ไมโครพลาสติก (Microplastic) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เกิดจากระบบอุตสาหกรรมพลาสติกสังเคราะห์และผลิตภัณฑ์เวชสำอางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่มีเม็ดบีดส์เป็นส่วนประกอบ (Microbeads) ซึ่งสามารถจำแนกไมโครพลาสติกได้ 2 ชนิดตามธรรมชาติของอนุภาคและแหล่งกำเนิดดังนี้
- Primary microplastic คือ ไมโครพลาสติกที่มีการผลิตเป็นชิ้นเล็กมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตมาเพื่อนำไปเป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์พลาสติกชิ้นใหญ่ เช่น แก้วพลาสติก ถุงพลาสติก หรือใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ในการชำระล้าง (Rinse-off product) เช่น ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า มักเรียกกันในชื่อเม็ดสครับหรือเม็ดบีดส์ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ลักษณะโปร่งแสง
- Secondary microplastic คือ ไมโครพลาสติกที่แตกหักย่อยสลายออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ ตามกาลเวลา เมื่อถูกแสงแดด โดนความร้อน หรือย่อยสลายจากจุลินทรีย์ชีวภาพ เช่น แก้วน้ำพลาสติกหรือถุงร้อนพลาสติกที่ทิ้งไว้ในแหล่งน้ำเป็นเวลานาน
ไมโครพลาสติกมาจากไหน?
คนส่วนมากรู้ว่าไมโครพลาสติกมาจากขยะพลาสติกทั้งหลาย เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงร้อน ฟิล์มห่ออาหาร หากสิ่งเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าพลาสติกจะถูกแสงอาทิตย์และแตกสลายออกเป็นไมโครพลาสติกชิ้นเล็กๆ นับพันชิ้น อย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ พลาสติกแบบชีวภาพที่โฆษณาว่าสามารถย่อยสลายได้ ก็ทำให้เกิดไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำเช่นกัน นอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังสามารถมาจากแหล่งอื่นๆ ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- บ้านเรือน เกิดจากการชำระล้างสิ่งต่างๆ ภายในบ้านเรือนด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากไมโครพลาสติก เช่น โพลิเอสเตอร์ (Polyester) คือเส้นใยพลาสติกจากเสื้อผ้า หรือ ไมโครบีดส์ (Microbeads) ที่อยู่ในยาสีฟัน โฟมล้างหน้าบางชนิด
- การทำประมง มีการพบไมโครพลาสติกแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ตรวจสอบสัตว์ทะเล ซึ่งในบริเวณที่มีการทำประมงเยอะมักพบโมโครพลาสติกไนลอนจากอวนชาวประมงเยอะกว่าบริเวณอื่นๆ
- ยางรถยนต์ ไมโครพลาสติกที่มีแหล่งที่มาจากบนบกส่วนใหญ่มาจากการเสียดสีของยางรถยนต์และพื้นถนน อาจทำให้ฟุ้งกระจายในอากาศได้
ผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อมนุษย์
แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศว่าไมโครพลาสติกที่รับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกผ่านการขับถ่ายได้ ปัจจุบันยังไม่พบอันตราย และยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่หากไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมด และมีระดับที่เล็กลง ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่าไมโครพลาสติกอาจส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายประการในระยะยาว เช่น
- รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า Bisphenol A (ฺBPA) เป็นส่วนประกอบของพลาสติก BPA อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ และ BPA ยังอาจมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงได้ มีผลกระทบถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย
- เด็กมีพัฒนาการลดลง สาร BPA มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและระบบประสาทลดลง
- ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับเอาไมโครพลาสติกเข้าไปมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี จากการกินอาหารทะเลและดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรียอาจเข้าสู่กระแสเลือด และปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด
- อาจเกิดโรคมะเร็ง หากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะไมโครพลาสติกอาจปล่อยพิษหรือโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ
- เป็นตัวกลางนำสารพิษ ไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับ อุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษบางประเภท เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลง DDT ในน้ำ กล่าวคือเมื่อไมโครพลาสติกยิ่งอยู่ในทะเลนาน ก็จะยิ่งดูดซับความเป็นพิษเอาไว้ สัตว์เล็กในทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไปก็จะรับสารพิษนั้นเอาไว้ด้วย เมื่อคนนำมากินก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน
จะหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกได้อย่างไร?
ไมโครพลาสติกเป็นสิ่งที่ปัจจุบันกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยขนาดเล็กจิ๋วมันจึงสามารถแพร่ไปได้ทุกที่ พบทั้งในแผ่นดิน น้ำ อากาศ แม้จะเป็นที่ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลย อย่างไรก็ตาม พอจะมีทางที่จะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกได้มากที่สุด มีดังนี้
- ลดใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นอาหารสำเร็จรูปอุ่นร้อน สามารถทำให้ไมโครพลาสติกปกเปื้อนลงในอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีการพบไมโครพลาสติกจากน้ำดื่มที่มีจำหน่ายในไทยบางชนิดอีกด้วย แม้จะไม่ใช่ปริมาณมากก็ตาม
- ดื่มน้ำประปา การประปานครหลวงเปิดเผยว่ามีโอกาสน้อยมากที่ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนลงในน้ำประปา เพราะมีชั้นกรองอนุภาคขนาดเล็กที่จับไมโครพลาสติกได้
- ไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ การกระทำเหล่านี้ส่งผลกระทบทางอ้อมสู่ร่างกายของคนได้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ฉะนั้นควรคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่อย่างถูกวิธี
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของคนได้ เพราะไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำอาจใช้เวลาถึง 400-500 ปีในการย่อยสลาย วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการแก้ที่ต้นเหตุ โดยลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ช่วยกันรักษาความสะอาดตามแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม รวมถึงแยกขยะให้เหมาะสมสำหรับนำกลับไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี