ท่ามกลางผลประโยชน์มากมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเวลาที่อยู่หน้าจอ ทั้งการนอนหลับที่ดีขึ้น ดัชนีมวลกายที่ลดลง และแม้แต่ความก้าวร้าวที่ลดลง หนึ่งในนั้นที่สำคัญสำหรับเด็กวัยเรียนเป็นอย่างยิ่งคือ สมรรถภาพทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ไม่น่าประหลาดใจที่ผู้วิจัยค้นพบว่าเมื่อเด็กใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้น โอกาสที่เด็กจะทำการบ้านเสร็จก็มีลดลง
ในการนำเสนองานวิจัยโดยย่อในที่ประชุมสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics-AAP) ในเดือนตุลาคม ปี 2559 ผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์นำเสนอการค้นพบในการศึกษาของพวกเขาที่มีชื่อว่า
“การเปิดรับสื่อดิจิตัลในเด็กวัยเรียนลดความถี่ของการทำการบ้าน” (“Digital Media Exposure in School‐Aged Children Decreases the Frequency of Homework.”) โดยเก็บข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพเด็กแห่งชาติ (National Survey of Children’s Health) ในช่วงปี 2554-2555
โดยผู้วิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อต่าง ๆ และพฤติกรรมในการทำการบ้านในเด็กมากกว่า 64,000 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 6-17 ปี (สื่อดิจิตัลรวมถึงทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ วิดีโอเกมส์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์หน้าจอต่าง ๆ ที่เด็กใช้เพื่อวัตถุประสงค์นอกเหนือจากงานที่ได้รับจากที่โรงเรียน) ผู้วิจัยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างการใช้งานอุปกรณ์และโอกาสที่เด็กจะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนได้เสร็จ
สิ่งที่น่าสนใจที่ค้นพบในงานวิจัย
- ก่อนหน้าแนวทางเวชปฏิบัติใหม่ในเดือนตุลาคมปี 2559 ทางสมาคมเคยแนะนำให้เด็กใช้เวลาที่หน้าจอน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน แต่เด็กน้อยกว่า 31 % ที่ทำได้ตามนี้ โดยนี่เป็นคำพูดของผู้วิจัยคือ ดร. Stephany Ruest แพทย์ในแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉินและกุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลเด็ก Hasbro และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมแข่งขันรางวัล MPH ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวน์ เขตโรดไอส์แลนด์ (แนวทางเวชปฏิบัติใหม่ของ AAP คือแนะนำให้จำกัดเวลาที่อยู่หน้าจอเป็นหนึ่งชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นโปรแกรมสำหรับเด็กที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีอายุ 2-5 ปี และเช่นเดียวกันในเด็กที่มีอายุ 6 ปีและมากกว่า)
- เปรียบเทียบระหว่าเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอน้อยกว่าสองชั่วโมงต่อวัน กับเด็กที่ใช้สื่อดิจิตัลสำหรับวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเป็นเวลาสองถึงสี่ชั่วโมงต่อวัน พบว่าเด็กกลุ่มหลังมีโอกาสที่จะทำการบ้านเสร็จอย่างสม่ำเสมอน้อยกว่ากลุ่มแรก 23%
- การใช้สื่อดิจิตัลมากขึ้นทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงมาก จากงานวิจัยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่อยู่หน้าจอน้อยกว่าสองชั่วโมงต่อวัน กับเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอสี่ถึงหกชั่วโมงต่อวัน พบว่าเด็กกลุ่มหลังมีโอกาสที่จะทำการบ้านเสร็จอย่างสม่ำเสมอน้อยกว่ากลุ่มแรก 49% และในเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่าหกชั่วโมงขึ้นไป มีโอกาสที่จะทำการบ้านเสร็จอย่างสม่ำเสมอน้อยกว่าถึง 63%
- เด็กกว่า 36% ใช้สื่อดิจิตัลเป็นเวลา 2-4 ชั่วโมงต่อวัน โดย 17% ใช้มากถึง 4-6 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กมากถึง 17% ใช้สื่อดิจิตัลมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
- ในเด็กที่ใช้สื่อน้อยกว่าสองชั่วโมงต่อวัน มีเพียง 65% ที่มีข้อตกลงในการจำกัดการใช้งาน (ตัวอย่างของข้อตกลงเช่นกันที่ผู้ปกครองบอกให้เด็กปิดโทรทัศน์หลังจากเวลาที่ตกลงกันไว้ การจำกัดการใช้โทรศัพท์ที่โต๊ะอาหาร หรือการไม่อนุญาตให้เด็กเล็กได้ดูรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาระดับที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 14 ปีขึ้นไป)
ปัจจัยที่ต้องระลึกอยู่เสมอเกี่ยวกับเด็กและการใช้สื่อ
- สร้างข้อตกลงของการจำกัดและความคาดหวังตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มสร้างข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กควรดูและควรทำสำหรับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเล็ก และหนักแน่นในเวลาที่จำกัดไว้สำหรับการอยู่หน้าจอ
- มีแผนเกี่ยวกับสื่อ คุณคงไม่ให้ลูกของคุณกินอาหารขยะปริมาณเท่าไหร่ก็ได้ตามใจชอบ เช่นเดียวกัน สื่อที่พวกเขาได้รับก็ควรได้รับการตรวจตราและจำกัดโดยผู้ปกครอง ดร. Ruest แนะนำว่าเว็บไซต์ Healthychildren.org มีสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการใช้สื่อของเด็กอยู่
- ติดตามการใช้งานสื่อที่เพิ่มขึ้นได้ในแต่ละวัน “ในบางครั้งเราก็ไม่ได้ตระหนักถึงการติดการใช้สื่อของเด็ก” ดร. Rest กล่าว “สิบนาทีสำหรับ ipad, สิบห้านาทีสำหรับคอมพิวเตอร์ รวม ๆ กันแล้วก็เพิ่มขึ้นมาเยอะ”
- อย่าลืมเกี่ยวกับเสียงรบกวน ทุกวันนี้ เด็กและผู้ใหญ่มักใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทีเดียวพร้อม ๆ กันหลายอย่าง เด็กอาจกำลังใช้สมาร์ทโฟนโพสต์อะไรบางอย่างบนอินสตาแกรม ในขณะที่กำลังทำการบ้าน และเปิดโทรทัศน์อยู่ด้วย ปิดทุกอย่างเพื่อช่วยให้ลูกของคุณมีสมาธิ และจัดให้มีช่วงเวลา หรือพื้นที่ของบ้านที่ปราศจากการใช้เทคโนโลยี (Screen-free) ตัวอย่างเช่น ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือที่โต๊ะอาหาร และไม่ให้มีอุปกรณ์หน้าจอใดๆ รวมถึงโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ในห้องนอน
- ไม่ใช่แค่เรื่องการบ้านเท่านั้น การศึกษายังพบว่านอกเหนือจากการทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่บอกถึงการมีสุขภาพดีของเด็ก ซึ่งเรียกว่า Childhood flourishing มักจะสนใจเกี่ยวกับการทำได้ดีที่โรงเรียน ทั้งการทำงานที่เริ่มแล้วให้สำเร็จ สนใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสงบเยือกเย็นอยู่ได้แม้เผชิญหน้าสิ่งที่ท้าทาย สิ่งเหล่านี้ล้วนลดลงเมื่อเด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพศใด อายุเท่าไหร่ หรือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็ตาม