ทำความรู้จักกับมะปรางและมะยงชิด ผลไม้ฤดูร้อนยอดนิยม มีประโยชน์

มะยงชิด เป็นหนึ่งในสายพันธ์ุของมะปราง มีรูปร่างคล้ายกัน แต่มีรสชาติแตกต่างกัน อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ทำความรู้จักกับมะปรางและมะยงชิด ผลไม้ฤดูร้อนยอดนิยม มีประโยชน์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • มะปราง เป็นผลไม้พื้นบ้านชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศ
  • ในประเทศไทยแบ่งสายพันธุ์ของมะปรางตามรสชาติได้ 3 สายพันธุ์ คือ มะปรางเปรี้ยว มะปรางหวาน และมะยงชิด
  • มะปรางสุก 100 กรัม ให้พลังงาน 53 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12.8 กรัม ใยอาหาร 1.5 กรัม นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ไทอามิน ไรโบพลาวิน และไนอาซิน
  • มะปรางหวานและมะยงชิด จัดเป็น 1 ใน 10 ผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูงที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่นๆ
  • ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

มะปราง (Marian plum) เป็นหนึ่งในผลไม้ฤดูร้อนที่หลายคนนิยมบริโภคและซื้อไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรูปลักษณ์สวยงามคล้ายไข่ไก่ มีสีเหลืองอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว

อย่างไรก็ตาม หลายคนมักเข้าใจผิดว่ามะปรางกับมะยงชิดเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่เมื่อรับประทานกลับพบว่ามีรสชาติที่ต่างกัน จริงๆ แล้ว มะยงชิดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของมะปราง

นอกจากมะยงชิดแล้ว ยังมีมะปรางเปรี้ยวและมะปรางหวาน ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์มีรสชาติแตกต่างกัน

ทำความรู้จักมะปราง

มะปราง เป็นผลไม้พื้นบ้านชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศ

มะปราง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-30 เมตร มีใบมาก รูปร่างคล้ายใบมะม่วง แต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีการผลัดใบ มีกิ่งก้านแตกแขนงจนทึบ และรากแก้วที่แข็งแรงมาก จึงเป็นพืชที่สามารถทนความแห้งแล้งได้ดีได้ดี

ช่อดอกของมะปราง มีลักษณะเป็นช่อแตกแขนง ในช่อมีจำนวนดอกประมาณ 180 ดอกต่อช่อ เมื่อกลายเป็นผล ผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลแก่จะมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม ขนาด 3-10 เซนติเมตร โดยจะมีทั้งทรงกลมและรูปไข่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

มะปรางกับมะยงชิดแตกต่างกันอย่างไร?

มะยงชิดเป็นผลไม้ที่อยู่ในสายพันธุ์มะปราง โดยในประเทศไทยจะแบ่งสายพันธุ์ของมะปรางตามรสชาติได้ 3 สายพันธุ์ คือ มะปรางเปรี้ยว มะปรางหวาน และมะยงชิด มีรายละเอียดดังนี้

  • มะปรางเปรี้ยว หรือที่ชาวสวนนิยมเรียกว่า กาวาง เป็นผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยวจัดแม้ว่าจะสุกแล้วก็ตาม นิยมนำไปแช่อิ่มหรือดองเพื่อรับประทาน
  • มะปรางหวาน มีผลขนาดเล็กถึงใหญ่ รสชาติหวานจัด เมื่อรับประทานแล้วอาจทำให้เกิดอาการไอ ระคายคอ หรือคันคอได้
  • มะยงชิด มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก หากมีรสชาติเปรี้ยวนำหวานมากๆ จะเรียกว่า มะยงห่าง

คุณค่าทางโภชนาการของมะปราง

มะปรางสุก 100 กรัม ให้พลังงานและสารอาหารดังนี้

  • พลังงาน 53 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 12.8 กรัม
  • ใยอาหาร 1.5 กรัม

นอกจากนี้มะปรางยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ไทอามิน ไรโบพลาวิน และไนอาซิน

ประโยชน์ของมะปราง

มะปรางเป็นผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีสูง ซึ่งสารดังกล่าวมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

1. มะปรางกับเบต้าแคโรทีน

ผลการศึกษาของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า มะปรางหวานและมะยงชิด จัดเป็น 1 ใน 10 ผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูงที่สุด

เบต้าแคโรทีนนั้นจัดอยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งเป็นสารที่มีหน้าที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ยับยั้งการกลายพันธุ์ และป้องกันเนื้องอก

ประโยชน์หลักๆ ของเบต้าแคโรทีนคือ ช่วยบำรุงสายตา ชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณ และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูงเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงการเสื่อมของตาในผู้สูงอายุ ลดการเกิดต้อกระจก ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งบางชนิด และโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

2. มะปรางกับวิตามินซี

มะปรางเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งวิตามินซีนั้น เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่มีประโยชนต่อระบบต่างๆ ในร่างกายมากมาย เช่น

  • ช่วงสังเคราะห์คอลลาเจน (Collagen) คาร์นิทีน (Carnitine) และสารเหนี่ยวนำกระแสประสาท (Neurotransmitter)
  • ช่วยเปลี่ยนวิตามิอีที่ถูกใช้ในขบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ (Vitamin E radical) ให้กลับมาอยู่ในรูปวิตามินอีตามเดิม
  • มีส่วนช่วยในการซ่อมและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อร่างกาย ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด และช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ แต่หากมาเริ่มรับประทานตอนเป็นหวัดแล้วจะไม่สามารถช่วยได้

แนะนำของว่างจากมะปราง

มะปรางนอกจากจะรับประทานสดๆ แล้ว ยังเป็นที่นิยมนำไปแช่อิ่มหรือลอยแก้วอีกด้วย ซึ่งมีขั้นตอนในการทำดังนี้

1. มะปรางแช่อิ่ม

วัตถุดิบในการทำมะปรางแช่อิ่ม ได้แก่

  • มะปรางเปรี้ยวดิบ 1.5 กิโลกรัม
  • น้ำเกลือ (เกลือ 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 2 ลิตร)
  • น้ำเชื่อม (น้ำตาล 1/2 กิโลกรัมต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร ต้มกับใบเตย)

ขั้นตอนในการทำมะปรางแช่อิ่ม มีดังนี้

  1. นำมะปรางมาหั่นเป็นแว่นบางๆ นำไปแช่กับน้ำเกลือที่เตรียมไว้ แช่ทิ้งไว้ 1 คืน (สีจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง)
  2. นำมะปรางที่แช่น้ำเกลือ 1 คืน ไปล้างน้ำเกลือ และบีบน้ำออกพอหมาดๆ
  3. นำมะปรางไปแช่กับน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ แล้วนำไปแช่ตู้เย็น 1 คืน เป็นอันเสร็จ

2. มะปรางลอยแก้ว

วัตถุดิบในการทำมะปรางลอยแก้ว ได้แก่

  • มะปรางหวานหรือมะยงชิด 12-15 ลูก
  • น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง
  • น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
  • เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
  • ใบเตย 4-5 ใบ
  • น้ำแข็งป่น

ขั้นตอนในการทำมะปรางลอยแก้ว มีดังนี้

  1. ปอกเปลือกและคว้านเมล็ดของมะปรางหวานหรือมะยงชิดให้เรียบร้อย หากชอบรสหวานอมเปรี้ยว แนะนำให้เลือกผลที่ตรงขั้วยังมีสีเขียวอยู่
  2. ทำน้ำเชื่อมด้วยการใส่น้ำเปล่า น้ำตาล เกลือป่น และใบเตย เคี่ยวไฟอ่อนจนละลายเข้าด้วยกัน ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
  3. นำมะปรางหรือมะยงชิดที่เตรียมไว้ใส่ถ้วย ราดด้วยน้ำเชื่อม ใส่น้ำแข็งป่น เป็นอันเสร็จ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่า มะปรางเป็นผลไม้ที่มีทั้งรูปลักษณ์สวยงาม น่ารับประทาน และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าซื้อมารับประทานในช่วงหน้าร้อนนี้ เพราะนอกจากจะอร่อยแล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นศภ. ปฏิมา บุญมาลี, วิตามินซีกับการป้องกันหวัด (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17).
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) (http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/studen_beta_58.pdf).
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, สารต้านอนุมูลอิสระ (เบต้าแคโรทีน วิตามินอี วิตามินซี) ในผลไม้ (http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/antioxidan.pdf).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)