ภาวะพัฒนาการช้าในเด็กเกิดได้จากหลายปัจจัย หาตรวจพบสาเหตุได้เร็วจะช่วยให้เด็กกลับมามีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการที่เร็วหรือช้าแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งไม่ถือเป็นสัญญาณของความผิดปกติ แต่หากเด็กมีพัฒนาการช้าอย่างต่อเนื่อง หรือพัฒนาการสู่ขั้นต่างๆ ช้ากว่าปกติ อาจนำไปสู่ปัญหาในวัยผู้ใหญ่ได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การมีพัฒนาการในด้านภาษา การคิด และการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อช้ากว่าปกติจะเรียกว่า ภาวะพัฒนาการช้าในเด็ก หรือ Developmental delay
ภาวะพัฒนาการช้าในเด็กอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติในการตั้งครรภ์ และการคลอดก่อนกำหนด หรือบางครั้งอาจไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด หากสงสัยว่าลูกของคุณมีพัฒนาการช้า ควรรีบพาไปพบกุมารแพทย์ เพราะบางครั้งความผิดปกตินั้นๆ ต้องให้แพทย์วินิจฉัย การตรวจพบสาเหตุได้เร็วจะช่วยให้เด็กสามารถเจริญเติบโตและกลับมามีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ช้ากว่าปกติ
ทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ การเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ เช่น การหยิบจับของเล่น การใช้สีเทียน ส่วนทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือการเคลื่อนไหวในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น การกระโดด การปีนบันได หรือการขว้างลูกบอล เป็นต้น
เด็กๆ อาจมีพัฒนาการเร็วช้าต่างกันไป แต่เด็กส่วนใหญ่จะสามารถยกศีรษะได้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน นั่งได้เมื่ออายุ 6 เดือน และเดินได้คล่องก่อนอายุ 2 ปี เมื่ออายุ 5 ปี เด็กส่วนมากจะขว้างบอลโดยการยกแขนขึ้นได้ และสามารถปั่นจักรยานได้
แต่หากเด็กมีอาการบางอย่างดังต่อไปนี้ อาจบ่งชี้ว่ามีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ช้ากว่าปกติ
- ลำตัวและแขนขาอ่อน หรือตกห้อย
- แขนขาแข็งทื่อ
- แขนและขาเคลื่อนไหวได้จำกัด
- ไม่สามารถนั่งเองได้ จนถึงอายุ 9 เดือน
- มีปฏิกิริยาตอบสนองนอกอำนาจจิตใจอยู่เหนือการเคลื่อนไหวภายใต้อำนาจจิตใจ
- ไม่สามารถลงน้ำหนักบนขา และไม่สามารถยืนเองได้จนอายุ 1 ปี
การมีพัฒนาการบางอย่างช้ากว่าช่วงปกติเล็กน้อยยังไม่ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่หากเด็กไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ก็ควรปรึกษาแพทย์
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
พัฒนาการด้านการพูดและภาษาช้ากว่าปกติ
วัยที่เด็กๆ มีการเรียนรู้ด้านการพูดและภาษามากที่สุด คือช่วงอายุ 3 ปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองเจริญเติบโตและมีพัฒนาการ กระบวนการเรียนรู้ด้านภาษาจะเริ่มตั้งแต่ทารกสื่อสารความรู้สึกหิวโดยการร้องไห้ เมื่ออายุ 6 เดือน ทารกส่วนมากจะสามารถแยกแยะเสียงและภาษาง่ายๆ ได้ เมื่ออายุ 12-15 เดือน ทารกควรเริ่มพูดคำง่ายๆ ได้ แม้จะยังพูดไม่ชัดก็ตาม ทารกส่วนมากจะเริ่มเข้าใจคำศัพท์ต่างๆ เมื่ออายุ 18 เดือน และเมื่ออายุ 3 ปี เด็กส่วนใหญ่จะสามารถพูดประโยคสั้นๆ ได้
การมีพัฒนาการด้านการพูดและพัฒนาการด้านภาษาล่าช้านั้นแตกต่างกัน การพูดต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อช่องเสียง ลิ้น ริมฝีปาก และขากรรไกรในการออกเสียง การมีพัฒนาการด้านการพูดช้า จึงหมายถึงการที่เด็กมีปัญหาในการออกเสียงที่ถูกต้อง หรือออกเสียงติดขัด โดยโรคที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการรวมคำขณะพูด จะเรียกว่า ภาวะเสียการรู้ปฏิบัติด้านการพูด (Apraxia of speech)
ส่วนลักษณะพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับภาษา คือเด็กมีปัญหาในการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด และไม่สามารถสื่อสารความคิดของตนได้ โดยภาษาที่ว่านี้หมายรวมถึงการพูด ท่าทาง การส่งสัญญาณ และการเขียน
การมีปัญหาด้านการได้ยินอาจส่งผลให้พัฒนาการด้านการพูดและภาษาล่าช้าได้เช่นกัน แพทย์จึงมักวินิจฉัยโดยการทดสอบการได้ยินร่วมด้วย นักอรรถบำบัดหรือนักแก้ไขการพูดจะให้การรักษาแก่เด็กที่มีพัฒนาการด้านการพูดและภาษาช้ากว่าปกติ หากตรวจพบความผิดปกติได้เร็วจะช่วยการรักษาได้มาก
กลุ่มอาการออทิสติก (Autism spectrum disorder)
กลุ่มอาการออทิสติก (ASD) เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการในระบบประสาท ส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในกลุ่มอาการออทิสติกโดยทั่วไปพบว่าเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าและมีความบกพร่องทางสติปัญญา บางครั้งอาจพบอาการได้ตั้งแต่ช่วงปีแรก แต่พ่อแม่มักไม่สังเกตจนกระทั่งเด็กอายุ 2-3 ปี
ลักษณะและอาการของออทิสติกอาจแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนมากมักพบพัฒนาการด้านการพูดและภาษาช้ากว่าปกติ รวมถึงมีปัญหาในการสื่อสารพูดคุยกับผู้อื่น เด็กแต่ละคนจะมีรูปแบบพฤติกรรมเฉพาะตัว และมีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยพบอาการดังต่อไปนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ
- ต่อต้านต่อการกอด หรือการเล่นกับคนอื่น
- ไม่แสดงออกทางสีหน้า
- ไม่พูดหรือมีปัญหาในการพูด การสนทนา หรือการจดจำคำและประโยค
- มีการเคลื่อนไหวรูปแบบเดิมซ้ำๆ
- มีพฤติกรรมจำเพาะบางอย่างซึ่งทำเป็นประจำ
- มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่น
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษากลุ่มอาการออทิสติก แต่การตรวจวินิจฉัยได้เร็วและการให้ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะพัฒนาการช้าในเด็ก
จากการสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 15 ของเด็กที่อายุ 3-17 ปี จะมีปัญหาในพัฒนาการอย่างน้อยหนึ่งด้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอด แต่ก็มีความผิดปกติบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้ เช่น การติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือปัจจัยอื่น
สาเหตุที่แน่ชัดของภาวะพัฒนาการช้าในเด็กนั้นระบุได้ค่อนข้างยาก และมีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือพันธุกรรมแต่กำเนิด เช่น เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น การติดเชื้อหรือความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ และความผิดปกติหลังคลอด รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด อาจทำให้ทารกมีพัฒนาการช้าได้เช่นกัน
ภาวะพัฒนาการช้าในเด็กอาจเป็นอาการหนึ่งของความผิดปกติทางการแพทย์อื่นๆ ตัวอย่างเช่น
- โรคออทิสติก
- ภาวะสมองพิการ
- กลุ่มอาการจากทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์
- โรค Landau-Kleffner หรือเรียกว่า โรคลมชักพิการทางสมอง ไม่สามารถเข้าใจหรือแสดงออกทางภาษา และมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง (electro-encephalogram (EEG))
- ความผิดปกติที่กล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อม
- โรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางโครโมโซม Fragile X (Fragile X syndrome)
หากสงสัยว่าลูกมีภาวะพัฒนาการช้าควรทำอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนสามารถมีพัฒนาการแตกต่างกันได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณสงสัยว่าลูกอาจมีพัฒนาการช้าผิดปกติให้พาไปพบแพทย์ และหากเด็กในวัยเข้าโรงเรียนได้รับการวินิจฉัยว่ามีพัฒนาการช้าอาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละคน
พ่อแม่ต้องสอบถามกับแพทย์ สถานพยาบาล และโรงเรียนในพื้นที่ ว่าแต่ละแห่งมีสวัสดิการ บริการ และการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือไม่ การตรวจพบความผิดปกติและให้เด็กเข้ารับบริการเหล่านี้ได้เร็วจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
การรักษาภาวะพัฒนาการช้าในเด็กจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการด้านใด มีการรักษาหลายแบบได้แก่ การกายภาพบำบัดเพื่อช่วยกระตุ้นทักษะการเคลื่อนไหว หรือการบำบัดด้านพฤติกรรมและการศึกษาเพื่อกระตุ้นพัฒนาการในเด็กที่เป็นออทิสติก เป็นต้น
ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การรักษาด้วยยาร่วมด้วย การวินิจฉัยและการประเมินของกุมารแพทย์จึงมีความสำคัญมากต่อการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
ภาพรวมของภาวะพัฒนาการช้าในเด็ก
ปัจจัยด้านพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมนั้นมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็ก และอาจทำให้เกิดภาวะพัฒนาการในด้านต่างๆ ล่าช้าได้ แม้แต่ในเด็กซึ่งเกิดจากครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง และได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงหลังคลอด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของภาวะนี้ยากที่จะระบุได้แน่ชัด แต่การรักษาและประคับประคองภาวะพัฒนาการช้าสามารถทำได้หลายวิธี หากพบว่าเด็กมีอาการของภาวะพัฒนาการช้า พ่อแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ ยิ่งวินิจฉัยได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้มากเท่านั้น
ที่มาของข้อมูล
Ann Pietrangelo, What Causes Developmental Delay? (https://www.healthline.com/symptom/developmental-delay), April 2016
รศ.นพ. จันทร์ชัย เจรียงประเสริฐ, การฝึกพูดสำหรับ...ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัญหาด้านการพูด ความรู้สำหรับประชาชน (http://iamrinrinn.yolasite.com/resources/%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94.pdf)