ทีมสัตวแพทย์ HD
เขียนโดย
ทีมสัตวแพทย์ HD

เยื่อใยในอาหารสำคัญอย่างไรกับกระต่าย?

เข้าใจระบบทางเดินอาหารของกระต่าย โรคที่เกิดจากการกิน วิธีรักษา เพื่อจะได้รู้ว่าเยื่อใยในอาหารสำคัญอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เยื่อใยในอาหารสำคัญอย่างไรกับกระต่าย?

กระต่าย เป็นสัตว์เลี้ยงที่คนไทยนิยมเลี้ยงกันมากรองจากสุนัขและแมว ด้วยขนาดตัวที่กะทัดรัด ไม่ส่งเสียงดัง ขนฟูนุ่มนิ่มน่ารัก หาซื้อได้ง่าย มีหลายสายพันธุ์ ราคาไม่แพง ซึ่งคนทั่วไปมักมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูกระต่าย โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ให้กระต่ายกิน จึงส่งผลต่อสุขภาพกระต่ายอย่างร้ายแรง

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่ากระต่ายจัดเป็นสัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วกระต่ายจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ประเภท ลาร์โกมอร์ฟ (Largomorph) ซึ่งมีโครงสร้างฟันและระบบทางเดินอาหารแตกต่างจากสัตว์ฟันแทะ โดยลาร์โกมอร์ฟมีทางเดินอาหารที่ซับซ้อนกว่ามาก

ทางเดินอาหารของกระต่าย

ฟันของกระต่ายจะมีลักษณะพิเศษ คือที่หลังฟันตัด (Incisor) จะมีฟันคู่เล็กๆ ซ้อนอยู่ด้านหลัง เรียกว่าเพกทีท (Peg teeth) รากฟันของกระต่ายเป็นรากฟันแบบเปิด จะงอกยาวตลอดชีวิตทุกซี่ ซึ่งต่างจากสัตว์ฟันแทะที่จะงอกยาวเฉพาะฟันหน้าเท่านั้น ทำให้กระต่ายจำเป็นต้องกินอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยทำให้ฟันสึกกร่อนตลอดเวลา ไม่ให้ฟันยาวเกินไปจนเกิดปัญหาสุขภาพ

กระต่ายจัดเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะอาหารเดี่ยว แต่มีโครงสร้างพิเศษที่ช่วยย่อยอาหารคือ ซีคัม (Caecum) เทียบในคนคือไส้ติ่ง ซีคัมของกระต่ายมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัว ในซีคัมมีจุลินทรีย์ช่วยในการหมักย่อยอาหาร แล้วเปลี่ยนเป็นสารอาหารและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายกระต่าย

อาหารที่เหมาะสมสำหรับกระต่าย

อาหารกระต่ายที่ดีควรมีสัดส่วนของใยอาหาร (Fiber) มากกว่า 20% ขึ้นไป หากสูตรอาหารที่เลี้ยงกระต่ายมีสัดส่วนเยื่อใยน้อยกว่า 20% จะเริ่มพบอาการป่วยและมีโอกาสเสียชีวิต หากเยื่อใยต่ำกว่า 17% จะเกิดภาวะแคระแกร็น กล้ามเนื้อไม่สมบูรณ์ หากเยื่อใยต่ำกว่า 10% จะเกิดภาวะกรดซีคัม เกิดกรดในกระแสเลือด เกิดภาวะลำไส้อักเสบระดับสูง เกิดการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ชนิดดีในทางเดินอาหาร และกระต่ายอาจตายได้

นอกจากนี้เยื่อใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำยังทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ ไล่อาหารในทางเดินอาหาร ปั้นก้อนอุจจาระ ป้องกันการเกิดภาวะลำไส้นิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการท้องอืดตามมา

อาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้าไม่ต่ำกว่า 75% ของอาหารทั้งหมด ที่เหลืออีก 25% เป็นผักหรืออาหารเม็ด หรือสามารถให้กินหญ้าทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์เลยก็ได้

ในสมัยก่อน อาหารกระต่ายที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมักมีเยื่อใยไม่สูงมาก เพียงแค่ 10% หรือมากกว่านั้นเล็กน้อยซึ่งทำให้กระต่ายในยุคนั้นมีปัญหาสุขภาพมากมาย อายุขัยเฉลี่ยเพียง 5 ปี เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยความเกี่ยวข้องของปริมาณเยื่อใยในอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพกระต่าย อาหารเม็ดรุ่นถัดๆ มาจึงค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเยื่อใยอาหารในสูตรอาหารเม็ดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงไม่สามารถทนแทนหญ้าได้อย่าง 100%

ปัจจุบันมีอาหารกระต่ายที่ผลิตมาโดยมีจุดมุ่งหมายให้กระต่ายได้รับเยื่อใยอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งอาหารจำพวกนี้อาจจะมีเยื่อใยอาหารสูงจนถึง 28% เกือบจะเสมือนพืชวัตถุดิบตามธรรมชาติหรือหญ้า ทั้งนี้เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับสุขภาพ ป้องกันการเกิดปัญหาภาวะท้องอืดและเสียสมดุลจุลินทรีย์ได้ และทำให้กระต่ายมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

โรคกระต่ายที่เกิดจากอาหารและวิธีการรักษา

เนื่องจากโครงสร้างและกลไกการทำงานของทางเดินอาหารกระต่ายสัมพันธ์กับอาหารที่กระต่ายกินเป็นอย่างมาก โดยคุณสามารถประเมินสุขภาพกระต่ายอย่างคร่าวๆ ได้จากลักษณะอุจจาระของกระต่าย อุจจาระที่ดีควรมีลักษณะเป็นเม็ดกลมทุกเม็ด ไม่มีเม็ดรีหรือทรงหยดน้ำ และควรมีขนาดเท่าๆ กันทุกเม็ด

หากอุจจาระมีขนาดเม็ดที่ไม่เท่ากัน อาจบ่งบอกว่าการบีบตัวของลำไส้มีปัญหา โรคอื่นๆ ของกระต่ายที่เป็นเพราะอาหาร ได้แก่

โรคลำไส้นิ่งหรือลำไส้อืด

เกิดจากลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อยจนเกินไปเกิดเป็นภาวะลำไส้นิ่ง เมื่อลำไส้ไม่ขยับเพื่อไล่กากอาหารทำให้เกิดแก๊สสะสมอยู่ในลำไส้ กระต่ายจึงท้องอืด หากมีแก๊สสะสมมากจนรู้สึกปวดท้องรุนแรง บางครั้งอาจช็อกและเสียชีวิตได้

วิธีรักษา

สัตวแพทย์จะทำการยากระตุ้นการเคลื่อนที่ของลำไส้ อาจมีการให้ยาระบาย มีการสวนทวารเพื่อระบายแก๊สที่คั่งค้างในลำไส้ออกมาเร็วที่สุด หลังจากแก้ไขปัญหาเรื่องลำไส้อืดแล้ว สัตวแพทย์อาจพิจารณาเสริมพรีไบโอติคส์เพื่อช่วยสนับสนุนจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้

โรคฟันผิดรูปในกระต่าย

มักเกิดจากการได้รับอาหารที่มีเยื่อใยไม่เพียงพอ ฟันไม่เกิดการบดเคี้ยวมากพอที่จะทำให้ฟันกร่อนตามธรรมชาติ โดยจะมีปัญหาทั้งฟันหน้าและฟันกราม ฟันหน้ามักยื่นยาวจนบางครั้งกระต่ายไม่สามารถหุบปากได้ ส่วนฟันกรามด้านในจะเกิดเงื่ยงเล็กๆ ที่ขอบด้านข้างของฟันเรียกว่า สเปอร์ (Spur) สเปอร์ที่แหลมคมจะบาดกระพุ้งแก้มหรือลิ้นจนเกิดบาดแผล จนบางครั้งกระต่ายอาจเลิกกินอาหารหรือมีอาการน้ำลายไหลยืด

วิธีรักษา

สัตวแพทย์จะทำการตรวจฟันทั้งภายนอกและภายในช่องปากเพื่อประเมินระดับของฟันที่ผิดรูป ฟันหน้าที่ยาวเกินไปจะได้รับการตัดและตะไบให้มีลักษณะใกล้เคียงฟันปกติ ส่วนฟันกรามที่เกิดสเปอร์จะต้องกรอฟันลบคมโดยต้องคำนึงถึงการสบกันของฟันบนและฟันล่างด้วย ส่วนแผลที่เกิดจากการโดนสเปอร์บาดก็ทำการรักษาตามปกติ อนึ่งหากฟันมีระดับความเสียหายที่รุนแรงมาก สัตวแพทย์อาจพิจารณาถอนฟันออกและอาจต้องคอยเฝ้าระวังการล้มของฟันที่เกิดจากคู่สบฟันหายไปจากการถอน

โรครากฟันอักเสบ

กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีรากฟันแบบเปิด จึงทำให้ฟันงอกยาวตลอดเวลา ยาวขึ้นทั้งตัวฟันและรากฟัน โรครากฟันอักเสบนี้เกิดจากการได้รับอาหารที่มีเยื่อใยไม่เพียงพอเช่นเดียวกับโรคฟันผิดรูป รากฟันบนที่ยาวเกินไปจะไปเบียดช่องไซนัสในโพรงจมูก จนเกิดเป็นไซนัสอักเสบหรือกลายเป็นฝี หรืออาจเบียดท่อน้ำตาจนท่อน้ำตาอุดตัน อาการคือกระต่ายจะมีน้ำตาไหลตลอดเวลา ส่วนรากฟันล่างที่ยาวเกินไปจะดันกระดูกกรามล่าง เมื่อลูบจะรู้สึกขรุขระ ทั้งรากฟันบนและล่างเมื่อยาวมากๆ จะทำให้กระดูกขากรรไกรเกิดการสลายตัว เนื้อกระดูกบางลง และฟันหลุดในที่สุด

การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน

สัตวแพทย์จะทำการทดสอบการอุดตันของท่อน้ำตาว่าอุดตันเพียงบางส่วนหรืออุดตันทั้งหมด เมื่อทราบและจะทำการสวนท่อน้ำตาที่อุดตันในสามารถกลับมาระบายน้ำตาได้ตามปกติ แต่การรักษานี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาจเกิดการอุดตันซ้ำได้อีกเนื่องจากรากฟันที่ยาวจนไปเบียดท่อน้ำตา ในกระต่ายบางตัวอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวนท่อน้ำตา

การรักษารากฟันอักเสบและฝี

ฝีหนองของกระต่ายจะมีลักษณะเป็นก้อนข้นๆ คล้ายชีส ไม่เป็นของเหลวเหมือนหนองในสัตว์อื่น กรณีที่ฝีมีขนาดใหญ่มากอาจต้องทำการเปิดแผลแล้วคว้านเอาฝีออกเป็นบริเวณกว้าง จากนั้นจึงค่อยรักษาแผลเปิดจนกว่าแผลจะหาย ซี่งกินเวลาหลายสัปดาห์

หลังจากการรักษาข้างต้นเสร็จสิ้น จะเน้นการดูแลด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยจำเป็นต้องหัดให้กระต่ายกินหญ้ามากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนชนิดของอาหารเม็ดที่มีส่วนผสมของหญ้ามากขึ้น มีสัดส่วนเยื่อใยอาหารมากขึ้น งดการให้ขนม ผลไม้ต่างๆ เพื่อฝึกให้กระต่ายเคี้ยวอาหารให้นานขึ้น นานพอที่ฟันจะสามารถสึกกร่อนได้ตามธรรมชาติเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวข้างต้นซ้ำอีก


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
หน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กระต่ายท้องอืด (http://vet.ku.ac.th/vv2018/index.php/health-topics/226-health-topics-2), 5 มีนาคม 2561.
สมโภชน์ วีระกุล, ระดับของเยื่อใยอาหารที่ได้รับคำแนะนำสำหรับกระต่ายเลี้ยง (http://www.epofclinic.com/articledetail.asp?id=26790)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป