กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เลือกซื้อรองเท้าสำหรับคนท้องอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง

วิธีเลือกรองเท้าที่ไม่ทำให้สตรีมีครรภ์ปวดหลัง เคลื่อนไหวสะดวก และลดความเสี่ยงในการหกล้ม
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เลือกซื้อรองเท้าสำหรับคนท้องอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง

โดยปกติผู้หญิงมักจะเลือกซื้อรองเท้าตามแฟชั่น หรือตามความชอบของตัวเอง แต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่มือใหม่หลายๆ คนก็อาจจะไม่แน่ใจว่า จะเลือกซื้อรองเท้าแบบไหนดี ซึ่งหลักการเลือกซื้อรองเท้าสำหรับคนท้องนั้น ไม่เหมือนกับการซื้อรองเท้าของผู้หญิงในช่วงเวลาปกติ บางคนเลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ย เพราะจะได้ไม่เมื่อยกับการยืนนานๆ แต่กลับเจอปัญหาปวดหลังแทน ในขณะที่บางคนเลือกใส่รองเท้ามีส้น (แต่ไม่สูง) กลับเจอปัญหาเท้าบวม ข้อเท้าบวม หรือเมื่อยขาแทน ดังนั้นวันนี้เราจะแนะนำวิธีเลือกซื้อรองเท้าสำหรับคนท้อง ว่าควรจะเลือกรองเท้าแบบไหน และจะป้องกันอาการปวดหลัง ปวดเข่า หรือการบวมรวมถึงอาการเมื่อยขาได้อย่างไร

ทำไมคนท้องมักมีปัญหาเมื่อยขา ปวดข้อเท้า หรือข้อเท้าบวม

น้ำหนักของการเดินในแต่ละเก้า จะส่งผ่านหัวเข่า น่อง ข้อเท้าและสุดที่ฝ่าเท้า เมื่อเรากดเท้าลงที่พื้น แรงกดจะกระจายออก แรงที่เหลือจะดีดกลับ ลองสังเกตง่ายๆ ด้วยตัวเองให้มองหาผู้หญิงที่ใส่กระโปรงสั้นหรือขาสั้นก็ได้ (ที่เราสามารถมองเห็นน่องเขา) โดยให้เขาใส่ส้นสูงแล้วปล่อยให้เขาเดินนำหน้าเรา เราลองเดินตามเขาแล้วสังเกตการสั่นสะเทือนตรงน่องทุกๆ ครั้งที่เขาก้าวเดิน เราจะเห็นได้ชัดเจนมากหากเขาใส่รองเท้าส้นสูง ยิ่งสูงมากยิ่งสะเทือนมาก เพราะพื้นที่หน้าตัดของส้นรองเท้ามันเล็ก แรงกดจำนวนมากที่กดลงไปเวลาเดินจะดีดกลับไปที่ข้อเท้า น่อง และหัวเข่านั้นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หากเรากำลังตั้งครรภ์อยู่ แล้วเลือกรองเท้าที่ส้นกระจายแรงกดไม่ดีพอ จะทำให้แรงกดทุกๆ ครั้งที่เราก้าวเดิน ดีดสะท้อนกลับมายังข้อเท้า น่อง หัวเข่า และลามไปถึงหลังได้ ดังนั้นยิ่งน้ำหนักตัวเรามากเท่าไร (ตามอายุครรภ์) แรงกดในแต่ละก้าวก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้คนท้องนั้น ยิ่งท้องแก่มากเท่าไร จะยิ่งเดือนแล้วปวดข้อเท้า ปวดเข่า เมื่อยขา และเมื่อยหลังมากนั้นเอง

รองเท้าแฟชั่นกับคนท้อง - ไปด้วยกันได้ไหม

หลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าเราต้องใส่รองเท้าที่ออกแบบมาสำหรับคนท้อง คงจะได้รองเท้าแบบเฉยๆ แน่ๆ แต่ขอบอกว่าในปัจจุบันมีรองเท้าเพื่อสุขภาพสำหรับคนท้องให้เลือกหลายแบบ และแต่ละแบบก็ออกแบบมาให้สวยงาม ไม่เชย เหมือนแต่ก่อนแล้ว ดังนั้นความกังวลหรือความเชื่อที่ว่า รองเท้าสำหรับคนท้อง จะต้องเป็นแบบเชยๆ เท่านั้น อันนี้ผิดแล้ว

ลาก่อนรองเท้าส้นสูงในช่วงตั้งครรภ์

เหตุที่คนท้องไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงนั้น นอกจากจะเมื่อยขาแล้ว ยังมีโอกาสลื่นหกล้มได้ง่าย ทำให้เป็นอันตรายต่อภาวะตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก หากอายุครรภ์ยังน้อย เช่น 1 เดือน หรือ 2 เดือน ก็ยังพอจะใส่ได้ (เพราะท้องยังไม่ใหญ่มาก) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การใส่รองเท้าส้นสูงแล้วยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆ แม้จะไม่ตั้งครรภ์ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อขาได้ ดังนั้นหากกำลังตั้งครรภ์อยู่ ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเด็ดขาด เพราะจะทำให้เมื่อยขาและยังเสี่ยงที่จะล้มทำให้แท้งลูกได้

ใส่รองเท้าแตะตลอดช่วงตั้งครรภ์ได้ไหม

รองเท้าแตะนั้นถือเป็นรองเท้ายอดนิยมของหญิงไทย เพราะสวมใส่ง่าย ระบายอากาศได้ดี แต่หากคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่ เราก็ไม่แนะให้ใส่รองเท้าแตะแล้วเดินทางไปไหนต่อไหนหรอก เพราะว่ารองเท้าแตะส่วนมากจะมีขนาดส้นที่บาง การรับน้ำหนักและกระจายน้ำหนักเวลาก้าวเดินจะไม่ดีพอ ทำให้มีแรงสะท้อนกลับทุกครั้งที่เราก้าวเดิน ยิ่งน้ำหนักตัวของเราเพิ่มมากขึ้น (ตามอายุครรภ์) ทุกๆ ก้าวที่เราเดิน น้ำหนักของตัวเราจะส่งผ่านไปยังกระดูกหัวเข่า ผ่านไปยังฝ่าเท้า เมื่อน้ำหนักไปถึงพื้นรองเท้าแตะ พื้นรองเท้าแตะส่วนมากไม่สามารถกระจายแรงกดออกไปได้ มันจึงสะท้อนแรงกดเหล่านี้กลับขึ้นไปที่น่อง และผ่านต่อไปยังหัวเข่า ทำให้บวมที่ข้อเท้า ปวดที่น่อง และปวดหัวเข่ามากหลังจากมีการเดินหรือยืนนานๆ

ทางออกของการปัญหานี้ก็คือ หากเป็นไปได้ ให้สวมรองเท้าแตะที่มีความหนาของพื้นรองเท้าให้มากกว่าปกติ รวมถึงมีความยืดหยุ่นสูง (รองเท้าแตะหูหนีบแบบบ้านๆ ไม่สามารถกระจายแรงกดได้ดี) อาจจะต้องลงทุนสักหน่อยกับรองเท้าดีๆ เพื่อสุขภาพ แต่เพื่อป้องกันการปวดข้อ ปวดเข่า ก็คุ้มค่า เพราะหลังจากคลอดแล้วก็ยังสามารถใส่ต่อได้

รองเท้าลำลองแบบหูหนีบ ใส่ได้ไหม

เพราะแรงกดจากน้ำหนักตัวที่ส่งผ่านลงไปถึงฝ่าเท้าในแต่ละก้าวเดินของเรานั้น มันจะกระจายแรงออกไปยังด้านข้างและสะท้อนกลับขึ้นด้านบน หากใครที่เดินแล้วเท้าบิด แรงสะท้อนจะส่งกลับผ่านไปยังข้อเท้าด้วย การใส่รองเท้าลำลองลักษณะหูหนีบที่ไม่มีการประคองข้อเท้า จะทำให้คนที่ชอบเดินเท้าบิด จะยิ่งมีปัญหาปวดข้อเท้ามากขึ้น เพราะแรงสะท้อนจะส่งผลไปยังข้อเท้าเป็นจุดแรกๆ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงรองเท้าที่เป็นลักษณะหูหนีบ หรือคีบ จะดีกว่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ความสูงของส้นรองเท้าแค่ไหนถึงจะเหมาะ

การเลือกรองเท้าให้กับคนท้องนั้น นอกจากจะดูความสูงของส้นรองเท้าให้เหมาะสมแล้ว ยังต้องดูลักษณะของส้นด้วย บางยี่ห้อส้นรองเท้าเตี้ยก็จริง แต่หน้าสัมผัสกับพื้นน้อยไปหน่อย ทำให้การกระจายแรงกดจากการเดินได้ไม่ดีเช่นกัน ส่วนถ้าจะถามว่า ต้องใส่ส้นแค่ไหนถึงจะเรียกว่าโอเคนั้น อย่างมากก็ไม่เกิน 1 นิ้ว มากกว่านี้ใส่แล้วจะเมื่อย ทั้งนี้ก็อาจจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวันของว่าที่คุณแม่แต่ละคนด้วย

ว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หลายคนอาจจะเลือกใส่รองเท้าสานแบบสวม ที่เป็นลักษณะส้นแบนราบลงไปเลย แล้วใช้แผ่นรองรองเท้าเพื่อเสริมให้จุดบริเวณส้นเท้าช่วยกระจายน้ำหนักจากการเดินออกไปก็ได้เช่นกัน

เวลาไหนเหมาะที่สุดในการเลือกซื้อรองเท้า

ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์นั้น เท้าของเราจะมีการขยายบ้าง ดังนั้นหากเริ่มรู้สึกว่ารองเท้าของเราเริ่มคับ หรือรองเท้าของเราส่งผลต่ออาการปวดขา ปวดเข่า หรือเมื่อยล้าได้ ให้เตรียมซื้อรองเท้าใหม่ได้เลย เวลาไปลองรองเท้าก็ควรจะเป็นช่วงเวลาเย็น เพราะเท้าของเราจะขยายมากที่สุดของวัน เลือกรองเท้าให้มีขนาดเหมาะสม หลวมเล็กน้อย ให้มีเนื้อที่พอที่จะขยับนิ้วเท้าได้

สรุปลักษณะของรองเท้าที่ควรเลือกซื้อขณะตั้งครรภ์

  • ควรเลือกรองเท้าที่มีระบบระบายอากาศได้ดี และหากมีการยืดหยุ่น ขยายตัวของรองเท้าได้บ้าง (เช่น รองเท้าสาน หรือรองเท้าผ้าใบที่ใช้ผ้าตาข่ายเป็นส่วนประกอบ) ก็จะช่วยให้ระหว่างวันรู้สึกสบายเท้า ไม่รู้สึกเท้าอับ
  • ส้นรองเท้ามีความยืดหยุ่นและกระจายแรงกดได้ดี ซึ่งส้นรองเท้าสำคัญมากกว่าแบบของรองเท้าอีก หากเลือกรองเท้าที่มีส้นรองเท้าที่กระจายแรงกดได้มาก ปัญหาปวดขา เมื่อยน่อง ปวดข้อเท้า ฯลฯ จะลดลงไปได้มาก
  • งดเว้นรองเท้าแตะ หรือใส่ได้แต่ให้ใส่แต่น้อย เพราะส้นรองเท้าแตะส่วนมากจะกระจายแรงกกดได้ไม่ดี และยังมีโอกาสลื่นหกล้มได้ง่ายกว่า
  • เลือกรองเท้าที่สวมและถอดออกง่าย (แต่หลุดไม่ง่าย) เพราะยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น การจะก้มลงมาใส่รองเท้า หรือยกเท้าขึ้นมา จะทำได้ยากมากขึ้น หากเป็นรองเท้าที่สวมและถอดได้ง่ายจะสะดวกมาก
  • รองเท้าสุขภาพสำหรับคนท้องราคาแพงๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด อาจจะเลือกใช้รองเท้าธรรมดาแล้วใช้แผ่นเสริมฝ่าเท้าเพื่อช่วยกระจายแรงกดก็ใช้ทดแทนกันได้
  • พยายามหารองเท้าที่ประคองข้อเท้า และหลังเท้า สำหรับคนที่เดินแล้วเท้าบิด การใส่รองเท้าที่ช่วยประคองข้อเท้าและส้นเท้าจะช่วยป้องกันอาการเจ็บและบวมของข้อเท้าได้มาก
  • หากเลือกใช้รองเท้าผ้าใบที่ดี ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดข้อเท้า เมื่อยต้นขา

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How to Keep Your Feet From Aching, By Kara Mayer Robinson, Reviewed by Melinda Ratini, DO, MS on October 05, 2016 (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/discomfort-15/common-pain/help-aching-feet?page=2)
A Major Public Health Issue: The High Incidence of Falls during Pregnancy, Kari Dunning; Grace LeMasters; Amit Bhattacharya, DISCLOSURES Maternal and Child Health Journal. 2010;14(5):720-725. (https://www.medscape.com/viewarticle/729798_4)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กับความปลอดภัยของลูกน้อย

อ่านเพิ่ม
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?

เรียนรู้สัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อนที่มันจะฉีกขาด

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม