3 ปีแรกของชีวิตเด็ก ช่วงเวลาที่สำคัญมากของชีวิต

3 ปีแรกของทารก เป็นช่วงที่พัฒนาการรวดเร็วก้าวกระโดด การดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจในช่วง 3 ปีนี้จะส่งผลถึงบุคคลิกภาพเด็กในอนาคต
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
3 ปีแรกของชีวิตเด็ก ช่วงเวลาที่สำคัญมากของชีวิต

เด็กทุกคนที่คลอดออกมาเป็นเหมือนดอกไม้ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ คอยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อให้เจริญเติบโตและงอกงาม

สำหรับเด็กนั้น ช่วงเวลา 3 ปีแรกของชีวิตเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญที่ผู้เลี้ยงดูจะเห็นการเจริญเติบโต พัฒนาการของเด็กในช่วงนี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่วง 3 ปีแรกยังเป็นช่วงเวลาที่กำหนดอนาคตที่สำคัญของเด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

อะไรที่บ่งบอกถึงการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดดของเด็ก?

สิ่งที่บ่งบอกถึงการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเด็ก มีดังนี้

  1. น้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. รอบศีรษะที่มีขนาดโตขึ้น แสดงถึงสมองที่มีการเจริญเติบโต
  3. เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น ไม่อยากให้ผู้เสียงดูช่วยเหลือ
  4. กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น เด็กสามารถกระโดด ขึ้นลงบันได โยนของ จับช้อมส้อม ถือสิ่งของต่างๆ ได้มั่นคงยิ่งขึ้น
  5. เด็กสามารถพูดคุยเป็นคำ เป็นประโยค บอกความต้องการของตนเองได้มากขึ้น
  6. เด็กแสดงความรู้สึกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ ร้องไห้ เสียใจ

3 ปีแรกของชีวิตมีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายอย่างไร?

ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ สมองจะมีการเจริญเติบโตเรื่อยๆ โครงข่ายเส้นใยประสาทของสมองจะค่อยๆ พัฒนาจนมีความซับซ้อนมากขึ้น เกิดเป็นโครงข่ายเส้นใยประสาทนับล้านโครงข่าย ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารของเส้นใยประสาทในสมองเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ

ด้านร่างกายจะพบว่าอวัยวะต่าง ๆ เจริญเติบโตขึ้น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการเผาผลาญ ระบบทางเดินอาหาร พัฒนาสมบูรณ์ขึ้น

ดังนั้น อาหารสมองและอาหารสำหรับร่างกายที่เด็กได้รับในช่วง 3 ปีแรกนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งสิ้น

ผู้เลี้ยงดูสำคัญอย่างไรในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตเด็ก

เด็กควรมีผู้เลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุคคลใดก็ตามที่สามารถให้ความรักความอบอุ่นและความใกล้ชิดกับเด็กได้

ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ผ่านการสัมผัส การดูแลใกล้ชิด การกอด หอม พูดคุย การให้นม ให้อาหาร การทำความสะอาดร่างกาย ฯลฯ

เด็กจะเรียนรู้ถึงความรัก ความสม่ำเสมอ ความปลอดภัยจากผู้เลี้ยงดู และพัฒนาเป็นความมั่นใจและความไว้วางใจ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในชีวิต

รวมทั้งหากเด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จะทำให้สมองและร่างกายเติบโตอย่างมีคุณภาพ

หากเด็กถูกปล่อยปละละเลยในช่วง 3 ปีแรกจะเป็นอย่างไร?

หากเด็กช่วง 3 ขวบปีแรกถูกปล่อยปละละเลย เด็กจะเติบโตขึ้นมาโดยขาดความเชื่อมั่นและขาดความไว้ใจต่อบุคคลรอบข้าง

บางคนหวาดกลัว มีความผูกพันที่ไม่มั่นคงกับผู้อื่น ปรับตัวยาก เมื่อโตขึ้นมาจะไม่เชื่อใจใคร ก้าวร้าว ต่อต้าน เจ้าอารมณ์ ชอบบังคับให้คนอื่นทำตามในสิ่งที่ต้องการ ไม่เข้าใจจิตใจผู้อื่น ไม่ค่อยมีเพื่อน ทำให้ถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคมได้

นอกจากนี้หากเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือกินนมที่ไม่ได้คุณภาพ จะส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกาย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เจ็บป่วยง่าย และเพิ่มภาระต่อครอบครัวและสังคม

วิธีส่งเสริมความรัก ความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยงดูและเด็ก

การให้ความรักและความอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดูสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจ มีความมั่นคงทางอารมณ์

เด็กจะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง มองโลกในแง่ดี อารมณ์แจ่มใส และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเมื่อโตขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป

ตัวอย่างวิธีการส่งเสริมความรักและความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยงดูและเด็ก เช่น

  • ผู้เลี้ยงดูมีความไว ตอบสนองต่อความต้องการเด็กอย่างทันที
  • มีการกอด สัมผัส พูดคุย เล่นกับเด็กในบรรยาการอบอุ่น
  • ชื่นชมและชมเชยเด็ก เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ดี
  • หลีกเลี่ยงการลงโทษโดยใช้ความรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย ตี
  • ผู้เลี้ยงดูควรมีบุคลิกภาพอบอุ่น เยือกเย็น อารมณ์ดี เป็นมิตร
  • ผู้เลี้ยงดูไม่เครียด กังวล หรือมีภาวะทางด้านจิตใจ เช่น มีภาวะซึมเศร้า

วิธีส่งเสริมสุขภาพเด็กดีควรทำอย่างไร?

การส่งเสริมสุขภาพเด็ก มีดังนี้

  1. ติดตามการเจริญเติบโตของเด็กอย่างสม่ำเสมอ โดยดูน้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะ อาจใช้วิธีบันทึกข้อมูลในสมุดสุขภาพและดูแนวโน้นการเจริญเติบโตเป็นระยะๆ
  2. ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน
  3. แนะนำอาหารเสริมตามวัยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป ควรรับประทานกลุ่มข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม ตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุ
  4. พาเด็กไปฉีดวัคซีนตามกำหนด เพื่อให้ภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมตามวัย
  5. ส่งเสริมการอ่านนิทาน เลือกหนังสือที่มีรูปภาพ เนื้อหาเหมาะสมตามช่วงวัย
  6. ให้เด็กนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละช่วงวัย
  7. พูดคุย สื่อสาร จัดสถานที่ที่ปลอดภัย หาของเล่นที่เหมาะสมให้เด็ก เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Center on the Developing Child Havard University, Three Core Concepts in Early Development (https://developingchild.harvard.edu/resources/three-core-concepts-in-early-development/)
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี
ความสำคัญของมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต (https://bkpho.moph.go.th/bungkanpho/uploads/media/201802151014121941.pdf).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป