ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยเป็นดอกไม้ประจำศาสนาพุทธและเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดีอีกด้วย
แต่นอกเหนือจากประโยชน์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่า บัวนั้นยังมีประโยชน์และสรรพคุณต่อสุขภาพอีกมากมายอีกด้วย
ลักษณะของบัว
บัว เป็นพืชน้ำล้มลุกซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษที่แพร่หลายอยู่ 2 ชื่อ คือ Lotus และ Waterlily และยังได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้น้ำ” อีกด้วย
บัวจัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์บัวสาย (Nymphaeaceae) มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกยกสูงเหนือน้ำที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวทรงกลม ก้านใบยาวเป็นสีเขียวอ่อน ผิวด้านบนมันลื่น ส่วนด้านล่างมีขนนุ่ม แต่บางสายพันธุ์ก็ไม่มีขน
ดอกบัวจะเป็นดอกเดี่ยว เมื่อบานแล้วจะมีทรงคล้ายร่ม มีกลีบเลี้ยงทั้งหมด 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปปลายหอกแคบหลายชั้นซ้อนกัน ส่วนตัวกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายกัน มีสีสันแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น สีชมพู สีม่วง สีขาว สีม่วง สีน้ำเงิน
สายพันธุ์ของบัวในประเทศไทย
สายพันธุ์บัวที่ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงกัน มีอยู่หลักๆ ทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่
1. บัวหลวง
บัวหลวง (Lotus) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Nelumbo nucifera Gaertn." หรือที่มีชื่อสละสลวยว่า “ปทุมชาติ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตร้อนและอบอุ่น
ลักษณะเด่นของบัวหลวง มีดังต่อไปนี้
- ส่วนเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน มีลักษณะเป็นปล้องยาวสีเหลืองอ่อน
- ก้านดอกและก้านใบชูเหนือน้ำ มีเปลือกแข็งสีเขียวอ่อนและมีหนามติดอยู่ทั้งก้าน
- ใบบัวเป็นใบเดี่ยวรูปโล่ ส่วนรูปใบมีลักษณะกลม ด้านบนมี “มวนตองเกลือ” ซึ่งเป็นสารมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งเคลือบไว้ ทำให้น้ำไม่เกาะตัวใบบัว
- สีกลีบดอกบัวหลวงที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ สีขาวและสีชมพู มีกลิ่นหอม มักเริ่มบานในตอนเช้า
- มีรูปทรงดอกเป็นดอกแหลม
- เป็นพันธุ์ดอกบัวที่สามารถชูขึ้นเหนือนำได้ถึง 2 เมตร
พันธุ์ของบัวหลวงที่แพร่หลายในประเทศไทยจะมีอยู่ 4 พันธุ์ได้แก่ บัวแหลมแดง บัวแหลมขาว บัวฉัตรแดง บัวฉัตรขาว
2. บัวสาย
บัวสาย (Waterlily) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Nymphaea lotus Linn." บัวสายมีหลายชื่อเรียกที่แตกต่างไปตามภูมิภาค เช่น ภาคเหนือเรียก ป้านแดง ภาคกลางเรียก บัวขม หรือ บัวกินสาย
บัวสายมีลักษณะเด่นดังต่อไปนี้
- ใบมีลักษณะกลม มีขอบหยักและแหลมถี่เรียงกัน
- ผิวใบเป็นตะปุ่มตะป่ำ ตัวฐานเปิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซนติเมตร
- ดอกชูพ้นจากผิวน้ำ พบได้หลายสีทั้งสีชมพูเข้ม ชมพูอ่อน ขาว แดง
- เป็นสายพันธุ์ดอกบัวที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี
ดอกบัวสายจะมีทั้งแบบบานในช่วงกลางวัน (Tropical day blooming) รู้จักกันในชื่อ บัวผัน หรือ บัวเผื่อน โดยดอกจะบานในตอนกลางวัน และจะหุบในช่วงเย็น มีทั้งสีส้ม แดง เหลือง ขาว ชมพู ม่วงแดง สีฟ้าคราม สีเหลือง
กับอีกแบบคือ ดอกบัวสายที่บานในช่วงกลางคืน (Tropical night blooming) ซึ่งดอกจะบานเต็มที่ในช่วงกลางคืน และหุบในช่วงสายของวันใหม่ มักพบเป็นดอกสีแดง ขาว ชมพู
3. บัวฝรั่ง
บัวฝรั่ง (Hardy water-lily) ชื่อเรียกนี้ได้มาจากถิ่นกำเนิดที่มักอยู่ในเขตอากาศหนาว มีหิมะตก มักจะเจริญเติบโตใด้ดีในอุณหภูมิน้ำประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส มีลักษณะเด่นดังต่อไปนี้
- ลักษณะใบเป็นวงกลมแผ่นหนา ขอบใบเรียบ ด้านบนมีพื้นผิวมีลักษณะเป็นมัน สีเขียวสด
- มีขนขึ้นทั้งก้านดอกและก้านใบ ตัวก้านมีขนาดอวบอ้วน
- ดอกพ้นจากน้ำเพียงเล็กน้อย มักบานเต็มที่ในช่วงบ่ายและเย็น
- อาจมีกลิ่นหอมหรือไม่หอม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
บัวฝรั่งสามารถพบได้หลายสี ทั้งสีชมพูอมส้ม สีชมพู สีขาว สีเหลือง สีแดง
นอกเหนือจากบัวทั้ง 3 วงศ์ที่กล่าวไป ยังมีบัวจงกลนี ซึ่งเป็นบัวที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศไทย และบัวกระด้ง หรืออีกชื่อคือ บัววิกตอเรีย (Victoria waterlily) เป็นบัวที่ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ และได้รับความนิยมในการปลูกเลี้ยงในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
หลายคนอาจเคยเห็นบัวกระด้งผ่านตามาบ้างจากตัวใบที่มีขนาดใหญ่มากถึง 6 ฟุต บริเวณขอบใบจะยกขึ้นมีลักษณะคล้ายกระด้ง
ใบบัวกระด้งบางพันธุ์คนสามารถขึ้นไปยืนหรือนั่งได้ด้วย ทำให้มีสวนหรือบึงบางแห่งใช้จุดเด่นนี้ของบัวกระด้งที่ปลูกไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
สรรพคุณทางยาของบัว
บัวมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำรุงร่างกาย และรักษาอาการของโรคได้มากมาย เช่น
- ในรากบัวมีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซึ่งจะช่วยบำรุงระบบการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ทั้งยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
- รากบัวมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavoniod) ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็งได้ และยังเป็นสารต้านอนมูลอิสระได้ดีด้วย
- ในรากบัวมีสารไฟเบอร์ และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนซึ่งช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือดเมื่ออายุมากขึ้นได้ จึงทำให้โอกาสเป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้สูงอายุลดลง
- รากบัวมีฤทธิ์แก้อาการไข้ขึ้นสูง แก้ร้อนใน และอาการอักเสบได้
- รากบัวช่วยเป็นยาชูกำลัง ทำให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้นได้
- รากบัวสามารถเป็นยารักษาอาการท้องร่วงเรื้อรัง
- รากบัวช่วยลดอาการเลือดออกต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เลือดออกทางทวารหนัก อีกทั้งมีธาตุเหล็กช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต
- รากบัวเป็นยานอนหลับแบบอ่อนๆ ทำให้หลับได้สบายและง่ายยิ่งขึ้น
- การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของบัวจะทำให้อิ่มทองได้ยาวนาน มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้
- รากบัวมีวิตามินบีและวิตามินซีซึ่งช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ช่วยบำรุงผม และระบบผิวหนังของคุณให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
- รากบัวช่วยลดความเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษเนื่องมาจากการได้รับสารน้ำมากเกินไป เพราะโพแทสเซียมในบัวจะไปกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะของคุณทำงานได้อย่างสมดุลขึ้น
- เมล็ดบัวมีสรรพคุณบำรุงระบบประสาท และช่วยการทำงานของไตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การนำบัวไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
นอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว บัวยังสามารถนำไปปรับใช้ประโยชน์ภายในบ้านคุณได้หลายอย่าง เช่น
- นำใบบัวมาห่อข้าว อาหาร หรือขนม หรือห่อผักสดเก็บไว้ในตู้เย็น รวมถึงนำมาใช้ใบบัว หรือก้านบัวเป็นวัสดุทำงานประดิษฐ์หรือของเล่นพื้นบ้านต่างๆ
- เปลือกและฝักของบัวสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้
- เกสรของบัวเกสรมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยจุดเด่นของบัวที่ดีต่อผิวก็คือ ช่วยให้ผิวหน้าคุณเต่งตึง ผิวนุ่มชุ่มชื้นมากขึ้น นอกจากนี้ เกสรตัวผู้ของดอกบัวสามารถนำาทำเป็นครีมกันแดดได้ด้วย
ตัวอย่างเมนูอาหารจากบัว
บัวถือเป็นส่วนประกอบสำหรับปรุงอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น
1. ต้มกะทิสายบัวปลาทู
ส่วนผสมสำคัญ ได้แก่
- ปลาทูนึ่งตัดหัวทิ้ง 2-3 ตัว
- มะพร้าวขูดครึ่งกิโลกรัมคั้นให้ได้หัวกะทิ 1 ถ้วยและหางกะทิ 2 ถ้วย
- สายบัวขาวลอกเปลือกแล้ว หั่นเป็นท่อนยาว 3 นิ้ว ลวกสุกให้ได้ปริมาณประมาณ 250 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา ¼ ถ้วย
- น้ำมะขามเปียก ¼ ถ้วย
- หอมเล็กปอกเปลือกบุบพอแตก 5-6 หัว
- รากผักชีสับหยาบ 1 กับอีกครึ่งช้อนโต๊ะ
- พริกไทยเม็ด 1 ช้อนขา
- กะปิ 1กับอีกครึ่งช้อนโต๊ะ
วิธีทำ ก่อนอื่นเริ่มจากโขลกน้ำพริกแกงให้ละเอียด จากนั้นผสมหัวกะทิกับหางกะทิลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟกลางแล้วใส่พริกแกงลงไป คนให้ละลาย จากนั้นใส่หอมเล็กตาม เมื่อน้ำเดือดแล้วให้ใส่ปลาทูลงไปต้มประมาณ 1-2 นาที
หลังจากนั้นให้ปรุงด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำมะขามเปียก ปรุงรสตามชอบ แล้วใส่สายบัวตามลงไป ปิดฝาหมอต้มต่ออีกสักพักเพื่อให้สายบัวสุกดีและรสชาติเข้ากับน้ำแกงที่ปรุง หลังจากนั้นปิดไฟ ตักเสิร์ฟได้เลย
นอกจากเมนูต้มกะทิสายบัวปลาทูแล้ว ยังมีเมนูอาหารคาวอื่นๆ ที่ทำจากส่วนประกอบของบัวได้อีก เช่น
- ผัดสายบัวหมูสับ
- กุ้งผัดสายบัว
- ตำสายบัว
- แกงส้มสายบัว
- ซี่โครงหมูตุ๋นรากบัว
- ไหลบัวผักพริกไข่เค็ม
2. รากบัวต้มน้ำตาล
ส่วนผสมสำคัญได้แก่
- รากบัวหลวงหั่นเป็นชิ้นประมาณ 500 กรัม
- น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลมะพร้าวก็ได้
- น้ำเปล่า 1,500 กรัม
- ใบเตยหอมหั่น
- เกลือ 3 กรัม
วิธีปรุงเริ่มจาก ใส่น้ำตาลลงไปในหม้อ ใส่น้ำเปล่า ตามด้วยเกลือ แล้วคนให้ละลายเข้ากัน จากนั้นใส่ใบเตยหอมลงไป ตั้งไฟกลาง ใส่รากบัวที่หั่นแล้ว รอจนรากบัวเดือดแล้วจึงลดไฟลง
หลังจากนั้นให้คุณช้อนฟองในหม้อออก ต้มต่อไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง หรือสังเกตดูว่ารากบัวเป็นสีน้ำตาลแล้ว แสดงว่าสุกพร้อมรับประทาน ให้หรี่ไฟลง พักหม้อให้เย็นก่อนแล้วจึงตักเสิร์ฟ
คุณสามารถรับประทานรากบัวต้มน้ำตาลแบบร้อน หรือแบบใส่น้ำแข็งเป็นของหวานคลายร้อนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเมนูของหวานจากบัวที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น
- ขนมสายบัว
- แปะก๊วยใส่รากบัว
- บัวลอยงาดำน้ำรากบัว
- บัวลอยงาดำ
- รากบัวเชื่อม
- วุ้นรากบัว
ข้อควรระวังเกี่ยวกับบัว
บัวอาจมีประโยชน์ทั้งด้านสรรพคุณทางยาและการปรุงอาหาร แต่บัวก็มีข้อเสียบางอย่างที่คุณจะต้องระมัดระวัง
- เกสรบัวสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ไม่ต่างจากเกสรดอกไม้ชนิดอื่นๆ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จึงควรระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสเกสรดอกบัว
- บัวมีสรรพคุณช่วยแก้อาการเกี่ยวกับระบบขับถ่ายได้ แต่ผู้ที่มีอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ ก็ควรระมัดระวังเกี่ยวกับการรับประทานเม็ดบัว เพราะหากรับประทานไม่ถูกก็อาจเปลี่ยนเป็นเร่งให้ขับถ่ายบ่อยเกินไปจนเสียน้ำในร่างกาย
ทางที่ดี กลุ่มผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า สามารถรับประทานได้หรือไม่
ตั้งแต่สมัยโบราณ ได้มีการนำบัวมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายจนเรียกได้ว่าเป็นพืชที่อยู่กับคู่วิถีชีวิตคนไทยมานาน
อย่างไรก็ตาม คุณควรจะปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้บัวเพื่อบำรุงสุขภาพก่อน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนที่อาจตามมาภายหลังจากการใช้บัวอย่างไม่เหมาะสม
ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android