เพิ่มความฉลาดให้ลูกด้วยการอ่านนิทาน

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 12 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
เพิ่มความฉลาดให้ลูกด้วยการอ่านนิทาน

การพูดหรือการเล่าเรื่องราว (หรือนิทาน) ต่างๆ ให้ลูกฟังลูกจะ ฉลาดขึ้นได้จริงหรือ ข้อสงสัยนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง! ทำไมการพูดคุยกับลูกถึงสามารถทำให้ลูกฉลาดขึ้นได้ เรามาทำความเข้าใจกัน

อ่านนิทาน ดีกับลูกอย่างไร?

เด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ สมองของเขาพร้อมที่จะเรียนรู้และรับเอาข้อมูลทุกๆ อย่างเข้าไป ทุกสิ่งทุกอย่างจึงล้วนมีผลกระทบต่อสมองและอนาคตของลูก การเล่าเรื่องราวหรือนิทาน ต่างๆ ด้วยความรัก จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง ระบบการทำงานด้านการฟัง รวมถึงเป็นการเปิดโลกจินตนาการ พัฒนาไอคิว ช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็ว สามารถจับประเด็นและวิเคระห์เก่ง ทำให้ลูกได้ฝึกพัฒนาการทางสมองที่ดีกว่าเด็กในวัยเดียวกัน (เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยได้พูดกับลูกเลย)

พ่อแม่หลายคนคิดว่าการเปิดหนังการ์ตูนให้ลูกดู ลูกก็น่าจะชอบ มีความสนุก และเพลิดเพลินได้ (เพราะมีทั้งภาพและเสียง ซึ่งลูกน่าจะชอบมากกว่าการนั่งฟังเสียงพ่อแม่) แต่ความจริงแล้วตรงกันข้าม การปล่อยให้ลูกได้ ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ผ่านจอทีวี จะยิ่งทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของลูกถูกทำลาย ภาพต่างๆ ในจอทีวีจะดึงดูดให้ลูกสนใจมากกว่าการฟังเสียงของพ่อแม่ก็จริง แต่ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน จะไปปิดกั้นจินตนาการของลูก แต่ หากเป็นการเล่าเรื่องหรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง

ลูกจะเห็นเพียงภาพนิ่ง สมมติว่าเราเล่าว่า กระต่ายน้อยกำลังวิ่ง (หนังสือนิทานจะเป็นรูปเพียงกระต่ายกำลังวิ่ง แต่วิ่งอย่างไร วิ่งแบบไหน เด็กจะเป็นผู้จินตนาการเอง) ซึ่งพ่อแม่ สามารถเล่าไปและออกท่าทางการวิ่งของกระต่ายไปด้วยได้ ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกสนุก เพราะเห็นพ่อแม่ของตัวเองแปลงกายเป็นโน้นนี่นั้นได้ (และลูกก็จะจินตนาการต่อเติมจากจุดนั้น) แต่หากเราเปิดการ์ตูนที่กระต่ายกำลังวิ่ง ภาพที่กระต่ายกำลังเคลื่อนไหว จะไปฝังในความคิด ทำให้ลูกยึดติดกับภาพเหล่านี้ตายตัวเกินไปนั้นเอง อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต 

นอกจากนั้นการอ่านนิทานหรือเล่าเรื่องราวในอดีตของพ่อแม่ให้ลูกฟัง ยังเป็นการสร้างความผูกพันกันภายในครอบครัว ยิ่งพ่อแม่ช่วยกันเล่านิทานให้ลูก ก็จะยิ่งสร้างความผูกพันทั้ง พ่อ แม่ ลูก ไปในเวลาเดียวกัน ความ สุขที่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ เป็นการสร้างสมาธิ สร้างความผูกพัน มั่นใจ เชื่อมั่นในตนเอง ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เพราะลูกนั้นจะซึมซับและสามารถรับรู้ถึงความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ได้มากกว่าการปล่อยให้ลูกนั่งดูการ์ตูนหน้าทีวีเฉยๆ

ภาพและเสียงที่เราได้เห็นนั้น บ่อยครั้งจะฝังลงไปในจิตใต้สำนึก (หรือที่เรียกกันว่า ภาพติดตา) ซึ่งหากเป็นภาพหรือเหตุการณ์ที่โหดร้าย มีความรุนแรง จะกลายเป็นว่าเราได้สอนการใช้ความรุนแรงให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นในช่วงแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ หากเป็นไปได้ พ่อแม่ไม่ควรเปิดทีวีให้ลูกดู เพราะนอกจากจะทำลายโอกาสในการจินตนาการของลูก ยังอาจจะกลายเป็นพิษร้ายที่ฝังภาพหรือเสียงที่โหดร้ายลงในจิตใจของลูกอีกด้วย

นอกจากนั้นการอ่านนิทานให้ลูกฟัง ลูกของเราจะสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้เร็วกว่า เช่น ทักษะการใช้มือ (เพราะเราอาจจะให้ลูกพยายามพลิกหน้าต่อไปให้เราอ่าน), สมาธิ (เพราะลูกจะฟังและจ้องมองรูปภาพใน หนังสือนิทาน) เป็นต้น นอกจากนั้นหนังสือนิทานสมัยใหม่ ก็มีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นลักษณะ 3 มิติ มากขึ้น ซึ่งยิ่งจะสร้างความน่าสนใจให้กับลูกมากยิ่งขึ้นไปอีก

การลงทุนซื้อหนังสือนิทาน และลงทุนเวลาให้กับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการลงทุนใดๆ เพราะเป็นการปลูกจิตสำนึกดีๆ และกระตุ้นจินตนาการ ซึ่งหากลูกเลยวัย 2 ขวบ ไปแล้วการจะกระตุ้นสิ่งเหล่านี้จะยากมากขึ้น และพ่อแม่ก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กรมสุขภาพจิต, การอ่านสร้างครอบครัวอบอุ่น…ลดความเหลื่อมล้ำได้ (https://www.dmh.go.th/news-dmh...), 15 พฤศจิกายน 2560

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)