำเดาหยุดไหลได้ทันที 

การป้องกันเลือดกำเดาไหล

  • หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ และการแคะจมูก
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่แห้งและหนาวเย็น หากจำเป็นควรใช้ปิโตรเลียมเจลทารอบจมูก เพื่อป้องกันโพรงจมูกแห้ง
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  • หากสาเหตุมาจากยาบางชนิด ให้งดรับประทานยาดังกล่าว เช่น ยาแอสไพริน และยาแก้แพ้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนที่โพรงจมูก และศีรษะ

อย่างไรก็ตาม เลือดกำเดาไหลอาจไม่ได้มีสาเหตุจากการระคายเคืองในโพรงจมูกเสมอไป หมั่นสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากเกิดจากภาวะผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจมะเร็งทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)