ย่างเข้าเดือนที่ 6 สำหรับการตั้งครรภ์แล้วนะคะ ในเดือนนี้ขนาดของทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 13 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 800 กรัม ผิวหนังยังบอบบางและมันวาว ยังไม่มีไขมันใต้ชั้นผิวหนัง มีการพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เริ่มมองเห็นนิ้วมือและนิ้วเท้าของทารกได้อย่างชัดเจน ทารกในครรภ์เริ่มปิดเปิดตาได้ เป็นอีกเดือนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์และสุขภาพที่แข็งแรงของทารกในครรภ์ค่ะ
ในเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คุณแม่สามารถรู้สึกได้ดังนี้
- เด็กดิ้นแรงขึ้นกว่าเดือนก่อนอย่างเห็นได้ชัด
- มีตกขาวมาก
- อาจมีอาการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย และสะโพกจากการรับน้ำหนักของทารกในครรภ์
- ท้องผูกมากขึ้น ควรระวังอย่าปล่อยให้ท้องผูกนานหลายวัน
- อาจเกิดการจุกแน่น เนื่องจากอาหารไม่ย่อย ท้องอืด
- ปวดศีรษะเป้นครั้งคราว ตาพร่า เสียการทรงตัว และ ระวังการเป็นลมบ่อย
- คัดจมูก อาจมีเลือดกำเดาไหล และหูอื้อบ้าง
- เลือดออกตามไรฟันเวลาแปรงฟันง่ายขึ้น
- หิวบ่อย
- เกิดการบวมที่หน้า เท้า ตาตุ่ม และมือ
- เป็นตะคริว
- คันผิวหนังบริเวณหน้าท้อง เพราะผิวหนังบริเวณหน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น
- ปวดหลังมากขึ้น
- เต้านมขยายใหญ่ขึ้นอีก
- อาจเกิดการขี้ลืม ระดับของอารมณ์ยังไม่คงที่ แต่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนๆ มาก
- เริ่มวิตกกังวล อาจจะกลัวเรื่องการคลอด ทำให้เครียด
- นอนไม่หลับเนื่องจากขนาดหน้าท้องใหญ่ขึ้นทำให้นอนไม่สบาย
- ผิวหนังแห้งและมีสีเข้มขึ้นบริเวณใบหน้า และเกิดเส้นลายบริเวณผิวหนังหน้าท้องหรือเต้านม
สิ่งที่แพทย์ผู้ดูแลครรภ์จะให้คุณทำในช่วงเดือนนี้ได้แก่
- ชั่งน้ำหนักตัวและวัดความดันเลือด
- ตรวจน้ำตาลและสารไข่ขาวในปัสสาวะ
- ตรวจครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ ฟังเสียงเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์
- ตรวจขนาดและรูปร่างของมดลูก โดยการตรวจหน้าท้อง
- ความสูงของระดับยอดของมดลูก
- ตรวจร่างกายทั่วไป ภาวะซีด อาการบวมที่มือและเท้า และหลอดเลือดที่ขา
- แนะนำสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์
- อาการผิดปกติต่างๆ (ถ้ามี)
สิ่งที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องดูแลเป็นพิเศษในช่วงเดือนนี้คือ
- อาจมีอาการปวดและชาตามปลายมือ เนื่องจากเส้นประสาทมือถูกพังผืดบีบรัด แก้ไขได้โดยหลีกเหลี่ยงการนอนทับแขน หรืองอแขน ถ้ามีอาการปวดมากควรปรึกษาแพทย์ และควรกินวิตามินบี 6 ให้มากขึ้น ห้ามกินยาปวดข้อโดยเด็ดขาด ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนจะทานยาใดๆ ทั้งสิ้น
- อาการท้องผูกมากจนอาจถ่ายมีเลือดปน ปกติมักจะพบได้ร้อยละ 20-50 ของหญิงที่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดีควรได้รับการตรวจจากแพทย์ และดูแลด้วยตนเอง โดยหลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก ด้วยการทานน้ำและอาหารที่เป็นกากใยให้มาก นอนตะแคงและไม่ควรอยู่ในท่าเดิมนานๆ เวลาถ่ายไม่ควรนั่งเบ่งอุจจาระและควรมีเก้าอี้เตี้ยๆ ให้พักเท้าเพื่อลดแรงดันในช่องท้อง ประคบกล้ามเนื้อและลดอาการบวมบริเวณฝีเย็บด้วยการนั่งแช่ในน้ำอุ่นๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และควรทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งหลังการถ่ายอุจจาระ หากจำเป็นต้องใช้ยาระบายควรทำตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- ระวังภาวะครรภ์เป็นพิษ พบได้เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป มักพบในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วมีความดันเลือดสูงมาก่อน หากฝากครรภ์ไว้และมาตรวจสม่ำเสมอก็จะตรวจพบแต่เนิ่นๆ และป้องกันได้ทัน อย่างไรก็ตามหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์โดยด่วน เช่น มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ได้กินอาหารเพิ่มขึ้น มีอาการบวมหน้าและมืออย่างมาก ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ ตาพร่ามัว เป็นต้น โดยคุณแม่ควรทราบทั้งอาการที่ผิดปกติและเบอร์ติดต่อฉุกเฉินเมื่อมีอาการ
- ในระยะนี้หน้าท้องของคุณแม่จะขยายขนาดขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นคุณแม่จะต้องปรับตัวการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อาจใช้เข็มขัดพยุงครรภ์เพื่อพยุงหน้าท้อง ลดการสั่นสะเทือนครรภ์ และบรรเทาอาหารปวดหลังได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท