พิชญา สิทธิโชควงกมล
เขียนโดย
พิชญา สิทธิโชควงกมล

ปรับสมดุลลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง ด้วยฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์

ทำความรู้จัก ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด และเป็นพรีไบโอติกส์ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
เผยแพร่ครั้งแรก 24 ม.ค. 2022 อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 2022 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ปรับสมดุลลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง ด้วยฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์

เบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ รู้ไหม…การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ โดย WHO แนะนำว่าผู้ใหญ่และเด็กควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน แต่สถิติล่าสุดระบุว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงกว่าที่ WHO กำหนดถึง 4 เท่า! สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมาจึงกลายเป็นอีกทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ ที่ให้รสชาติหวานเหมือนน้ำตาล แต่ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด และยังเป็นพรีไบโอติกส์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ

ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ คืออะไร?

ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo-Oligosaccharides หรือ FOS) คือสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล สกัดมาจากพืช เช่น อ้อย มีรสชาติหวานเหมือนน้ำตาล แต่ให้พลังงานต่ำกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 30-50% จัดอยู่ในกลุ่มน้ำตาลเชิงซ้อนที่ร่างกายย่อยไม่ได้ จึงไม่ดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร และไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องควบคุมการรับประทานน้ำตาล

นอกจากนี้ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ ยังจัดเป็นอาหารสำหรับจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในลำไส้หรือเรียกว่าเป็น พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ส่งผลดีต่อระบบทางเดินอาหารอีกด้วย

ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้อย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ร่างกายไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ได้ ดังนั้นหากเรารับประทานฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์แล้ว จะผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่โดยตรง และกลายเป็นอาหารหลักของจุลินทรีย์ชนิดดีชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ซึ่งมีชื่อว่า บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)

จากงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า บิฟิโดแบคทีเรียม สำคัญต่อระบบขับถ่ายอย่างมาก โดยจะช่วยรักษาสมดุลลำไส้ ให้การขับถ่ายเป็นปกติ ป้องกันอาการท้องผูก ท้องร่วง ลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสที่มากับทางเดินอาหาร

นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุอีกว่าหากร่างกายมีบิฟิโดแบคทีเรียมน้อย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และหากปริมาณจุลินทรีย์ชนิดนี้ไม่สมดุลอย่างรุนแรง อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ด้วย

ดังนั้นหากบิฟิโดแบคทีเรียมได้รับอาหารที่มากเพียงพอ ก็จะเจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง ส่งผลให้ระบบขับถ่ายมีความสมดุลและเป็นปกติตามไปด้วย

กล่าวได้ว่าการที่เรารับประทานฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ เท่ากับว่าเรากำลังเสริมความแข็งแรงให้บิฟิโดแบคทีเรียมอยู่นั่นเอง

ท้องผูก อย่ามองข้าม ระวังเสี่ยงมะเร็งลำไส้ อ่านเพิ่มเติมคลิก

คุณสมบัติสำคัญอื่นๆ ของฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์

ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ นอกจากจะเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลและเป็นพรีไบโอติกส์แล้ว ยังมีคุณสมบัติสำคัญอีกหลายประการ ดังนี้

  • แคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
  • ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน
  • ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด
  • กระตุ้นการดูดซึมแร่ธาตุได้ดีขึ้น
  • ช่วยลดกลิ่นของอุจจาระ
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหาร

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ ใช้สำหรับปรุงอาหาร หรือเติมในเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ เพื่อเพิ่มรสหวาน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน ขับถ่ายไม่เป็นเวลาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์หลายชนิดและหลากหลายยี่ห้อ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพคุณ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ (https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20181002_4.pdf) 21 JAN 2022.
Webmd, Fructo-Oligosaccharides (Fos) - Uses, Side Effects, and More, (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-450/fructo-oligosaccharides-fos) 21 JAN 2022.
Thaimeiji-wellness, Meifugo-fos, (https://www.thaimeiji-wellness.com/product/meifugo-fos) 21 JAN 2022.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ท้องผูก! ไม่ใช่เรื่องปกติ ระวังเสี่ยงมะเร็งลำไส้
ท้องผูก! ไม่ใช่เรื่องปกติ ระวังเสี่ยงมะเร็งลำไส้

แนะนำ 3 เคล็ดลับ ขับถ่ายคล่อง แค่ปรับพฤติกรรม และเสริมด้วยพรีไบโอติกส์

อ่านเพิ่ม