โรคหนองในผู้หญิง หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อันตราย

"หนองในผู้หญิง เป็นโรคติดต่อที่หลายคนมองข้าม เนื่องจากอาการของโรคที่เกิดในผู้หญิงจะไม่ค่อยเด่นชัด บางคนเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที "
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคหนองในผู้หญิง หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อันตราย

โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่อาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงจะแสดงไม่เด่นชัด ทำให้ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ดังนั้นผู้หญิงจึงไม่ควรมองข้ามความอันตรายของโรคนี้ การป้องกันที่ถูกวิธีและการตรวจคัดกรองโดยสูตินรีแพทย์สามารถลดอัตราความเสี่ยงของโรคหนองในได้

โรคหนองใน มีทั้งหนองในแท้และหนองในเทียม สำหรับบทความนี้จะเน้นให้ความรู้เรื่องโรคหนองในแท้ในผู้หญิง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของหนองในแท้

โรคหนองในแท้ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไนซ์ซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถเติบโตและเพิ่มจำนวนในเยื่อเมือกบุผิวของร่างกายได้อย่างง่ายดาย

โดยสามารถเติบโตในพื้นที่ที่มีความอุ่นและชื้นอย่างระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และท่อปัสสาวะ รวมถึงบริเวณปาก ลำคอ และทวารหนัก ซึ่งเชื้อนี้จะแพร่จากคนไปสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางด้านหน้าและทางทวารหนัก รวมถึงการใช้ปากสำเร็จความใคร่

สำหรับโรคหนองในแท้ผู้หญิงการติดต่อยังรวมถึงการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในช่วงระหว่างการคลอดทางช่องคลอด โดยทารกแรกเกิดมักจะแสดงอาการติดเชื้อที่ดวงตาในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งจะทำให้ตาของทารกบวมแดง มีของเหลวลักษณะเหนียวข้นคล้ายหนองไหลออกมา หรือถึงขั้นทำให้ทารกตาบอด

นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตทารกได้

ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อหนองใน จึงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งผู้ป่วยที่คิดว่าตนอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในแท้ แม้จะไม่มีอาการของโรคที่แสดงเด่นชัด หรือเคยมีอาการข้างต้นแต่หายไปได้เอง

เนื่องจากโรคหนองในแท้ที่ไม่ได้รับการตรวจรักษานั้น อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการหนองในผู้หญิง

โรคหนองในแท้มักแสดงอาการภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ หรือบางรายอาจไม่มีอาการ

อาการโรคหนองในผู้หญิงที่ปรากฏให้เห็นส่วนใหญ่ ได้แก่

  • มีตกขาวผิดปกติขับออกมาจากช่องคลอด ลักษณะเป็นน้ำ หรือเส้นบางๆ สีออกเขียวหรือเหลือง หรือมีปริมาณมากขึ้น
  • ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บหรือแสบ
  • เจ็บหรือฟกช้ำบริเวณท้องน้อย
  • มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังการมีเพศสัมพันธ์
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ แต่เป็นอาการที่พบได้น้อย

นอกจากนี้การติดเชื้อที่บริเวณอื่นๆ เช่น ทวารหนัก ลำคอ ดวงตา หรือข้อต่อ ก็ย่อมทำให้มีอาการแตกต่างกันไป คือ

  • การติดเชื้อที่ทวารหนักจะทำให้รู้สึกเจ็บ หรือมีของเหลวออกมาจากทวารหนักได้
  • การติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ระคายเคือง เจ็บ บวมหรือมีของเหลวไหลจากดวงตา
  • การติดเชื้อที่ข้อต่อจะส่งผลให้ข้อต่อที่ติดเชื้อรู้สึกอุ่น บวมแดง และเจ็บมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว
  • การติดเชื้อที่ลำคออาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต

การวินิจฉัยหนองในผู้หญิง

โรคหนองในแท้สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ

การรักษาโรคหนองในผู้หญิง

โรคหนองในนั้นสามารถรักษาให้หายได้ การรักษาโรคหนองในแท้สามารถทำได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสั้นๆ โดยฉีดยาปฏิชีวนะแล้วตามด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด

หลังจากได้รับยา ผู้ป่วยจะค่อยๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่อาการเจ็บบริเวณเชิงกรานนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์จึงจะหายดี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจะพบว่าอาการดีขึ้นเมื่อถึงรอบเดือนครั้งถัดไป หลังจากการรักษา 1-2 สัปดาห์

ผู้ป่วยควรไปตามการนัดหมายของแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจดูอีกครั้งให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อขึ้นอีกครั้งหรือเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

หากหลังการรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อซ้ำ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอีกครั้งหรือวินิจฉัยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ คู่นอนของผู้ป่วยก็ควรเข้ารับการตรวจรักษาเช่นเดียวกัน ซึ่งคู่นอนที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อหนองในแท้ซ้ำอีกครั้ง

ส่วนการรักษาทารกที่ได้รับเชื้อหนองในแท้เมื่อแรกเกิด หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคหนองในแท้ แพทย์จะให้ยาหยอดตาเด็กทันทีที่คลอดออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากอาการติดเชื้อพัฒนาขึ้นแล้ว จะรักษาด้วยปฏิชีวนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการได้รับเชื้อหนองในแท้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในผู้หญิง

โรคหนองในแท้ที่ไม่ได้รับการรักษา สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น

  • ภาวะมีบุตรยากในสตรี เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและท่อนำไข่ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อและอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพังผืดที่ท่อนำไข่ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก อาการปวดเชิงกรานระยะยาว ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด เยื่อบุตาทารกอักเสบ เป็นต้น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจึงถือเป็นการติดเชื้อชนิดร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน

การป้องกันโรคหนองในผู้หญิง

โรคหนองในแท้สามารถป้องกันด้วยการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังนี้

  • ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางด้านหน้า ทางทวารหนัก หรือการใช้ปากสำเร็จความใคร่ก็ตาม
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาการผิดปกติ โดยเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ปวดแสบขณะปัสสาวะ เจ็บหรือมีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ
  • พูดคุยสอบถามคู่ของตนเองเกี่ยวกับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคหนองในแท้ ก่อนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศ

รับการตรวจโรคหนองในแท้เป็นประจำ หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปีที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหญิงอายุมากกว่านี้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เปลี่ยนคู่นอนใหม่ มีคู่นอนหลายคน ใช้คู่นอนร่วมกับผู้อื่น หรือคู่นอนป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจโรคหนองในแท้เป็นประจำทุกปี


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ. ดร. นพ. กิติรัตน์ เตชะไตรศักดิ์, ตำรานรีเวชวิทยา, ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล, 2560.
ศ. นพ. ธีระ ทองสง, ตำรานรีเวชวิทยา, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555.
ศ. นพ. ธีระ ทองสง, ตำราสูติศาสตร์, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)