รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ดีจริงหรือ? รวมเรื่องการตีลูกที่พ่อแม่ควรรู้

ไม่ต้องใช้ความรุนแรงกับลูก ไม่ต้องตีลูก เด็กๆ ก็สามารถปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้การตียังอาจมีผลร้ายกว่าที่คุณเคยคิด!
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ดีจริงหรือ? รวมเรื่องการตีลูกที่พ่อแม่ควรรู้

เมื่อลูกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอาจมีวิธีการลงโทษที่แตกต่างกัน

ในอดีตมีสุภาษิตคำพังเพยที่กล่าวว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งเป็นวิธีการลงโทษที่ใช้กันบ่อยๆ

การลงโทษโดยวิธีนี้อาจเป็นแนวทางการแก้พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่บางบ้านเลือกใช้เมื่อเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และอยากให้รู้เรียนรู้ว่าสิ่งใดไม่สมควรทำ แต่แม้จะเห็นว่าลูกหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นทันที นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะไม่ทำซ้ำอีก

ยิ่งกว่านั้น เมื่อโตขึ้นลูกอาจใช้ความรุนแรงมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

การตีลูกเป็นการลงโทษที่ถูกต้องหรือไม่?

วิธีจัดการกับพฤติกรรมหรือเพื่อฝึกวินัยเด็กนั้น มักจะใช้การปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้น

มีหลายวิธีที่สามารถใช้สำหรับการปรับพฤติกรรมได้ เช่น การให้แรงเสริม (Reinforcement) การลงโทษ (Punishment) การเพิกเฉย (Extinction)

มีคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้การลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการดุด่าหรือเฆี่ยนตี เพราะเชื่อว่าจะทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีหายไป เด็กจะจดจำเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ และไม่กล้าทำซ้ำอีก

ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูก็ใช้เพียงแค่มือในการตี แต่บางคนก็ใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไม้ ไม้แขวนเสื้อ หรือเข็มขัด เพื่อให้ลูกรู้สึกกลัวและจดจำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถใช้เพื่อปรับพฤติกรรมและฝึกวินัยเด็กได้เช่นกัน

ตีลูกแล้วลูกฟังมากขึ้นไหม?

ในต่างประเทศมีการศึกษาเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างคู่พ่อแม่กับลูก เมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น

พบว่าคู่พ่อแม่จะเริ่มต้นโดยการใช้คำพูดตักเตือนลูก เมื่อลูกไม่ยอมทำตาม หลังจากนั้นประมาณ 30 วินาทีจะใช้วิธีการลงโทษทางกายโดยการตี ลูกจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวทันที

ซึ่งพ่อแม่จะเห็นว่าการลงโทษด้วยการตี ทำให้ลูกหยุดฟังและยอมทำตามมากขึ้น แต่นั่นก็เป็นผลดีเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะการเรียนรู้ด้วยวิธีการดังกล่าวเกิดจากความกลัวของลูก แล้วสุดท้ายไม่เกิดการเรียนรู้ และไม่เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสมองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตต่อไป

การตีลูกทำให้ลูกจดจำและไม่กล้าทำเรื่องไม่ดีอีกจริงหรือไม่?

เด็กจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างดี โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อบอุ่น และรู้สึกปลอดภัย

การเรียนรู้นั้นๆ จะทำให้สมองจดจำเหตุการณ์ได้ยาวนาน และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเจอกับสิ่งใหม่ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้จากความเจ็บปวดผ่านความกลัวก็อาจทำให้เด็กจดจำสิ่งต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน แต่โครงสร้างสมองและเครือข่ายเส้นประสาทจะพัฒนาไม่เต็มที่ เมื่อเจอเหตุการณ์หรือสิ่งใหม่ๆ ผ่านเข้ามา อาจไม่สามารถปรับตัวยืดหยุ่นต่อปัญหาต่างๆ และทำพฤติกรรมไม่ดีซ้ำๆ ได้

การตีลูกให้ประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน?

แม้การลงโทษลูกทางกายโดยวิธีการตีจะเป็นที่ยอมรับและใช้กันหลากหลายในอดีต และพบว่าคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูส่วนมากจะผ่านการเลี้ยงดูและการลงโทษด้วยวิธีการตีเช่นเดียวกัน

แต่ปัจจุบันมีหลายการศึกษาทั่วโลกที่แสดงให้เห็นว่าไม่พบประโยชน์และข้อดีของการลงโทษทางกาย ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตีด้วยมือหรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตามส่วนของร่างกายเพื่อให้ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือจดจำ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เด็กที่ถูกทำโทษด้วยการตีมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน ที่อายุ 3 ปี จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเมื่ออายุ 5 ปี และเมื่อติดตามเด็กกลุ่มนั้นไปจนอายุ 9 ปี ก็พบว่ามีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน มีการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาและขาดการควบคุมตนเองมากขึ้น

การลงโทษทางกายโดยการตียังส่งผลต่างๆ ดังนี้

  • หากมีการลงโทษโดยการตีในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 เดือน พบว่าก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางกายที่รุนแรง
  • การลงโทษโดยการตีลูกซ้ำๆ นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก
  • การลงโทษโดยการตีเพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กวัยอนุบาลและวัยประถมมากขึ้น
  • การลงโทษโดยการตีเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาทางสภาพจิตใจ อารมณ์ และการเรียนรู้เมื่อโตขึ้น
  • การลงโทษทางกายหรือการใช้ความรุนแรงสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการพยายามฆ่าตัวตาย การดื่มสุราอย่างหนัก และการใช้สารเสพติดเมื่อโตขึ้น

คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูจะเห็นว่า การลงโทษทางกายโดยการตีส่งผลกระทบด้านลบอย่างมาก ต่อการพัฒนาทั้งสติปัญญาและอารมณ์ของลูก

ยังมีอีกหลากหลายวิธีในการทดแทนการลงโทษลูกด้วยวิธีการตี ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการปรับพฤติกรรม อบรมสั่งสอนและฝึกวินัยลูกได้

ไม่ตีลูกแล้วควรทำอะไรแทน?

