ลมพิษ สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค

เผยแพร่ครั้งแรก 24 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลมพิษ สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค

ลมพิษเป็นอาการแพ้ทางผิวหนังที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวและยังเป็นซ้ำได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจะมาทำความรู้จักกันว่า อันที่จริงแล้วลมพิษเกิดจากอะไร แล้วจะมีวิธีรักษา วิธีป้องกัน และวิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคได้อย่างไร

สาเหตุของโรคลมพิษ

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ แต่สันนิษฐานว่าปฏิกิริยาของโรคลมพิษที่เกิดขึ้นกับผิวหนังนั้น น่าจะเกิดจากอาการแพ้สิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด ความร้อน หรือแสงแดด เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ส่วนสาเหตุของโรคลมพิษระยะเรื้อรัง อาจจะเกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำลายตัวเอง เรียกว่า “ปฏิกิริยาแพ้ภูมิตัวเอง” หรืออาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ อย่างเช่นโรคไทรอยด์หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง

อาการของโรคลมพิษ

ผู้ป่วยจะมีอาการปรากฏทางผิวหนัง โดยมีลักษณะเป็นผื่นนูนบวมสีขาวล้อมรอบด้วยสีแดง มีขนาดตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หรือเป็นผื่นจุดเล็กๆ ที่รวมตัวกันเป็นดวงใหญ่ โดยขนาดและรูปร่างจะมีความแตกต่างกันออกไปตามสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยา

ผู้ป่วยจะมีอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณที่เป็นผื่น อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่จะค่อยๆ จางหายไปภายใน 24 ชั่วโมง และเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเพศหญิงจะเป็นมากกว่าเป็นเพศชาย อีกทั้งอาการของโรคลมพิษยังแบ่งออกได้ 2 ชนิด ตามลักษณะอาการและระยะเวลาที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • 1.ลมพิษแบบเฉียบพลัน (Acute Urticaria) เป็นลมพิษที่เกิดขึ้นแล้วหายไปอย่างรวดเร็วหรือภายใน 48 ชั่วโมง หากเป็นนานๆ ก็จะไม่เกิน 6 สัปดาห์
  • 2.ลมพิษแบบเรื้อรัง (Chronic Urticaria) เป็นลมพิษที่เกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ อย่างต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้อาการของลมพิษชนิดนี้จะทำให้รู้สึกรำคาญ เพราะความไม่สบายตัวอย่างยิ่งหรือส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

การรักษาโรคลมพิษ

เมื่อแพทย์วินิจฉัยโรคและทำการตรวจอย่างละเอียดแล้ว การรักษาโรคลมพิษจะเป็นวิธีรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้น โดยมักจะใช้วิธีให้ยารักษาอาการคัน ส่วนใหญ่จะเป็นยาทาประเภทสารต้านฮีสตามีน ซึ่งสามารถใช้ยาทาเองได้ที่บ้าน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจะต้องมาพบแพทย์เพื่อพิจารณายาประเภทอื่นๆ ที่เหมาะกับผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลมพิษ

ผู้ป่วยโรคลมพิษแบบเฉียบพลันจำนวน 1 ใน 4 และจำนวนกว่าครึ่งของผู้ป่วยเรื้อรัง จะมีการพัฒนาอาการไปเป็นแบบ Angioedema เป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อที่อยู่ในชั้นลึกใต้ผิวหนัง กรณีที่เป็นอย่างรุนแรงในบางคนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าหากมีอาการด้านระบบหายใจเข้ามาเกี่ยวข้อง

สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคลมพิษ เช่น อาการหายใจลำบาก ภาวะภูมิแพ้รุนแรงแบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis) และยังมีผลกระทบต่ออารมณ์โดยตรง อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะพัฒนานำไปสู่โรคอื่นๆ อย่างเช่นโรคไทรอยด์หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การป้องกันโรคลมพิษ

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคลมพิษแบบง่ายที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดโรค หากผู้ป่วยทราบสาเหตุและควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่า มีสิ่งใดบ้างที่เป็นสาเหตุแล้วหาทางหลีกเลี่ยง พร้อมกับหลีกเลี่ยงเรื่องความเครียด พร้อมกับระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมพิษบ่อยๆ หรือเป็นโรคภูมิแพ้ประจำ ต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์ว่าเคยเป็นลมพิษมาก่อน เนื่องจากการรับประทานยาบางชนิดและการฉีดสีจากการตรวจเอกซเรย์อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคลมพิษได้

วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคลมพิษ

อันดับแรกคือผู้ป่วยต้องไม่แกะหรือเกาผิวหนัง จากนั้นรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้วพกยาติดตัวไว้เสมอ ถ้ามีอาการคันให้ใช้คาลาไมน์โลชั่นทาผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ หรือใช้การประคบน้ำแข็ง แต่มีข้อห้ามตรงที่ห้ามใช้กรณีที่อาการลมพิษนั้นเกิดจากความเย็น

นอกจากนี้ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ และงดรับประทานอาหารที่มีสารแต่งสี กลิ่น รส รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมุนไพร หรือยาบำรุงที่ไม่จำเป็น พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงความเครียด หากใช้ยารักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้นอย่างเช่นมีไข้ มีอาการบวมตามตัวมาก หายใจติดขัด และรู้สึกหน้ามืด จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป