รู้ตัวหรือไม่ ว่าคุณอาจกำลังขโมย “ชีวิตในวัยเด็ก” ของลูกไป?

ชีวิตในวัยเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่จะบ่มเพาะอุปนิสัยของคนคนหนึ่งไปในวันหน้า คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่และดูแลลูกให้เหมาะสมกับวัย เพื่อเขาจะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รู้ตัวหรือไม่ ว่าคุณอาจกำลังขโมย “ชีวิตในวัยเด็ก” ของลูกไป?

วัยเด็ก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการเรียนรู้พัฒนา และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมีความพร้อมและรู้จักหน้าที่ของตนจะสามารถสร้างสังคมที่น่าอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตวัยเด็กในแต่ละคนแตกต่างกัน และชีวิตวัยเด็กก็ส่งผลต่อวัยผู้ใหญ่ในหลากหลายแง่มุมเช่นเดียวกัน

ชีวิตในวัยเด็ก คืออะไร หมายความว่าอย่างไร?

ชีวิตในวัยเด็ก ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้บุคลิกภาพและความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ชีวิตในวัยเด็กจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและความพร้อมของแต่ละวัย หากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูเข้าใจช่วงวัยและพัฒนาการแต่ละด้านของลูก จะสามารถส่งเสริมพัฒนาและให้การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับลูกได้

จากอนุสัญญญาว่าด้วยสิทธิเด็กบอกถึงนิยามว่า เด็ก หมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลเพื่อประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้รับ โดยครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด 4 ด้าน คือ สิทธิในการอยู่รอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม หากเด็กได้รับการดูแลครอบคลุมครบทุกด้าน ร่วมกับได้รับความเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงดู เด็กก็จะสามารถเรียนรู้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพที่ตนเองมี

นอกจากนี้ ชีวิตในวัยเด็กยังต้องอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่มอบให้ และฝึกฝนเพื่อนำไปใช้ในอนาคตต่อเนื่อง

ประสบการณ์ที่เด็กเรียนรู้จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทในสมอง ให้มีการติดต่อประสานงานกัน มีการสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ ที่เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapse) เพื่อให้สมองเกิดการเรียนรู้มากขึ้น

ยิ่งเด็กได้รับประสบการณ์ในชีวิตที่ดีมากเท่าไร เครือข่ายโยงใยในสมองจะสื่อสารส่งสัญญาณกันมากขึ้นเท่านั้น จุดที่ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้จะยิ่งสานต่อแน่นขึ้น ส่วนตำแหน่งที่ไม่ถูกใช้งานจะถูกตัดแต่งเพื่อให้โครงสร้างเส้นใยประสาททำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ชีวิตในวัยเด็ก สำคัญแค่ไหน จำเป็นต้องใส่ใจหรือไม่?

ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ และพัฒนาความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่อง

ช่วงในวัยเด็กเล็ก สมองกำลังเรียนรู้และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สมองเด็กคาดหวังการกระตุ้นที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการเจริญและพัฒนา (Experience expectant learning) เช่น การมองเห็นภาพ การได้ยินเสียง การรับรู้สัมผัสจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ดังนั้นช่วงเวลาเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรมอบประสบการณ์ที่สมองเด็กพึงได้รับ ดังนี้

  • วัยทารก ควรได้รับการกระตุ้นโดยกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส เช่น รับภาพผ่านดวงตา รับเสียงผ่านหู รับกลิ่นผ่านจมูก รับรสผ่านลิ้น รับความรู้สึกการสัมผัสผ่านผิวหนังและระบบสัมผัสต่างๆ ในร่างกาย
  • วัยเด็กเล็ก ลูกควรได้รับการพัฒนาทางด้านภาษาผ่านการพูดคุย มองหน้า สบตา มีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูตลอดเวลา หากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูอยากให้ลูกเข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็ควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ผ่านกิจวัตรประจำวันหรือการเล่นในช่วงเวลานี้

เมื่อลูกเติบโตขึ้น ประสบการณ์ที่ลูกเรียนรู้จะผ่านการฝึกฝนและผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต (Experience dependent learning) โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือและขัดเกลาเพื่อให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกใช้ชีวิตในวัยเด็กเหมาะสมแล้ว?

คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูทุกคนคงหวังเช่นเดียวกันว่า เมื่อลูกเติบโตขึ้นจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและเอาตัวรอดจากภัยอันตรายรอบตัว

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้ลูกมีทักษะชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อโตขึ้น เด็กจะยังคงต้องการการดูแลเอาใจใส่และมีแบบอย่างเพื่อทำตามจากผู้ปกครองของตน รวมถึงเรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น

  • ความฉลาดทางสติปัญญา
  • ความฉลาดทางอารมณ์
  • ความสามารถในการจัดการกับปัญหาและฟันฝ่าอุปสรรค
  • ความมีคุณธรรมจริยธรรม
  • ทักษะการมีชีวิตร่วมกับผู้อื่น

สิ่งเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูจะสามารถมองเห็นทักษะต่างๆ ของลูกได้เด่นชัดมากขึ้นเมื่อลูกเข้าโรงเรียนหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นๆ

หากลูกได้รับการฝึกฝนและพัฒนาต่างอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีความยืดหยุ่นอดทนและฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตต่อไปได้

ชีวิตในวัยเด็กที่โหดร้ายส่งผลต่อชีวิตลูกอย่างไร?

มีการศึกษาอย่างกว้างขวางถึงประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse childhood experience) ที่มีความรุนแรงหรือเด็กได้รับความเครียดความกดดันเกิดเป็นบาดแผลทางใจ ไม่มีที่พึ่งพิง สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในหลายๆ ด้าน

ตัวอย่างประสบการณ์ที่เจ็บปวดและสร้างบาดแผลทางใจให้แก่เด็กได้ เช่น การทำร้ายร่างกาย การทำทารุณทางเพศ การทำร้ายทางอารมณ์ การเพิกเฉยจากผู้เลี้ยงดู การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อแม่ที่มีโรคซึมเศร้า เป็นโรคจิต ติดสุราหรือสารเสพติด พ่อแม่หย่าร้างขาดคนดูแล หรือเติบโตในชุมชนที่ขาดความปลอดภัย

สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสมองในแง่ความทรงจำ ความคิด การตัดสินใจ สมาธิและการควบคุมอารมณ์ และเมื่อเติบโตขึ้นยังเพิ่มความเสี่ยงด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายทางร่างกาย เกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ
  • เกิดโรคทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
  • มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  • มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น HIV
  • เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน
  • มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดสุรา สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ล้มเหลวในการเรียนหรือการประกอบอาชีพ

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สิทธิมนุษยชน Human rights, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (http://humanrights.mfa.go.th/th/kids/72/).
The Lancet Public Health, The effect of multiple adverse childhood experiences on health: a systematic review and meta-analysis (https://www.thelancet.com/journals/lanpub/article/PIIS2468-2667(17)30118-4/fulltext), 1 August 2017.
Journal of the Psychiatrics Association of Thailand, School Age Children Life Skills (http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/62-3/08_Hattaya.pdf), July-September 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)