การสอนลูกเพื่อให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี เป็นหน้าที่หลักที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดู ซึ่งหน้าที่นี้จะต้องอาศัยเวลาและความอดทนเพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงและเพื่อให้ลูกมีพฤติกรรมดีๆ

วิธีการปรับและส่งเสริมพฤติกรรมด้วยวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและมีการศึกษามายาวนานว่าเป็นวิธีการเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสม โดยมีคำแนะนำดังนี้

1. คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ดูเป็นตัวอย่างและบอกสิ่งที่ควรทำ

เมื่อลูกทำผิด ลูกควรได้รับการสอนในสิ่งที่ถูกต้องทดแทน โดยใช้ท่าทีที่สงบ และไม่ดุด่าลูกโดยใช้คำพูดที่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกปฏิบัติตาม

2. มีข้อจำกัดชัดเจน

ตั้งกฏ กติกาอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามกฏที่ตั้งไว้ให้เหมาะสมตามช่วงอายุและความเข้าใจของลูก

3. บอกสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากลูกไม่ปฏิบัติตาม

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดให้ชัดเจนว่าหากลูกไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น เช่น “หากหนูไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่จะไม่ให้หนูเล่นของเล่นวันนี้ทั้งวัน”

และคุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติตามที่พูดเช่นนั้นกับลูกเสมอ ที่สำคัญ ไม่ควรใช้วิธีการลงโทษโดยงดสิ่งที่ลูกจำเป็นต้องได้รับในแต่ละวัน เช่น อาหารและนม เป็นต้น

4. ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึก

การรับฟังลูก เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ความสัมพันธ์ของคุณพ่อคุณแม่และลูกไปในทางที่ดี และยังเป็นการส่งเสริมการปรับพฤติกรรมที่ดีด้วย

5. ชมลูกเมื่อลูกทำดี

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงหลายคนมักเพ่งเล็งพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกเป็นสำคัญ จนบางครั้งหลงลืมชื่นชมพฤติกรรมที่ดีๆ

ความจริงเวลาลูกทำดีหรือทำพฤติกรรมที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรชื่นชมและให้ความสำคัญทันที เช่น “หนูเก่งมากเลย ที่หนูเล่นของเล่นเสร็จแล้วเก็บของเล่นเข้าที่ให้เรียบร้อย” เป็นต้น

6. ให้ลูกเรียนรู้ผลของการกระทำด้วยตนเอง

หากกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ลูกกระทำไม่ได้ส่งผลกระทบอันตรายหรือเป็นเรื่องที่รุนแรงเกินไป บางครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรปล่อยให้เด็กเรียนรู้ผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้น เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

เช่น หากลูกโยนขนมลงพื้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องทำอะไร สุดท้ายลูกจะไม่มีขนมกิน (คุณพ่อคุณแม่ห้ามให้ขนมชิ้นใหม่ หรือของกินอื่นๆ ทดแทน) หรือ ถ้าลูกเล่นของเล่นชิ้นโปรดอย่างไม่ระวังจนเสียหาย ของเล่นพัง สุดท้ายลูกจะไม่มีของเล่นชิ้นโปรดเล่น

7. เตรียมตัวก่อนเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี

คุยกับลูกก่อนว่าหากลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม จะมีวิธีการจัดการกันอย่างไร ให้ลูกช่วยหาวิธีจัดการตนเองร่วมกัน

8. หันเหความสนใจทำอย่างอื่น

บางครั้งลูกอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพราะเบื่อ ไม่มีอะไรทำ หรือไม่รู้ว่าทำอะไรจะดีกว่าเดิม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเฝ้าสังเกตสิ่งเหล่านี้ และหากิจกรรมสนุกๆ หรือสิ่งแปลกใหม่ให้ลูกได้เล่นและเรียนรู้

9. ใช้วิธีการลงโทษแบบอื่น ๆ

ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือตีลูก อาจใช้วิธี Time-out หรือแยกเด็กออกจากสิ่งที่กระตุ้น หรือความสนใจจากสิ่งรอบตัวชั่วคราว เป็นต้น


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Journal of Abnormal Child Psychology, The effect of time-out release contingencies on changes in child noncompliance (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/7217541?dopt=Abstract), March 1981
Pediatrics, Effective Discipline to Raise Healthy Children (https://pediatrics.aappublications.org/content/142/6/e20183112), 1 December 2018
Healthy Children, What’s the Best Way to Discipline My Child? (https://www.healthychildren.org/English/family-life/family-dynamics/communication-discipline/Pages/Disciplining-Your-Child.aspx), 5 November 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)