กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

หนองในที่คอ การลุกลามจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

รู้จักกับ "โรคหนองในที่คอ" เมื่อเชื้อแบคทีเรียจากการมีเพศสัมพันธ์ลุกลามมาถึงลำคอ
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
หนองในที่คอ การลุกลามจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคหนองในแท้ หรือโกโนเรีย (Gonorrhoea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรียโกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae)
  • โรคหนองในแท้สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก โดยเชื้อโรคสามารถลุกลามไปที่คอทำให้เกิดโรคหนองในที่คอได้ และหากไม่รีบรักษาให้หายขาดก็สามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ดวงตา
  • อาการโรคหนองในที่คอในผู้ชาย คือ เจ็บคอ ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะขัด ต่อมน้ำเหลืองบวม มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศและอยู่ในลำคอ
  • อาการโรคหนองในที่คอในผู้หญิง คือ ต่อมน้ำเหลืองบวม รู้สึกเจ็บคอ มีตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีขาวเป็นปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็น บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยและมีไข้สูงด้วย
  • หากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือสงสัยว่าเป็นโรคหนองใน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดการใช้ยาผิดโรคและทำให้เชื้อดื้อยาได้ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

โรคหนองในแท้ หรือ โกโนเรีย (Gonorrhoea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรียโกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae)

เชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรียโกโนเรีย สามารถพบได้ในน้ำอสุจิหรือสารคัดหลั่งในช่องคลอด เพราะเจริญเติบโตได้ดีในเยื่อบุและที่อับชื้น หรือในบริเวณที่อบอุ่นทั้งในอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดโรคหนองในที่คออีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของการเกิดโรคหนองใน

โรคหนองในเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคนี้อยู่แล้ว ทำให้โรคสามารถติดต่อหากันได้ผ่านทางช่องคลอด ทางปาก และทางทวารหนัก

ผู้ชายไม่จำเป็นต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิก็สามารถติดโรคนี้ได้ โดยเมื่อเชื้อแบคทีเรียได้เข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะลุกลามไปที่เยื่อบุปากมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก เยื่อบุทวารหนัก และเยื่อบุปาก หรือคอ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

นอกจากนี้ การติดเชื้อหนองในของผู้ป่วยหญิงยังสามารถลุกลามจากบริเวณช่องคลอดไปที่ทวารหนักได้อีกด้วย

รวมถึงในกลุ่มผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ก็สามารถติดเชื้อหนองในได้หากมีการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียระหว่างคลอด

อย่างไรก็ตาม โรคหนองในจะไม่สามารถติดต่อกันได้หากไม่ใช่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ภาชนะร่วมกัน การกินข้าวร่วมกัน การกอดจูบ หรือการใช้ห้องน้ำ เพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมภายนอกนั่นเอง

โรคหนองในที่คอเกิดได้อย่างไร?

ผู้คนส่วนมากมักจะเชื่อกันว่า หากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็น่าจะมีการติดต่อที่อวัยวะเพศอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง โรคหนองในสามารถติดต่อได้ทางปากด้วย โดยเรียกอีกชื่อว่า “โรคหนองในที่คอ”

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคหนองในที่คอมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก และทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากอวัยวะเพศไปสู่ปาก หรือจากปากไปสู่อวัยวะเพศ ก่อนจะแพร่ลงสู่ลำคอ

อาการทั่วไปของโรคหนองในที่คอ

อาการในผู้ป่วยชาย

ระยะการฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 2-14 วัน และจะเริ่มมีอาการภายใน 4-6 วันหลังจากติดเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะขัด ต่อมน้ำเหลืองบวม มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศและอยู่ในลำคอ

หากเป็นหนองในแท้ก็จะมีหนองเป็นสีขุ่นเหลือง หรือคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งถึงแม้ตนเองจะไม่มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา แต่กลุ่มผู้ชายที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคหนองในที่คอก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะยังมีกลุ่มผู้ป่วยชายประมาณ 10% ที่ป่วยเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการแสดงใดๆ ออกมาเลย

อาการในผู้ป่วยหญิง

ระยะแรกหลังจากติดเชื้อ ผู้ป่วยหญิงจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ออกมา จนเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้ป่วยจะต่อมน้ำเหลืองบวม รู้สึกเจ็บคอ มีตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีขาวเป็นปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อีกทั้งผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดในอุ้งเชิงกรานและมีอาการปวดท้องน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้สูงด้วย

สิ่งที่อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือ ยังมีผู้ป่วยหญิงเกือบ 50% ที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่มีอาการแสดงใดๆ ออกมาเลย และยังสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

นอกเหนือจาการติดเชื้อในลำคอแล้ว เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวยังสามารถลุกลามขึ้นไปสู่ดวงตาได้ด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะพบว่าดวงตามีหนองไหลออกมา

หากผู้ป่วยโรคหนองในทุกรายปล่อยปละละเลยไม่ยอมรักษาโรคนี้ไม่หาย เชื้อแบคทีเรียก็อาจแพร่กระจายไปตามส่วนอื่นของร่างกายได้ ซึ่งจะมีผลต่อลิ้นหัวใจ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือกระดูกเชิงกรานอักเสบได้

การตรวจหาเพื่อวินิจฉัยโรค

วิธีการตรวจโรคหนองในที่คอจะไม่ใช่เพียงการวิเคราะห์จากอาการของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยด้วย เช่น

  • การย้อมเชื้อ (Gram Stain) เป็นการตรวจเพื่อจำแนกหาเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจไม่สามารถช่วยวินิจฉัยได้ 100% เพราะในลำคอของคนเราจะมีเชื้อโรคอื่นที่มีรูปร่างเหมือนเชื้อหนองในอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ยากต่อการแยกแยะประเภทของเชื้อแบคทีเรีย
  • การเพาะเชื้อ (Bacterial Culture) เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด โดยแพทย์อาจนำเสมหะที่มีเชื้อหนองปะปนอยู่ หรือดูดหนองในลำคอออกมา แล้วนำไปเพาะเลี้ยงในน้ำเลี้ยงเชื้อพิเศษเพื่อรอผลตรวจต่อไป 

หากต้องการตรวจโรคแบบเพาะเชื้อ สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ศูนย์กามโรคของกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยกามโรคของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มาตรฐาน

การรักษาโรคหนองในที่คอ

หลังจากตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหนองในที่คอ แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรค และให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปจนกว่าโรคจะหายขาดดี

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรพาคู่นอนไปเข้ารับการตรวจด้วยเพื่อความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย

ไม่ควรไปซื้อยามารับประทานเอง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับยาที่ไม่ถูกกับเชื้อโรค และทำให้เกิดอาการดื้อยาได้

วิธีป้องกันโรคหรือกลับมาเป็นซ้ำ

ถึงแม้คุณจะรักษาโรคหนองในที่คอจนหายดีแล้ว แต่หากยังมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบเดิมๆ ความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นโรคหนองในก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกครั้ง

หากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ ก็จะช่วยลดโอกาสของการกลับมาเป็นโรคหนองในซ้ำอีกครั้งได้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง และให้สวมอย่างถูกต้องด้วย
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และควรมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของตนเองเพียงเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังขับถ่ายให้เรียบร้อย โดยผู้หญิงควรใช้กระดาษชำระเช็ดจากด้านหน้าไปทางด้านหลังเท่านั้น
  • หากพบว่าตนเองเป็นโรคหนองใน จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ทันที และควรให้คู่นอนได้รับการรักษาควบคู่กันไปด้วย
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และอย่าหยุดใช้ยาเองเด็ดขาด

โรคหนองในที่คอเกี่ยวข้องกับการจัดฟันหรือไม่?

โรคหนองในที่คอ เป็นโรคหนองในที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดฟันแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม การจัดฟันโดยไม่ได้ผ่านทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และใช้วัสดุดัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถทำให้ปากเกิดการติดเชื้อจนมีหนองไหลออกมาได้

กรณีนี้รวมไปถึงการไม่รักษาความสะอาดแผลผ่าตัดในช่องปากด้วย เช่น แผลผ่าฟันคุด แผลถอนฟัน

โรคหนองในแท้และโรคหนองในที่คอ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียขณะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องรักษาให้หายขาด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะเชื้อสามารถลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ และหากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงก็ควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปีด้วย

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


26 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Oral Gonorrhea: Symptoms, Transmission, Treatment, Prevention, More. Healthline. (https://www.healthline.com/health/sexually-transmitted-diseases/oral-gonorrhea)
6 Gonorrhea in Women Symptoms, Treatment, Test & Prevention. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/gonorrhea_in_women/article.htm)
Signs of STDs in men: Symptoms and when they appear. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323123)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป