แมงกะพรุน มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่?

แมงกะพรุนแปรรูปจัดเป็นอาหารสุขภาพที่มีโปรตีนสูง มีแคลอรี ไขมัน และคอเลสเตอรอลต่ำ
เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
แมงกะพรุน มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • แมงกะพรุน (Jellyfish) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดใหญ่ในกลุ่มไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) หรือกลุ่มสัตว์ที่มีรูปร่างทรงกระบอก มีโพรงในลำตัว และมีเข็มพิษ สามารถนำมาแปรรูปเพื่อรับประทานได้
  • ในไทยพบแมงกะพรุนที่รับประทานได้ 3 สายพันธุ์ คือ แมงกะพรุนลอดช่อง แมงกะพรุนหนัง และแมงกะพรุนหอม
  • ชาวประมงนิยมนำแมงกะพรุนมาแปรรูปด้วยการดองเค็มเพื่อกำจัดเมือกที่เป็นพิษออก แล้วนำไปตากแห้ง เรียกเมนูนี้ว่า แมงกะพรุนแห้งหรือแมงกะพรุนดองเค็ม
  • แมงกะพรุนแห้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 36 กิโลแคลอรี โปรตีน 5.5 กรัม ไขมัน 1.4 กรัม นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ
  • แมงกะพรุน เมื่อนำมาประกอบอาหารก็จัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์ รสชาติอร่อย แต่หากเป็นแมงกะพรุนที่อาศัยอยู่ในทะเลก็ถือเป็นสัตว์พิษที่อันตราย และไม่ควรสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

หลายคนรู้จักแมงกะพรุนในฐานะสัตว์ทะเลมีพิษ แต่ความจริงแล้วแมงกะพรุนมีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์มนุษย์สามารถรับประทานได้โดยไม่มีอันตราย

แมงกะพรุนรูปแบบที่พบเจอได้บ่อยคือ แมงกะพรุนแห้ง ถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่คนนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ หรือยำแมงกะพรุน แมงกะพรุนมีโปรตีนสูง แต่มีแคลอรี ไขมัน และคอเลสเตอรอลต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังดูแลสุขภาพมาก

ทำความรู้จักกับแมงกะพรุนในประเทศไทย

แมงกะพรุน (Jellyfish) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดใหญ่ในกลุ่มไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) หรือกลุ่มสัตว์ที่มีรูปร่างทรงกระบอก มีโพรงในลำตัว และมีเข็มพิษ สัตว์กลุ่มนี้นอกจากแมงกะพรุนแล้วก็ยังมีดอกไม้ทะเล และไฮดรา (Hydra) ด้วย

แมงกะพรุน ประกอบด้วยส่วนลำตัวที่มีรูปร่างโปร่งใสคล้ายร่ม และส่วนของหนวด ปาก ขา อยู่รวมกันด้านล่างลำตัว

แมงกะพรุนทุกสายพันธุ์มีพิษหมด แต่จะมีพิษมากหรือน้อยให้สังเกตที่สีของแมงกะพรุน

หากแมงกะพรุนมีสีแดงหรือชมพูเข้มแสดงว่ามีพิษมาก แต่หากมีสีอ่อนค่อนไปทางโปร่งใสแสดงว่ามีพิษน้อย สามารถนำมาแปรรูปเพื่อรับประทานได้ แต่ไม่สามารถรับประทานสดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนชนิดใดก็ตาม

แมงกะพรุนที่สามารถรับประทานได้มี 17 สายพันธ์ ซึ่งในไทยพบแมงกะพรุนที่รับประทานได้ 3 สายพันธุ์ คือ

  • แมงกะพรุนลอดช่อง (Lobonema smithii)
  • แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema hispidum)
  • แมงกะพรุนหอม (Mastigias sp.)

สายพันธุ์แมงกะพรุนที่พบมากในทะเลอ่าวไทยและอันดามันคือ แมงกะพรุนลอดช่องและแมงกะพรุนหนัง คนนิยมนำมาแปรรูปเพื่อรับประทาน จัดจำหน่ายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

ขั้นตอนการแปรรูปแมงกะพรุนเพื่อนำมารับประทาน?

ชาวประมงนิยมนำแมงกะพรุนมาแปรรูปด้วยการดองเค็มเพื่อกำจัดเมือกออก แล้วนำไปตากแห้ง สามารถเรียกเมนูอาหารนี้ว่า แมงกะพรุนแห้งหรือแมงกะพรุนดองเค็มก็ได้ ขั้นตอนการทำมีดังนี้

  1. นำแมงกะพรุนที่จับมาจากทะเลไปแช่สารส้มและเบกกิ้งโซดา 1 คืน เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเมือกออก ซึ่งเมือกของแมงกะพรุนนั้นมีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้
  2. หลังจากแช่ทิ้งไว้ 1 คืน แมงกะพรุนจะมีสีขาวใสมากขึ้น ให้นำมาตัดหัวและหางออกจากกัน (ส่วนหัวนิยมส่งออกต่างประเทศ ส่วนหางนิยมบริโภคภายในประเทศ) แล้วนำไปแช่สารส้ม เบกกิ้งโซดา และเกลือสมุทรอีกครั้ง เกลือสมุทรจะทำให้เนื้อแมงกะพรุนยุบลง แข็งตัว และแห้งขึ้น
  3. หลังจากแช่ทิ้งไว้ 1 คืน ให้นำแมงกะพรุนไปตากแห้งอีกครั้ง จะได้แมงกะพรุนแห้ง มีสีน้ำตาลอ่อนๆ เนื้อกรอบ และมีขนาดเล็กลงเหลือประมาณ 1 ใน 10 จากขนาดเดิม

หากคุณซื้อแมงกะพรุนแห้งมาประกอบอาหาร จะต้องนำมาล้างน้ำ 5-6 รอบก่อน และแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที เพื่อล้างความเค็มออกก่อน ไม่อย่างนั้นอาหารที่ทำจากแมงกะพรุนจะมีรสชาติเค็มมาก ไม่สามารถรับประทานได้

คุณค่าทางโภชนาการของแมงกะพรุนแห้ง หรือแมงกะพรุนดองเค็ม

แมงกะพรุนมีองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ น้ำและโปรตีน เมื่อนำมาตากแห้งแล้วก็ยังคงมีโปรตีนสูงอยู่ ทำให้แมงกะพรุนเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนย่อยง่ายที่น่าสนใจไม่แพ้นม ไข่ ไก่ หรือปลาเลย

แมงกะพรุนแห้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 36 กิโลแคลอรี ประกอบไปด้วยสารอาหารต่อไปนี้

  • โปรตีน 5.5 กรัม
  • ไขมัน 1.4 กรัม

นอกจากนี้แมงกะพรุนยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนิเซียม โพแทสเซียม วิตามินเอ ไรโบเฟลวิน และไนอาซิน

แนะนำเมนูจากแมงกะพรุนแห้ง

ส่วนใหญ่เรามักพบแมงกะพรุนแห้งในก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ หรือชาบูหม้อไฟ นอกจากนั้นแมงกะพรุนแห้งยังสามารถนำมาทำอาหารอื่นๆ ได้อีกด้วย

หนึ่งในเมนูยอดนิยมจากแมงกะพรุนที่แนะนำคือ ยำแมงกะพรุน มีวัตถุดิบและวิธีการทำดังนี้

วัตถุดิบในการทำยำแมงกะพรุน ได้แก่

  • แมงกะพรุน 1 ถ้วย (ไม่ต้องลวก เพราะจะทำให้แมงกะพรุนเหนียว ไม่กรอบ แค่ล้างเค็มออกอย่างเดียว)
  • หมูสับรวนสุก 1 ถ้วย
  • แฮม ไส้กรอก 1/2 ถ้วย
  • น้ำซุป 1/2 ถ้วย
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาวสด 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
  • มะเขือเทศ 1/2 ถ้วย
  • พริกสดตำหยาบๆ 2 ช้อนโต๊ะ
  • หอมหัวใหญ่ซอย 1/2 ถ้วย
  • ต้นหอมและใบขึ้นฉ่าย 1/2 ถ้วย

