เลือดกำเดา (Nosebleed)

เลือดกำเดา (Nosebleed)
เผยแพร่ครั้งแรก 4 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เลือดกำเดา (Nosebleed)

เลือดกำเดาไหลควรทำอย่างไร ก้มหรือเงย? ประคบร้อนหรือประคบเย็น? เลือดถึงจะหยุดไหล HonestDocs มีคำตอบ

เกี่ยวกับเลือดกำเดา

เลือดกำเดา (Nosebleeds หรือ Epistaxis) เป็นอาการที่ดูน่ากลัว แต่ก็มักไม่ใช่สัญญาณของภาวะร้ายแรงใดๆ และมักรักษาได้เองที่บ้าน เลือดกำเดาอาจไหลออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ปริมาณมากหรือน้อยก็ได้ สามารถกินระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีจนถึง 10 นาทีขึ้นไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการเลือดกำเดาออกร้ายแรงหรือไม่?

เลือดกำเดามักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยหรือมีเลือดออกมากอาจบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ได้ อย่างเช่นภาวะความดันโลหิตสูงหรือภาวะลิ่มเลือดผิดปรกติซึ่งควรต้องเข้ารับการตรวจสอบทันที

การเลือดออกมาเป็นระยะเวลานานยังอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้อย่างโรคโลหิตจาง เป็นต้น

หากแพทย์คาดว่าคุณมีสาเหตุทางสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการเลือดกำเดาออก พวกเขาอาจส่งคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านหู, จมูก, และลำคอ (ENT) เพื่อรับการทดสอบเพิ่มเติม

สาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาสามารถเริ่มไหลจากภายในจมูกส่วนหน้า (Anterior) หรือจากหลังจมูก (Posterior) ก็ได้ การไหลออกมาจากจมูกสองส่วนมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้

  • เลือดกำเดาออกจากภายในจมูกส่วนหน้า : อาการเลือดกำเดาออกจากภายในจมูกส่วนหน้ามักจะเกิดขึ้นกับเด็ก และมักไม่ใช่สัญญาณของภาวะร้ายแรง สามารถทำการรักษาได้เองที่บ้าน สาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหลจากจมูกส่วนหน้ามักมาจากเส้นเลือดฝอยในจมูกส่วนนี้ถูกกระทบกระเทือน โดยอาจเกิดจากการแคะจมูก โดยเฉพาะหากคุณเกาภายในจมูกด้วยเล็บยาว สั่งน้ำมูกแรงเกินไป ใช้น้ำยาล้างจมูกบ่อยเกินไป บางครั้งเกิดเลือดกำเดาไหลจากภายในจมูกส่วนหน้าก็เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น คัดจมูกหรือจมูกตันจากการติดเชื้ออย่างหวัดหรือไข้หวัดใหญ่บ่อยครั้ง เป็นไซนัสอักเสบหรือภาวะติดเชื้อที่โพรงอากาศภายในกระดูกแก้มและหน้าผาก ไข้ละอองฟางหรือภูมิแพ้อื่นๆ
  • เลือดกำเดาออกจากหลังจมูก : อาการเลือดกำเดาออกจากหลังจมูกนี้ มักเกิดกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และอาจมีความรุนแรงกว่าอาการเลือดกำเดาจากจากภายในจมูกส่วนหน้า ทำให้มีเลือดออกปริมาณมาก จนอาจต้องพึ่งกระบวนการทางการแพทย์รักษา สาเหตุของเลือดกำเดาไหลออกจากหลังจมูกนี้ มาจากเลือดออกจากสาขาแยกย่อยของหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดจากพื้นที่ภายในจมูกกับเพดานปากกับสมอง (Nasal Cavity) เลือดกำเดาไหลออกจากหลังจมูกอาจเกิดจากการล้มหรือเกิดการกระแทกที่ศีรษะ จมูกหัก เป็นผลข้างเคียงจากการผ่าตัดจมูก หรือเป็นอาการที่เกิดเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เป็นโรคเลือดไม่แข็งตัว โรคหลอดเลือดแข็ง มีเนื้องอกในโพรงจมูก มีภาวะหลอดเลือดพองจากกรรมพันธุ์ เป็นโรคลูคีเมีย หรืออาจเป็นผลจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ซึ่งทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
  • ผู้มีความเสี่ยงต่ออาการเลือดกำเดาไหล
  • เลือดกำเดาไหลสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป และผู้คนส่วนใหญ่จะมีอาการนี้เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่มักประสบกับอาการนี้มากกว่าผู้อื่น เช่น
  • เด็กที่อายุระหว่าง 2-10 ปี
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้หญิงมีครรภ์
  • ผู้ที่ใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยาต้านเลือดแข็งตัว (Anticoagulants) อย่างวาร์เฟริน (Warfarin)
  • ผู้ที่มีปัญหาภาวะลิ่มเลือดผิดปรกติอย่างฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด
  • การเลือดออกอาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหรือยาวนานได้ หากคุณใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด มีภาวะเลือดออกผิดปรกติ หรือมีความดันโลหิตสูง
  • เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
  • ปกติแล้วเลือดกำเดาไหลสามารถหายได้เอง แต่หากผู้ป่วยเข้าข่ายดังต่อไปนี้ ควรพบแพทย์
  • เป็นผู้อยู่ในระหว่างใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) อย่างวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือมีภาวะลิ่มเลือดผิดปกติ อย่างโรคเลือดไหลไม่หยุด (Haemophilia)
  • เป็นผู้ที่มีอาการของโรคโลหิตจาง (Hnaemia) เช่น ใจสั่น หายใจลำบาก ผิวซีด
  • เป็นเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบ
  • มีอาการเลือดกำเดาไหลแบบเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง
  • และหากอาการรุนแรงหรือมีผลข้างเคียงจากเลือดกำเดาไหล เช่นกรณีดังนี้ คุณควรขอให้คนอื่นพาไปโรงพยาบาลหรือเรียกรถพยาบาลมารับ
  • มีเลือดออกนานกว่า 20 นาที
  • เลือดออกมากและเสียเลือดไปมาก
  • มีอาการหายใจลำบาก
  • กลืนเลือดไปปริมาณมากจนทำให้อาเจียน
  • เลือดกำเดาที่ไหลออกมาเกิดหลังจากบาดเจ็บร้ายแรง เช่น รถชน

การรักษาอาการเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาส่วนมากจะหยุดไหลไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ในบางครั้งหากมีอาการรุนแรงหรือมีอาการบาดเจ็บอื่นๆ ร่วมรด้วยก็อาจต้องได้รับการรักษา

สิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองเมื่อเลือดกำเดาไหล มีดังนี้

  • นั่งลงและบีบจุดอ่อนนุ่มของจมูกที่อยู่เหนือรูจมูกให้แน่นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาที
  • เอนตัวไปข้างหน้าและหายใจทางปาก การทำเช่นนี้จะช่วยให้เลือดไหลออกจากจมูก แทนที่จะไหลลงคอ
  • ใช้ถุงน้ำแข็งหรือถุงผักแช่แข็งประคบบนดั้งจมูก
  • นั่งให้ตรงแทนการนอน เพื่อช่วยลดแรงดันเลือดบริเวณจมูกลง ส่งผลให้เลือดไหลน้อยลง

หากอาการดูย่ำแย่จนต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล คุณจะได้รับประเมินความรุนแรงและสาเหตุของอาการที่เป็น ซึ่งมักจะเป็นการมองเข้าไปในจมูก วัดความดันและชีพจร ตรวจเลือด รวมถึงสอบถามอาการอื่นๆ ร่วมด้วย จากนั้นแพทย์มักดำเนินการดังนี้

  • จี้จุดที่เลือดออกด้วยซิลเวอร์ไนเตรต : หากสามารถระบุตำแหน่งที่เลือดออกได้ แพทย์อาจใช้วิธีจี้จุดนั้นด้วยแท่งสารเคมีซิลเวอร์ไนเตรต (Silver Nitrate) โดยจะมีการพ่นสเปรย์ยาชาเฉพาะจุดเข้าจมูกเพื่อทำให้ชาก่อนล่วงหน้า วิธีนี้กินเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น
  • ยัดจมูกด้วยผ้าก๊อซหรือฟองน้ำ : หากวิธีจี้ไม่ได้ผล หรือแพทย์ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เลือดออกได้ พวกเขาจะแนะนำให้คนไข้ยัดผ้าก๊อซหรือฟองน้ำสำหรับซับเลือดกำเดาเข้าไปหยุดการไหลของเลือด วิธีนี้มักดำเนินการหลังการพ่นสเปรย์ยาชาใส่จมูกก่อน และต้องทิ้งผ้าก๊อซหรือวัสดุปิดแผลไว้ในจมูกนาน 24-48 ชั่วโมง ก่อนที่แพทย์จะเป็นผู้นำออกมาเอง ระหว่างนั้นผู้ป่วยต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังอาการ
  • วิธีการรักษาแบบอื่นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านหู จมูก และลำคอ : ได้แก่ จี้ไฟฟ้าเพื่อหยุดเลือด ถ่ายเลือดเพื่อชดเชยเลือดที่สูญเสียไป ใช้ยาช่วยทำให้เลือดเป็นลิ่ม ทำการผ่าตัดผูกหลอดเลือดในจมูก 
  • การป้องกันเลือดกำเดาไหล
  • มีหลายสิ่งที่คุณสามารถปฏิบัติ เพื่อป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหลได้ ดังนี้
  • เลี่ยงการแคะจมูก และตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ
  • ระมัดระวังอย่างสั่งน้ำมูกแรงเกินไป
  • หากจมูกแห้งเกินไป สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเจลช่วยให้ความชุ่มชื้น
  • สวมเครื่องป้องกันศีรษะ ขณะทำกิจกรรมที่อาจสร้างความบาดเจ็บกับศีรษะหรือจมูก
  • หากใช้น้ำยาหรือชุดอุปกรณ์ล้างจมูก ควรปฏิบัติตามฉลากวิธีการใช้อย่างเคร่งครัด และไม่ใช้บ่อยเกินไป

8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Nosebleed (Epistaxis). Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/a_to_z/nosebleed-epistaxis-a-to-z)
Causes and Treatment of Nosebleeds. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/nosebleeds-causes-2328816)
Nosebleed. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/nosebleed/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)