อาหารสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
อาหารสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย

อาหารสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย

ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีปัญหาความเหนื่อยง่าย ทำให้ไม่ค่อยอยากออกกำลังกาย หากปล่อยไว้นานวันที่ไม่ออกกำลังกาย หรือมีโรคแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นมา จะมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้ด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
คอร์สลดน้ำหนักออกกำลังกาย วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 441 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งจำเป็น คือ

  1. ให้ประโยชน์ในด้านการเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดความดันเลือด การทำงานของหัวใจขึ้น
  2. ควรฝึกความอดทนของกล้ามเนื้อด้วย จะช่วยเพิ่มพละกำลังกล้ามเนื้อ
  3. หลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ช่วยผ่อนคลายความเครียด
  4. ช่วยลดขนาดอินซูลิน หรือยาลดระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน
  5. รวมถึงการลดการดำเนินของโรคไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
  6. ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ระบบย่อยอาหารจะดี ร่างกายจะขับฮอร์โมนสะกดความหิวได้ดี
  7. ชะลอกระดูกพรุน ซึ่งควรทำร่วมกับการรับแคลเซียมในอาหาร

เบาหวานจะออกกำลังกายอย่างไร

หลักการคือ ออกกำลังกายให้ได้ทุกส่วนศีรษะจรดเท้า เลือกแบบที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ชีวิตประจำวัน และยาที่ใช้ควบคุมน้ำตาลในเลือด ควรเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างช้าๆ และเบาๆ ทุกครั้งต้องมีการเหยียดยึดกล้ามเนื้อ (วอร์มอัพ)  เสียก่อน 10-15 นาที ตามด้วยออกกำลังกายจริงประมาณ 25-30 นาที (ช่วงนี้จะทำช้าสลับเร็วก็ได้)  จากนั้นจึงค่อยๆผ่อนแรง 10 นาที (คูลดาวน์) และหยุดลง

ใช้แรงปานกลางขึ้นไป จึงลดน้ำตาลได้

เมื่อลดหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะมีผลลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย ซึ่งต้องออกกำลังกายแบบปานกลาง (ชีพจรเป้าหมาย 50-70% ของชีพจรสูงสุด) ทำอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และ/หรือออกกำลังกายหนักแบบแอโรบิก (ชีพจรเป้าหมายมากกว่า 70%) และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยหยุดออกกำลังกายติดต่อกันไม่เกิน 2 วัน

ควรออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านด้วย (เช่น ยกน้ำหนัก หรือเล่นอุปกรณ์ที่มีน้ำหนัก เป็นต้น) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเฉพาะส่วนแข็งแรง เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น โดยเน้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ทุกมัดในร่างกาย ทำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละมัดกล้ามเนื้อควรทำ 8-10 ครั้ง ทำควบคู่กันไปกับการปรับอาหารให้ได้โปรตีนพอเพียง

การมีกล้ามเนื้อมาก พลังงานในร่างกายก็จะถูกเผาผลาญมากขึ้นเท่านั้น เช่น ผู้ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิงและต้องการพลังงานมากกว่าด้วย ถ้าผู้หญิงกล้ามเนื้อแข็งแรงแบบผู้ชาย ก็จะมีระบบเผาผลาญและการใช้พลังงานคล้ายผู้ชาย ซึ่งเกิดการใช้พลังงานนานนับชั่วโมงหลังออกกำลังกายด้วย

ขณะออกกำลังกายควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้สึกเพลิดเพลินไปด้วย จะเกิดการหลั่งสารแห่งความสุขที่ช่วยให้หลับง่ายด้วย แต่ถ้าทำด้วยความเครียด เบื่อหน่าย จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารคอร์ติโซล ที่มีผลรบกวนการเผาผลาญให้ช้าและหลับยาก

ลงระดับการออกกำลังกายจากเบาไปหนักกับเวลาที่ควรใช้ เพื่อให้ได้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นถึงจุดที่ต้องการเป็นดังตารางข้างล่างนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
คอร์สลดน้ำหนักออกกำลังกาย วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 441 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ลำดับขั้น ควรเริ่มจากเบาๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มความหนักขึ้น หรือทำเร็วขึ้น แรงขึ้นในเวลาต่อมา ถึงระดับที่ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีความแข็งแรงขึ้น ร่างกายอดทนได้ดีไม่มีเหนื่อยเกินไป

ระดับการออกกำลังกาย

จำนวนครั้งต่อสัปดาห์

ออกกำลังกายนาน(นาที)

ชีพจร(ครั้ง/นาที)

เบาๆเช่น เดินช้าๆรำมวยจีน

ปานกลาง เช่น เดินเร็ว

หนักปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ

ตีเทนนิส เต้นแอโรบิค

หนักมาก เช่น วิ่งสลับกระโดด

วิ่งเร็วยาวนาน

4-6

4-6

 

3-5

 

3-5

10-20

15-30

 

30-45

 

30-60

100-120

100-130

 

110-140

 

120-160

 

อย่างไรก็ตาม ยังสามารถออกกำลังกายแบบช้าสลับกับเร็วได้ เช่น ช้า 60 วินาที เร็ว  30 วินาที สลับกันไปต่อเนื่อง 20-30 นาที ซึ่งจะช่วยให้ไม่เหนื่อยมากแต่หัวใจเต้นเร็วขึ้น

ถ้าไม่ได้มีโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจ หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน อัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายควรอยู่ระหว่าง 60-65% ของอัตราหัวใจเต้นสูงสุด

การออกกำลังกายเริ่มทำที่ 1-2 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารซึ่งการออกกำลังกายภายในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ต่ำเกินไป

ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องทำงานเป็นกิจวัตร จะมีการใช้พลังงานและเป็นการออกกำลังกายเหมือนกัน

  •  ทำงานบ้านเบาๆ เช่น เข้าครัวทำอาหาร
    ใช้พลังงาน 1 กิโลแคลอรีต่อนาที
  • ทำงานบ้านหนักปานกลาง เช่น ล้างขัดถูบ้าน 
    ใช้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อนาที
  • ทำงานบ้านหนัก   เช่น ทำสวน ขุดหลุม พรวนดิน เคลื่อนย้ายสิ่งของ
    ใช้พลังงาน 6 กิโลแคลอรีต่อนาที

แต่ต้องมาดูเหมือนกันว่า กล้ามเนื้อมัดใดที่ยังไม่ได้ทำงาน ก็ควรเลือกออกกำลังกล้ามเนื้อมัดนั้น ด้วยการยึดเส้นยึดสายคลายเครียด ทำช้าๆ เบาๆ สลับกับเร็วขึ้น เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
คอร์สลดน้ำหนักออกกำลังกาย วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 441 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • กายบริหารแบบสากล
  • นอนเหยียดเกร็ง-ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทีละส่วน
  • โยคะในท่าง่ายๆ
  • รำมวยจีน รำไทย ตามถนัด

พยายามเหยียดยืดกล้ามเนื้อทุกทิศทาง เพื่อความสมดุล เช่น คอ ควรได้ก้ม-เงย เอียงซ้าย-ขวา และหันซ้ายขวา บ่า และเท้าเองก็เช่นกัน

ส่วนคนที่ทำงานเบาๆ ท่าเดิมๆ มาเกือบตลอดทั้งวัน เช่น ทำงานนั่งโต๊ะ ไม่ค่อยได้ใช้พลังงาน ควรเลือกออกกำลังกายที่เพิ่มการเคลื่อนไหวและใช้พลังงานปานกลาง เช่น เดินช้า เดินเร็ว และกระโดดเชือก แบดมินตัน เต้นแอโรบิก เป็นต้น

ลองคำนวณดูคร่าวๆ แล้วก็จะทราบว่าพลังงานที่ใช้ไปในแต่ละวันนั้นเท่าไร และดูด้วยว่ามีความสมดุลกับพลังงานที่ได้รับจากอาหารหรือไม่ (ร่วมกับดูระดับน้ำตาลในเลือด) ถ้าไม่มีความสมดุลควรปรับเปลี่ยนโดย

  • ปรับอาหารให้พอดีกับพลังงานที่ใช้ไป
  • ปรับชนิดอาหารให้มีพลังงานลดลงหรือเพิ่มขึ้น
  • หรือปรับเปลี่ยนโดยเพิ่ม-ลดการออกกำลังกายมากขึ้น

ออกกำลังกายและอาหารเท่าใดให้ระดับน้ำตาลลงตัว

กรณี ระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล. หรือได้รับประทานอาหารมื้อล่าสุด ไปแล้วอย่างน้อย 90 นาที ให้รับประทานอาหารว่าง เช่น ข้าวต้มถ้วยเล็ก น้ำผลไม้สด 1 แก้ว ก่อนออกกำลังกาย 30 นาที เพื่อ ป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ต้องการออกกำลังกายระดับที่เบาถึงปานกลาง นาน 30 นาที ให้รับประทานอาหารว่าง ที่มีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 15 กรัม เช่น กล้วยหอมครึ่งลูก หรือ แอปเปิลลูกเล็ก
ขณะออกกำลังกายอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง ด้วยระดับการออกกำลังกายที่หนักปานกลาง ให้รับประทานอาหารว่าง ที่มีคาร์โบไฮเดรต 20-30 กรัม ทุกๆ 45 นาที เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
กรณีออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ให้เตรียมอาหารเอาไว้ใช้ หากมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และถ้ากำลังใช้อินซูลิน หรือยาเบาหวานอยู่ ให้ปรึกษาแพทย์ด้วย
กรณีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 240 มก.% ให้ตรวจวัดระดับคีโตน ก่อนที่จะเริ่มต้นออกกำลังกาย อย่าออกกำลังกาย ในขณะที่ตรวจพบคีโตน

 งดออกกำลังกายเมื่อ

  1. เมื่อใช้ยาเบาหวานหรือฉีดอินซูลินแล้ว ยังมีโปรตีนในปัสสาวะหรือมีคีโตนในปัสสาวะ
  2. เมื่อใช้ยาหรืออินซูลินแล้ว ยังมีน้ำตาลในเลือด 250 มก.% ขึ้นไป

ข้อควรระวัง

  1. ควรป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกาย และหลังออกกำลังกาย
  2. ก่อนนอนไม่ควรออกกำลังกายมาก เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปขณะนอน
  3.  หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มจากทำด้วยแรงไม่มากและใช้เวลาไม่นาน
  4.  ถ้าออกกำลังกายหักโหม อาจทำให้อาการของโรคแทรกซ้อนที่ตา และที่ไตเลวลง
  5.  หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เช่น 200 มก./ดล. ควรเจาะหาระดับน้ำตาลในเลือดก่อนออกกำลัง ระหว่างออกกำลังทุก 30 นาที และหลังการออกกำลังกาย 15 นาทีด้วย ซึ่งควรควบคุมให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและไม่เปลี่ยนแปลงมาก
  6. ไม่ควรออกกำลังชนิดที่ทำให้เกิดบาดเจ็บที่เท้า เช่น การกระโดด การวิ่งไปในเส้นทางขรุขระ
  7. ควรสวมรองเท้าที่เหมาะสม สวมเสื้อผ้าที่ระบายความชื้นได้ดี
  8. ไม่ควรไปใต้ต้นไม้ช่วงเช้ามืด เพราะต้นไม้จะยังคงขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ไม่ไปที่มีหมอกเพราะทำให้หายใจไม่สะดวก และเป็นโรคปอดได้ง่าย
  9. ถ้าต้องการออกกำลังกายหนักๆ ควรมั่นใจในพละกำลังเสียก่อนระดับน้ำตาลควรใกล้เคียงปกติ และควรปรับเพิ่มอาหาร หรือลดยา หรือลดอินซูลินลงโดยอิงข้อมูลจากตารางข้างบน
  10. อย่าออกกำลังกายทันทีหลังตื่นนอน ควรให้ร่างกายได้ปรับตัวก่อน เช่น เข้าห้องน้ำ ขับถ่าย ดื่มน้ำ 1 แก้วให้น้ำกับร่างกายที่ได้แต่ระบายเหงื่อออกมาทั้งคืน
  11. อย่าอาบน้ำเย็นทันทีหลังออกกำลังกาย เพราะรูขุมขนกำลังเปิดเพื่อขับเหงื่อ
  12. อย่าดื่มน้ำเย็นจัดหลังออกกำลังกายอาจทำให้กระเพาะหดตัวเฉียบพลัน และปวดท้องหรือท้องเสียได้
  13. ไม่รับประทานอาหารทันที หลังออกกำลังเช่นกัน เพราะเป็นเวลาที่กระเพาะและน้ำย่อย มีประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากเลือดถูกแบ่งไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ส่งผลให้ท้องอืดได้

ใช้อินซูลิน ต้องระวังเพิ่มเติม

  1. คนที่ต้องใช้อินซูลิน ควรลดขนาดอินซูลินลงประมาณ 30-35% ก่อนออกกำลังกาย โดยควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
  2. ในรายที่ต้องฉีดอินซูลินวันละหลายครั้ง อาจต้องเพิ่มคาร์โบไฮเดรตเล็กน้อย ก่อนออกกำลังกาย หรือหลังออกกำลังทันที
  3. หลีกเลี่ยงการใช้แรงมากๆ ที่กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดอินซูลินอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังฉีด เพราะยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป จะทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่าย
  4. อย่าออกกำลังกาย ในช่วงที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุดด้วย เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงมาก

หลังออกกำลังกาย อาจมีน้ำตาลในเลือดสูงได้จาก

  • น้ำตาลในเลือดสูง 5 นาที หลังการออกกำลัง จากการหลั่งกลูโคสจากตับและกล้ามเนื้อ เมื่อออกกำลังแบบสร้างความอดทน
  • น้ำตาลในเลือดสูงนานถึง 15 นาที หลังจากออกกำลัง จากการหลั่งแคทีโคลามีนเพิ่มขึ้น ทำให้กลูโคสหลั่งจากตับเพิ่มขึ้น หากมีสภาพเช่นนี้ ควรลดขนาดการออกกำลังกาย

ตรวจดูเท้าหลังออกกำลังกาย

หลังจากออกกำลังกาย ควรถอดรองเท้าและถุงเท้าออก เพื่อตรวจสอบเท้าอย่างละเอียด ดูว่ามีตุ่มพอง หรือบริเวณที่เสียดสีหรือไม่ ให้ดูแลและรักษาการระคายเคืองทันที หากอาการไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่อนามัยใกล้บ้าน

ผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สั่งให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดควรปฏิบัติตาม เพื่อดูว่าการออกกำลังกายมีผลลดน้ำตาลไปมากเพียงไร และจะทำให้ทราบว่า ควรจะเพิ่ม หรือลดอาหารในมื้อต่อไป หรือในมื้อว่าง สำหรับการออกกำลังกายในครั้งต่อไปหรือไม่ หลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมงต่อมา ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง และวัดอีกครั้งตอนก่อนเข้านอนด้วย


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Exercising With Diabetes: Is It Better to Eat Before or After Your Workout?. Everyday Health. (https://www.everydayhealth.com/type-2-diabetes/diet/exercising-with-diabetes-it-better-eat-before-after-your-workout/)
New trial muddies the water about diet, exercise, and diabetes. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/blog/new-trial-muddies-the-water-about-diet-exercise-and-diabetes-201306256421)
Type 2 Diabetes: What Should I Eat When I Work Out?. WebMD. (https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-fuel-your-workout)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)