ขั้นตอนในการทำยำแมงกะพรุน มีดังนี้

  1. นำเครื่องปรุงรสและน้ำซุปผสมเข้าด้วยกัน
  2. ใส่หมูรวน แฮม ไส้กรอก มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ แมงกะพรุน ต้นหอม ใบขึ้นฉ่าย คลุกเคล้าให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จ

แมงกะพรุนสามารถนำมาสกัดคอลลาเจนได้

แมงกะพรุน มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ 70% ซึ่งส่วนมากเป็นคอลลาเจน สามารถนำมาสกัดคอลลาเจนที่มีคุณภาพไม่แพ้คอลลาเจนที่สกัดจากปลาน้ำทะเลลึก อีกทั้งยังมีราคาไม่แพง

แมงกะพรุนที่นำมาสกัดคอลลาเจนก็คือ แมงกะพรุนลอดช่องดองเกลือที่นิยมรับประทานกัน

คอลลาเจนที่สกัดได้จากแมงกะพรุน คือ คอลลาเจนชนิดที่ 1 (Collagen type I) ซึ่งเป็นคอลลาเจนชนิดที่พบในผิวหนัง เหมาะสำหรับนำมาประยุกต์ใช้ในด้านของการแพทย์ ส่วนผสมของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและอาหารเสริม

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกพิษจากแมงกะพรุน

แม้ว่าแมงกะพรุนจะสามารถรับประทานได้ แต่ก็เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษ และการถูกพิษจากแมงกะพรุนเมื่อไปเล่นทะเลก็เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุน มีดังนี้

  1. ให้ผู้สัมผัสแมงกะพรุนอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของพิษแมงกะพรุน ในระหว่างนั้นให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายหาดหรือคนในพื้นที่ โดยปกติแล้วบริเวณชายหาดจะมีหน่วยพยาบาลประจำอยู่
  2. ห้ามขัดถูหรือล้างบริเวณที่ถูกพิษแมงกะพรุนด้วยน้ำจืด เพราะจะทำให้พิษรุนแรงขึ้น ให้ล้างด้วยน้ำส้มสายชู อย่างน้อย 30 วินาที หากไม่มี ให้ใช้น้ำทะเลล้าง จะช่วยบรรเทาความรุนแรงลงได้
  3. หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ ให้ช่วยหายใจก่อน และล้างบริเวณถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชู หลังจากนั้นให้รีบพาไปยังโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอาการแพ้รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต
  4. หากมียาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ให้ฉีดให้ผู้ป่วยก่อนที่บริเวณหน้าท้อง (ไม่ฉีดรอบสะดือ) ต้นขาด้านหน้าหรือด้านข้าง จะช่วยลดความรุนแรงของการแพ้ได้ โดยหลังฉีดยาเรียบร้อยให้รับพาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทันที

แมงกะพรุน เมื่อนำมาประกอบอาหารก็จัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์ รสชาติอร่อย แต่หากเป็นแมงกะพรุนที่อาศัยอยู่ในทะเลก็ถือเป็นสัตว์พิษที่อันตราย และไม่ควรสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง

หากคุณกำลังจะไปเที่ยวทะเลแล้วพบว่า บริเวณนั้นมีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวก็ไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล ซึ่งโดยปกติแล้วแมงกะพรุนจะมีมากในช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม และควรเตรียมน้ำส้มสายชูติดตัวไปด้วยเสมอ

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อาจารย์ดลฤดี พิชัยรัตน์, แมงกะพรุน การใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย (http://fishtech.rmutsv.ac.th/fishtech/sites/default/files/files/2557/Management-Planning/Vol3_NO2.pdf).
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คอลลาเจนแมงกะพรุน: เพิ่มมูลค่าของดีจากแมงกะพรุน (https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=15743), 26 มกราคม 2015.
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, แมงกะพรุน (http://fishtech.rmutsv.ac.th/fishtech/sites/default/files/files/2557/Management-Planning/Vol3_NO2.pdf).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)